x close

จับลูกเขย่า ระวัง! Shaken Baby Syndrome



จับลูกเขย่า ระวัง! SHAKEN BABY SYNDROME
(รักลูก)         

           เขย่าลูกเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จะด้วยความโมโห หรือเล่นรุนแรงอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ Shaken Baby Syndrome ส่งผลต่อสมอง และอันตรายถึงชีวิต!

           "เธอ...ช่วยทำยังไงก็ได้ให้ลูกเงียบเสียงทีเถอะ" คุณพ่อบ้านผู้กำลังคร่ำเคร่งกับกองงานตรงหน้าบ่นอย่างหงุดหงิด หลังจากทนฟังเสียงลูกน้อยวัยแบเบาะร้องไห้เสียงลั่นแบบไม่รู้หยุด

           "เงียบ...เงียบได้แล้ว ร้องอยู่ได้ บอกให้...เงียบๆๆๆ" คุณแม่ตะเบ็งเสียงอย่างสุดกลั้น พร้อมสองมือยกลูกสาวตัวน้อยลอยเหนือเบาะรองนอน และแล้ว ก็เขย่าลูกอย่างสุดแรง!!! สิ่งที่ตามมาคือลูกสาวเงียบเสียงลงโดยพลัน! คุณแม่จึงหันกลับไปทำงานบ้านต่อ

           3 ชั่วโมงก็แล้ว 4 ชั่วโมงก็แล้ว ลูกน้อยยังคงนอนนิ่ง ไม่ร้อง ไม่หิว "หรือว่าเราจะเขย่าตัวลูกแรงเกินไป คุณแม่เริ่มวิตก "แต่ไม่มั้ง ลูกคงร้องจนเพลียเลยหลับยาว" เธอปลอบใจตัวเองเพื่อลดความรู้สึกผิด ส่วนคนเป็นพ่อก็ยังวุ่นอยู่กับงานที่กองสุมดั่งไม่รับรู้ใด ๆ ในบ้าน

           จนกระทั่งต้องอุ้มลูกไปโรงพยาบาล หลังจากที่คุณแม่หน้าซีดเผือดมาบอกว่าลูกรักนอนแน่นิ่งไปกว่า 6 ชั่วโมงแล้ว !
ทางโรงพยาบาลพบว่าเด็กมีอาการซึม ไม่สนองตอบต่อเสียง สนองตอบเล็กน้อยต่อความเจ็บ หายใจแค่ 14 ครั้งต่อนาที แถมชีพจรเต้นช้าเพียง 60 ครั้งต่อนาที

           คุณหมอช่วยให้ออกซิเจนผ่านทางหน้ากากและถุงลม แต่เด็กอาการไม่ดีขึ้น จึงใส่ท่อเพื่อช่วยในการหายใจ คุณหมอตรวจตาพบว่าที่จอรับภาพนั้น มีเลือดออก เมื่อตรวจสมองด้วยเครื่อง MRI ก็พบว่ามีเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง รวมทั้งระหว่างรอยแบ่งแยกของสมองด้วย

           สิ่งที่น่าตกใจและน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ อีกเพียง 3 วันถัดมา...ลูกน้อยเสียชีวิต สาเหตุเนื่องจากเด็กถูกเขย่าตัวอย่างรุนแรงจนเลือดออกในสมองการจับตัวเด็กเขย่าแรง ๆ ด้วยอารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบ หรือด้วยการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องปวดร้าวใจไปชั่วชีวิตมานักต่อนักแล้ว

