x close

เป็นไปได้ไหม อยากได้ลูกแฝด??



ลูกแฝด

เป็นไปได้ไหม อยากได้ลูกแฝด (Momypedia)
โดย ดัชนี

          เดี๋ยวนี้ข่าวคราวคนมีลูกแฝดสามแฝดสี่มีให้ได้ยินบ่อย ๆ ล่าสุดที่ทำลายสถิติโลกก็คือแฝดเจ็ด เป็นไปได้ยังไงนะ?

          โดยปกติแล้ว โอกาสที่จะมีลูกแฝดตามธรรมชาติใช่ว่าจะมีกันได้ง่าย ๆ เรียกว่า 1 ในร้อยทีเดียว มักจะเป็นกรรมพันธุ์ ซึ่งทางฝ่ายคุณแม่มีโอกาสมากกว่าทางคุณพ่อ และคุณแม่อีกล่ะค่ะที่มีบทบาทสำคัญ ถ้าคุณแม่เป็นคนสมบูรณ์แข็งแรง ในแต่ละรอบเดือนตกไข่มากกว่า

1 ฟอง จึงจะมีสิทธิ์มีลูกแฝด

          แต่เดี๋ยวนี้มีแฝดประเภทที่ไม่ได้เกิดตามธรรมชาติรวมอยู่ด้วย จำนวนแฝดที่รอดชีวิตก็มากขึ้น ตั้งแต่แฝดสอง แฝดสาม แฝดสี่..จนถึงแฝดเจ็ด อันเป็นผลพวงจากเทคนิคการรักษาผู้มีลูกยาก ซึ่งมีการให้ฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ ทำให้ไข่ตกคราวละหลายฟองและได้รับการผสมกับเชื้ออสุจิพร้อมๆกัน อย่างในกรณีของแฝดเจ็ดที่รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ก็เป็นการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการได้รับฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ เนื่องจากแม่มีประสบการณ์ตั้งครรภ์ยากเมื่อมีลูกคนแรก คุณหมอที่ดูแล พยายามจะให้แม่แฝดเจ็ดทำแท้งทารกบางคน เพื่อให้ที่เหลือรอดชีวิต แต่เธอและสามีไม่ยอมเพราะเป็นคนเคร่งศาสนา ในที่สุดเธอก็ให้กำเนิดแฝดเจ็ด เป็นลูกสาว 3 ลูกชาย 4 ภายใต้การดูแลของคณะแพทย์อย่างใกล้ชิด ทารกทั้งเจ็ดรอดชีวิต แต่ละคนมีน้ำหนัก 1-1.5 กก.

          คุณแม่ที่ได้ฟังข่าวนี้ แล้วคิดจะให้หมอให้ฮอร์โมนเพราะอยากมีลูกแฝดบ้าง หมอไม่ทำให้ค่ะ เพราะการตั้งครรภ์แฝดทางการแพทย์ถือว่าผิดปกติ ยิ่งจำนวนแฝดมากเท่าไร อัตราเสี่ยงต่อชีวิตลูกยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โอกาสคลอดก่อนกำหนดมีสูง ในช่วงตั้งครรภ์แม่เองก็ลำบาก ตั้งแต่ท้องที่โตเอาโตเอาจนคุณแม่อึดอัด หายใจไม่ทั่วท้อง ปวดหลัง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายแทบลุกไม่ขึ้น บางรายต้องเข้าไปนอนในโรงพยาบาลก่อนกำหนดคลอดเป็นเวลานาน รวมทั้งอาจมีอาการแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น ครรภ์เป็นพิษ โลหิตจาง รกเกาะต่ำ มีน้ำคร่ำมาก ทารกแต่ละคนมีน้ำหนักน้อย ยิ่งแฝดจำนวนมากเท่าไร น้ำหนักของทารกยิ่งถูกเฉลี่ยให้น้อยลง

          ถึงตอนคลอดก็อันตรายอีก โดยเฉพาะแฝดน้องอาจจะขาดออกซิเจนถ้าคลอดช้า มีเรื่องเล่า(จริงหรือเปล่าไม่รู้)ว่า คุณหมอทำคลอดให้คุณแม่คนหนึ่ง เสร็จแล้วจัดแจงเย็บแผลฝีเย็บ ไม่ทันไรคุณแม่ร้องเจ็บท้องอีก ปรากฏว่ายังมีเด็กอีกคนในท้อง หมอต้องเลาะที่เย็บไว้ทำคลอดแฝดน้อง ในบางรายหมอจึงพิจารณาให้ผ่าตัดคลอดซึ่งจะทำให้การคลอดดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ทารกไม่เสี่ยงต่อการขาดออกซิเจน

          เรื่องความหนักหนาสาหัสในการเลี้ยงดูลูกแฝดไม่ต้องพูดถึง ลูกอ่อนคนเดียวยังทำเอาคุณแม่ตาโหลมานักต่อนักแล้ว สรุปแล้วทั้งการจะตั้งท้องแฝด เลี้ยงลูกแฝดถือว่าเป็นความสามารถส่วนบุคคลก็แล้วกันค่ะ(ไม่ควรคิดลอกเลียนแบบ)

          สำหรับคุณแม่ที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมีลูกแฝด แต่ถ้าท้อง 3-4 เดือนแล้วถูกทักว่าท้องใหญ่จัง ควรไปให้คุณหมอทำอัลตร้าซาวนด์ดู หากมีครรภ์แฝด พยายามพักผ่อนให้มาก ๆ ทานอาหารที่มีประโยชน์เพิ่มขึ้น ไปให้หมอตรวจครรภ์สม่ำเสมอ และควรหาคนช่วยเลี้ยงลูกแต่เนิ่น ๆ ค่ะ

ลูกแฝด

 แฝดเหมือน

          ในบรรดาท้องแฝดตามธรรมชาติ มีโอกาสจะได้แฝดเหมือนมากกว่าแฝดไม่เหมือนเกิดจากการผสมของไข่ใบเดียวกับ อสุจิตัวเดียว แต่บังเอิญแบ่งตัวออกเป็นสอง แฝดเหมือนจะมีเพศเดียวกัน รูปร่างหน้าตาเหมือนกันทุกอย่างแม้แต่ลายมือลายเท้า มีกรุ๊ปเลือดเดียวกัน

แฝดไม่เหมือน

          มักเกิดจากคุณแม่อายุมาก คุณแม่ที่สมบูรณ์แข็งแรง มีการตกไข่ครั้งละมากกว่า 1 ฟอง ทำให้เกิดการผสมของไข่กับอสุจิมากกว่า 1 คู่พร้อม ๆ กัน แฝดไม่เหมือนอาจจะเป็นคนละเพศ รูปร่างหน้าตาไม่เหมือนกัน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เป็นไปได้ไหม อยากได้ลูกแฝด?? อัปเดตล่าสุด 15 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 17:33:09 6,152 อ่าน
TOP