x close

เจ็บก่อนคลอดคุณแม่รู้ได้

ตั้งครรภ์

เจ็บก่อนคลอดคุณแม่รู้ได้
(Mother & Care)
Mother care แม่ออมจัง

             เมื่อกำหนดคลอดใกล้เข้ามา คุณแม่มักเป็นกังวลกับอาการเจ็บท้องคลอด แล้วก็ไม่แน่ใจว่า เมื่อถึงเวลาจริงแล้วตัวเองจะรับมืออย่างไร หรือจะแยกการเจ็บเตือน เจ็บจริง ออกได้อย่างไร อย่ารอช้าคำตอบอยู่บรรทัดถัดไปแล้วค่ะ

อาการเจ็บเตือน

             รู้สึกเจ็บตึงบริเวณหน้าท้องทั้ง 2 ข้าง, เอว และอาจเกิดอาการปวดหน่วงๆ ที่หัวหน่าว เพราะช่วงนี้ทารกกลับศีรษะลงต่ำเข้าไปอยู่อุ้งเชิงกรานแล้ว (ช่วงนี้ คนโบราณ จะใช้คำว่าท้องลด คือ ท้องจะต่ำลง)

             ถ่ายปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกเบียดเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ

             เป็นช่วงที่ลูกในท้องดิ้นมากที่สุด มีส่วนทำให้มดลูกบีบตัวบ่อยขึ้น เกิดอาการท้องแข็งขึ้นได้ หรือถ้าคุณแม่อิ่มมากก็ทำให้ท้องแข็งเช่นกัน

             เมื่อใกล้คลอดช่องคลอดจะมีการขยายตัว มีเส้นเลือดเล็ก ๆ แตก ทำให้มีมูกเลือดไหลออกมา มักเป็นสีน้ำตาลมากกว่าสีชมพูหรือแดงสด (เป็นเมือกที่อยู่บริเวณปากมดลูก เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่ผ่านเข้าไปบริเวณช่องคลอด)

สิ่งที่ควรปฏิบัติ

             อาการที่เกิดขึ้นช่วงก่อนคลอดนี้ เป็นอาการที่เกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ ความแรงและความถี่ของอาการก็ไม่เพิ่มขึ้น เป็น ๆ หาย ๆ บางครั้งอาจกินเวลาเป็นสัปดาห์ หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนนำไปสู่การคลอดจริง ฉะนั้นถ้ารู้สึกเจ็บหรือปวด ให้ลุกเดิน มีการปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อให้รู้สึกสบายขึ้น

อาการเจ็บคลอด

             การหดรัดตัวของมดลูกเริ่มมากขึ้น ระยะเวลาเจ็บนานและถี่ขึ้นเรื่อย ๆ (ใช้วิธีจับเวลาการปวด เช่น ปวดทุก 15 นาที แล้วก็เริ่มปวดกระชั้นขึ้นเรื่อย ๆ)

             เริ่มเจ็บปวดที่หลังแล้วปวดไล่มาถึงด้านหน้าบริเวณหัวหน่าว และท้องน้อย หรือลงมาหน้าขา

             มีอาการปวดท้องน้อย อยากถ่ายอุจจาระ ร่วมกับการถ่ายอุจจาระบ่อย

             มูกเลือดที่ออกทางช่องคลอด เป็นมูกเลือดสด เนื่องจากปากมดลูกเริ่มมีการเปิดขยายมากขึ้นเรื่อย ๆ (เตรียมพร้อมกับการคลอด)

             ถุงน้ำคร่ำไหลออกมาทางช่องคลอด

             อาการเหล่านี้ เป็นอาการที่คุณแม่พบได้ และแสดงให้คุณแม่รู้ได้ถึงอาการเจ็บจริงแล้วค่ะ

สิ่งที่ควรปฏิบัติ

             เมื่อถึงเวลาเกิดอาการเจ็บคลอดขึ้นจริง คุณแม่ควรพยายามทำใจและร่างกายให้ผ่อนคลายมากที่สุด เช่น ช่วงกลางวัน คุณแม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ปกติ แต่ไม่ควรเดินทางออกนอกบ้าน สังเกตความถี่ในการบีบตัวของมดลูกว่าเป็นอย่างไร เช่น ถี่มากขึ้น เจ็บมากขึ้นหรือไม่ส่วนช่วงกลางคืน ก็ควรนอนพักผ่อนออมแรงเพื่อการคลอด และวิธีบรรเทาอาการปวด อาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบอาการปวด แต่ไม่ควรกินยา และเตรียมตัวให้พร้อมในการไปโรงพยาบาล

4 สัญญาณอันตราย

             1.ถ้ามูกเลือดที่ออกมาสีแดงสดและออกในปริมาณมาก ควรรีบไปพบคุณหมอ เพราะเลือดที่ออกมา อาจเกิดจากการลอกตัวของรกก่อนเวลาหรือรกเกาะขวางทางคลอด

             2.หญิงตั้งครรภ์ที่ถุงน้ำคร่ำแตก (น้ำสีเหลืองจาง ๆ ไหลซึมออกมาทางช่องคลอด) จะมีการแข็งตัวของมดลูกภายใน 12 ชั่วโมง หรือภายใน 24 ชั่วโมง ต้องระวังปากช่องคลอดให้สะอาดและพบคุณหมอทันที เพื่อป้องกันการติดเชื้อ

             3.น้ำคร่ำอาจไหลออกมาก่อนที่จะเจ็บครรภ์ หรือหลังมีอาการเจ็บครรภ์ก็ได้ แม้ยังไม่เจ็บครรภ์ก็ควรรีบไปพบคุณหมอ โดยเฉพาะน้ำที่ไหลออกมามีสีเขียวปนเลือดหรือรู้สึกว่าลูกไม่ดิ้น ก็ควรรีบไปพบคุณหมอค่ะ

             4.ถ้ามดลูกบีบตัวเบา ๆ ช้า ๆ แล้วคลายตัว แสดงว่าเป็น เพราะมดลูกบีบตัว ไม่เป็นอันตราย แต่ถ้ามดลูกบีบตัวจนคุณรู้สึกเจ็บและเจ็บมากขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ต้องรีบไปพบคุณหมอ แม้ยังไม่ถึงหรือใกล้กำหนดคลอดก็ตาม

             สำหรับอาการเจ็บเตือน เจ็บคลอดที่กล่าวมานั้น คุณแม่แต่ละคนอาจมีอาการเจ็บคลอดที่แตกต่างกันได้ แต่อย่างน้อย การที่คุณแม่รับรู้ถึงอาการที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว จะช่วยให้คุณแม่รับมือ ดูแลตัวเองและลูกได้เหมาะสมเป็นไปอย่างมีสติค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.7 No.78 มิถุนายน 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เจ็บก่อนคลอดคุณแม่รู้ได้ อัปเดตล่าสุด 18 พฤศจิกายน 2556 เวลา 15:06:03 53,512 อ่าน
TOP