Shaken Baby Syndrome

           ในทางการแพทย์เรียกการตายของเด็กจากกรณีข้างตันว่า Shaken Baby Syndrome หลายราย นอกจากโดนเขย่าอย่างรุนแรงแล้ว ยังโดนจับกระแทกกับที่นอนกับหมอนด้วย ซึ่งมีผลให้สมองได้รับแรงกระแทกเพิ่มขึ้นอีกถึง 50 เท่า โอกาสจะกลายเป็นเด็กพิการหรือเสียชีวิตก็ยิ่งมีมาก (บางรายแย่ยิ่งกว่านี้ นั่นคือโดนจับกระแทกกับของแข็ง เช่น ขอบเตียง เก้าอี้ ทำให้เด็กแบเบาะกระดูกแขน ขา ซี่โครง หรือกะโหลก ศีรษะแตก

           เด็กที่โดนเขย่ารุนแรงหลาย ๆ ราย มักไม่เห็นร่องรอยการบาดเจ็บจากภายนอก ไม่ได้รีบส่งมารักษา ทั้งที่มีอาการของ Shaken Baby Syndrome จึงมีโอกาสเสียชีวิตสูง (เด็กที่ตกอยู่ในภาวะ Shaken Baby Syndrome จำนวน 1 ใน 3 คน มักจะเสียชีวิต) ที่เหลือรอดก็มีโอกาสตาบอด เป็นลมชัก หรือถ้ารอดก็มักมีปัญหาด้านการเรียนรู้ หรือสติปัญญาต่อไป

           อย่าลืมเชียวนะครับ ลูกวัยแบเบาะกล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรง ศีรษะก็ยังพยุงเองไม่ได้ ที่สำคัญคือสมองของสิ่งมีชีวิตนั้นเปรียบเสมือนศูนย์บัญชาการทั้งร่างกายและจิตใจ สมองคือสิ่งมหัศจรรย์มีการพัฒนาเรื่อยมาตั้งแต่เด็กยังอยู่ในท้องแม่ และพัฒนาอย่างรวดเร็วหลังคลอดแล้ว แต่สมองของเด็กน้อยนั้นก็มีโอกาสได้รับการกระทบกระเทือนได้โดยง่าย เพราะศีรษะของเขามีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับสัดส่วนของลำตัว การพลัดตกหกล้ม ศีรษะจึงมักจะลงก่อน การกระเทือนถึงสมองจึงเป็นเรื่องน่าห่วงอย่างยิ่ง

           นอกจากการพลัดตก ก็มีกรณีที่หลาย ๆ ท่านอาจนึกไม่ถึง ก็คือ การที่เด็กแบเบาะโดนเขย่าอย่างรุนแรงจนตาบอด พิการ หรือเสียชีวิต หลายสิบปีก่อน

การปฐมพยาบาล

           เราไม่ควรเขย่าลูกนะคะ แต่ถ้าพบเห็นเด็กถูกเขย่าหรือพ่อแม่เองที่เผลอทำเสียเอง สิ่งที่ควรทำก็คือตั้งสติให้เยือกเย็นลง และรีบแก้ไขดังนี้

            1.พาเด็กไปรับการตรวจกับแพทย์ทันที

            2.อาการเริ่มแรกของผลกระทบจากการเขย่าเด็กรุนแรง ก็คือ อาเจียน หรือหายใจลำบาก ซึ่งคล้ายอาการของโรคที่ไม่รุนแรง เช่น ภาวะร้องไห้ 3 เดือน (โคลิก) กินนมมากเกินไป หรือให้นมไม่ถูกวิธี ดังนั้น จะต้องบอกคุณหมอว่าเด็กถูกเขย่าอย่างรุนแรง เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยได้ถูกต้องและรักษาทันเวลา เพราะอาการ Shaken Baby Syndrome อาจมีผลให้สมองเด็กได้รับอันตราย หรือเลือดออกในสมองเพราะการเขย่ารุนแรง ซึ่งต้องรีบทำการรักษา

           มิฉะนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อเด็ก จนอาจไม่สามารถช่วยชีวิตเด็กได้ทัน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 343 สิงหาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จับลูกเขย่า ระวัง! Shaken Baby Syndrome อัปเดตล่าสุด 30 กันยายน 2554 เวลา 14:58:42 3,565 อ่าน
TOP