x close

อาหารเหมาะสม...ดูด เคี้ยว กลืนสมวัย

อาหารเด็ก

อาหารเหมาะสม...ดูด เคี้ยว กลืนสมวัย
(modernmom)
เรื่อง : อุ้มบุญ

          อาหารที่เหมาะสมคือพื้นฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสอดคล้องกับพัฒนาการดูด กลืน เคี้ยว และกินอาหารของลูกน้อยในแต่ละช่วงวัย มิเช่นนั้นอาจส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพ และขวางกั้นพัฒนาการที่ (ควรจะ) สมวัยได้เช่นกัน

0-6 Month นมแม่ดีที่หนึ่ง

          "น้ำนมแม่" อาหารเหลวที่อุดมด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิด ดีต่อระบบการย่อยของลูกน้อยซึ่งยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพราะมีสารช่วยย่อยทำให้ลูกสบายท้อง เพราะขณะที่ลูกดูดนมแม่นั้น ริมฝีปาก เพดาน ลิ้น และช่องปากก็จะเริ่มทำงาน หัดดูด กลืนน้ำนมโดยอัตโนมัติ แต่ความจริงแล้ว ลูกน้อยฝึกฝนและพัฒนาการดูดกลืนมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ของคุณแม่แล้วค่ะ...ก็ดูดกลืนน้ำคร่ำยังไงละคะ ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้เมื่อคลอดออกมาแล้ว ลูกจึงสามารถดูดกลืนน้ำนมแม่ได้เองตามธรรมชาติ โดยใช้สัญชาตญาณเป็นหลัก คือถ้ามีอะไรมาสัมผัสหรือกระตุ้นบริเวณมุมปาก ลูกก็จะอ้าปาก งับ และดูดกลืนทันที และใช้สิ้นช่วยตวัดในการดูดด้วย

          อย่างไรก็ตาม การดูดกลืนของลูกในช่วงแรกๆ อาจจะยังไม่ค่อยสัมพันธ์กันนัก เพราะกล้ามเนื้อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นริมฝีปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม ช่องคอ ยังไม่ค่อยแข็งแรงและทำงานไม่สัมพันธ์กันบ้างในบางครั้ง ซึ่งอาจทำให้ลูกสำลัก สะอึก ไปจนกระทั่งสำรอกออกมาได้ จนกระทั่ง 4-6 เดือน ลูกจะเริ่มกลืนเร็วขึ้นและเหงือกเริ่มแข็ง กล้ามเนื้อและระบบประสาทพัฒนามากขึ้น รวมทั้งระบบการย่อยและการดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ก็ดีขึ้นด้วย

          สำหรับคุณแม่ที่ให้นมแม่ ก็ยังคงให้นมแม่อย่างเดียวแก่ลูกต่อไปจนกระทั่งอายุครบ 6 เดือนได้ค่ะ สำหรับคุณแม่ที่กังวลว่าลูกจะพัฒนาการกลืนอาหารช้าไปหรือเปล่านั้น ไม่ต้องห่วงกังวลค่ะ เพราะองค์การอนามัยโลกเขายืนยันชัดเจน ว่าระบบการย่อยของลูกจะพร้อมสำหรับอาหารอื่ นๆ นอกจากน้ำนม เมื่อลูก อายุ 6 เดือน ...เหล่านี้ต้องอาศัยระยะเวลาและการฝึกฝนบ่อย ๆ จึงจะดีขึ้น

6-8 Month เริ่มอาหารเหลวถึงกึ่งเหลว

          อาหารกึ่งเหลว คืออาหารเหลวที่ข้นขึ้นและมีเนื้อสัมผัสบ้าง เช่น กล้วยน้ำว้าครูดผสมน้ำต้มสุก ซึ่งมีคุณสมบัติย่อยง่าย มีใยอาหารแบบละลายน้ำ ช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย โดยเฉพาะกล้วยที่สุกจัดจะมีรสหวานและโพแทสเซียมสูง ฟักทองบดผสมน้ำซุป ข้าวตุ๋น หรือข้าวสวยบดละเอียดเคล้าน้ำซุปก็ได้ค่ะ และช่วงปลายของวัยนี้ ก็เริ่มปูพื้นฐานของลูกเข้าสู่อาหารหยาบในช่วงวัยต่อไปด้วยค่ะ

           นอกจากนั้นลูกวัยนี้เหงือกเริ่มแข็งขึ้นด้วย เด็กหลายคนเริ่มมีฟันงอกขึ้นมาให้เห็นเป็นตอขาว ๆ บ้างแล้ว ส่งผลให้ลูกเกิดอาการขบเขี้ยวอยากเคี้ยวอาหาร ที่มีผิวสัมผัสบ้างแล้ว Finger Food หรือผักสด เช่น แตงกวา แครอตหั่นแท่งต้มสุก ที่คุณแม่เอามาให้ลูกอม ๆ เคี้ยว ๆ ด้วยเหงือก จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสต่าง ๆ ในช่องปากได้ค่ะ

Mom Note

          วิธีสังเกตง่าย ๆ ว่าลูกพร้อมเปลี่ยนลักษณะอาหารหรือยังให้ดูว่า ลูกมีความสุขกับการกินหรือไม่ ลูกอมอาหารคาปากไหม หรือว่ากลืนลงคอโดยไม่เคี้ยว นั่นแสดงว่า ลูกอาจยังไม่พร้อม ซึ่งคุณแม่ไม่ควรหาทางออกด้วยการบดหรือปั่นอาหารให้ลูก แต่ควรเริ่มฝึกกระบวนการเคี้ยวให้ลูกใหม่ และเพิ่มโอกาสให้ลูกได้เคี้ยวบ่อยขึ้น

