x close

คำพูดแบบไหน...ลูกปลื้ม ?

แม่และเด็ก

คำพูดแบบไหน...ลูกปลื้ม ?
(Mother & Care)
โดย : ออมจัง

          คำพูดที่พ่อแม่สื่อสารกับลูกวัยเด็ก มีความหมายยิ่ง เพราะการตีความ แปลสารของลูก เป็นไปได้ทั้งบวกและลบ ไม่สามารถคัดกรองเหตุผลได้ดีพอเท่าผู้ใหญ่ ฉะนั้น การใช้คำพูด เข้าใจลูกน้อยด้วยวิธีที่เหมาะสม จึงเป็นผลดีทั้งสองฝ่ายค่ะ

คำที่สั้น กระชับ

          คำพูดที่ไม่ซับซ้อนเกินไปกับเด็ก โดยเฉพาะเมื่อต้องการความร่วมมือหรือให้ลูกเชื่อฟัง วิธีนี้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าส่งผลดี เพราะคำพูดที่สั้นกระซับ มีพลังสื่อสารสิ่งที่ต้องการถึงเด็กได้ดีกว่าการพูดบ่นเพื่อสอน เพราะลูกรู้สึกน่าเบื่อ ไม่สนใจ กลายเป็นไม่รับรู้ และต่อต้านในที่สุด

คำชื่นชม

          เหมือนเป็นรางวัลของเด็ก แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น เก็บจานเมื่อกินอาหารเสร็จ เล่นกับน้อง ไม่รังแกน้อง ก็ช่วยสร้างความรู้สึกที่มั่นคงกับลูกได้ เพราะเด็กทุกต้องการคำชมการยอมรับในความสามารถ แต่ก็ต้องไม่มากจนเกินไป เพราะอาจกลายเป็นการสั่งสมนิสัยที่ไม่ดีในเวลาต่อมา

คำพูดสร้างสรรค์

          การแก้ไขสถานการณ์บางเรื่อง เช่น ลูกทำผิดให้คุณต้องตำหนิการใช้คำพูดแบบสร้างสรรค์ ก็เป็นวิธีสร้างสรรค์มากกว่าทำร้ายจิตใจลูก เช่น "แม่รู้ว่าลูกไม่ได้ตั้งใจ แต่จานเป็นสิ่งของที่แตกหักได้ง่าย ลูกจึงต้องระวังเอาไว้นะครับ" ที่สำคัญกว่าคือ ลูกต้องรู้ด้วยว่า ผิดอย่างไร ต้องทำอย่างไร โดยพ่อแม่อธิบายข้อเท็จจริงให้ลูกเข้าใจ

เกิดอะไรขึ้นกับคำพูดของพ่อแม่

          ในสถานการณ์ตึงเครียด อารมณ์ที่ไม่มั่นคงของพ่อแม่ เมื่อไม่สามารถรับมือกับพฤติกรรมของลูก หรือให้ลูกทำตามที่คุณบอกได้ สิ่งที่ตามมาคือ การปลดปล่อยอารมณ์ของคุณ ด้วยท่าทางหรือคำพูดที่สะเทือนใจ หรือรุนแรงสำหรับเด็ก และสิ่งเลวร้ายที่ตามมาก็คือเด็กจะเก็บคำพูดที่พ่อแม่พูดออกมาคิด จดจำสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นความรู้สึกเศร้าเกิดความตึงเครียดระหว่างคุณกับลูก

คำพูดแบบนี้...ลูกไม่ปลื้ม

          "คำสั่ง" เช่น อย่าส่งเสียงดังได้ไหม, อย่าออกไปไหนนะ, อย่าทำอีก อย่าเรื่องมาก วุ่นวาย, เป็นวลีที่หมายถึงการออกคำสั่งกับเด็ก

          "คำประชด ประชัน" ทำไมไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ ทำไมไม่ระมัดระวังเลย ซุ่มซ่าม เพราะนั่นหมายถึงการว่ากล่าว

          "คำรุนแรง" ห่วยแตก, โง่อวดฉลาด, ไม่ได้เรื่อง ย่อมหมายถึงความล้มเหลว ไม่สำคัญ ไม่มีคุณค่ามากพอสำหรับพ่อแม่

           ดังนั้น สงครามย่อย ๆ ระหว่างคุณกับลูกจะไม่เกิดขึ้น หากคุณฟังเสียงและเข้าใจลูกด้วยใจ ไม่ใช้ความรู้สึก อารมณ์ เป็นตัวตัดสินการกระทำที่เกิดขึ้นของลูก




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คำพูดแบบไหน...ลูกปลื้ม ? อัปเดตล่าสุด 16 มิถุนายน 2554 เวลา 14:54:49 4,011 อ่าน
TOP