8-10 Month อาหารกึ่งเหลว

          อาหารเหลวคืออาหารที่ปั่นละเอียด มีความเหลวมาก ลักษณะใกล้เคียงกับน้ำนมแม่ แต่การเริ่มอาหารเสริม ลูกวัยนี้แม้เขาจะสามารถใช้ริมฝีปากงับช้อนได้บ้างแล้ว แต่ริมฝีปากบนยังกวาดอาหารจากช้อนได้ไม่ดีนัก ยังมีการใช้ลิ้นดุนอาหารบ้าง เพราะติดมาจากการดูดนม แต่ปฏิกิริยาเหล่านี้จะค่อย ๆ หมดไปการย่อยอาหารทำให้สามารถวัดลิ้น ผลักอาหารสู่ลำคอ กลืนลงไปและทำให้กระเพาะหลั่งน้ำย่อยออกมาย่อยอาหารได้บ้างแล้ว

          ในวัยนี้ นมยังคงเป็นอาหารหลักสำหรับลูกอยู่ค่ะ แต่ด้วยความที่ลูกสามารถเคลื่อนไหวร่างกายและใช้พลังงานมากขึ้น จึงจำเป็นต้องเสริมอาหาร เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ต่อการเจริญเติบโตรวมทั้งเพื่อพัฒนาการบดเคี้ยวอาหาร พัฒนาระบบการย่อยและดูดซึมอาหาร ระบบขับถ่ายให้ดีขึ้นตามลำดับด้วย คุณแม่สามารถเสริมอาหารอื่น ๆ ให้แก่ลูกได้ เพื่อเสริมอาหารให้แก่ลูกทีละน้อย โดยยังคงนมแม่ (นมผสม) เป็นหลัก

          อาหารเหลวที่คุณแม่เริ่มให้ลูกวัยนี้ เช่น น้ำซุป น้ำผลไม้ต่าง ๆ เช่น น้ำส้ม น้ำแอปเปิ้ล ฯลฯ แต่ต้องมีสารอาหารครบ 5 หมู่ โดยที่คุณแม่ต้องค่อย ๆ ให้ลูกกินทีละน้อย ประมาณวันละมื้อ มื้อละ 1 ช้อนโต๊ะก่อน โดยค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ และเตรียมเริ่มอาหารกึ่งเหลว

10-12 Month อาหารหยาบ

          อาหารหยาบ คือการปรับเนื้ออาหารให้หยาบขึ้นด้วยการสับหรือปั่นหยาบ ๆ แทนการปั่นละเอียด เพราะพัฒนาการกลืนของลูกวัยนี้ดีขึ้น ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย (ลำไส้และไต) ก็ดีขึ้น สามารถขับถ่ายอาหารประเภทโปรตีนได้ดีขึ้น ช่วงนี้คุณแม่จึงสามารถเพิ่มโปรตีนจากเนื้อปลาหรือไข่แดงเข้าไป แต่ยังไม่ควรให้ไข่ขาวแก่ลูกในช่วงนี้ เพราะกระเพาะของลูกยังไม่พร้อมจะย่อยไข่ขาว จนกว่าอายุครบ 1 ปีไปแล้ว และลูกอาจเกิดอาการแพ้โปรตีนจากไข่ขาวได้

          พัฒนาการของลิ้นช่วงนี้ดีขึ้นมากจนเกือบจะสมบูรณ์ขึ้น เพราะลูกจะสามารถใช้ลิ้นตวัดอาหารสู่ช่องปากได้หลายทิศทาง เช่นเดียวกับกรามและขากรรไกรซึ่งขยับบดอาหารไปมาได้คล่อง ส่วนการกลืนนั้นก็พัฒนาไปมาก เพียง 2-3 วินาทีหลังจากที่ลิ้นตวัดน้ำนมและอาหารไปที่ส่วนหลังของคอ ลูกก็จะกลืนได้โดยอัตโนมัติ ลูกจึงเริ่มกินอาหารได้หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้ฟันที่ทยอยกันขึ้นช่วยบดเคี้ยว

          อาหารที่เหมาะสมเหมือนช่วงเดือนที่ผ่านมา เพียงแต่เพิ่มความหยาบมากขึ้น เช่น จากข้าวบดหยาบก็ลองให้กินข้าวสวยนิ่ม ๆ ข้าวต้มแห้ง ๆ ผักผลไม้ต่าง ๆ หั่นเป็นชิ้น และเพิ่มจำนวนมื้ออาหารเป็น 3 มื้อ ลดนมเหลือเพียง 2-3 มื้อต่อวัน

          ทั้งนี้หากลูกไม่ได้รับอาหารที่มีลักษณะเหมาะสม กับช่วงวัยของเขาแล้ว ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการอื่น ๆ เมื่อเขาเติบโตขึ้นด้วย เช่น พูดช้า เพราะขากรรไกร กล้ามเนื้อ กระพุ้งแก้ม และลิ้นของลูกไม่แข็งแรง และขาดการทำงานที่สัมพันธ์กัน ขาดความมั่นใจในตัวเอง กลัวที่จะเลือกหรือทดลองอาหารใหม่ ๆ ทำให้กินอาหารได้ไม่หลากหลาย และเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ส่งผลต่อพัฒนาการสมองและพัฒนาการด้านอื่น ๆ ด้วย



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.16 No.187 พฤษภาคม 2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อาหารเหมาะสม...ดูด เคี้ยว กลืนสมวัย อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2554 เวลา 14:34:04 6,462 อ่าน
TOP