x close

คุณแม่ท้องระวัง น้ำคร่ำแห้ง !!

ตั้งครรภ์

คุณแม่ท้องระวัง น้ำคร่ำแห้ง !!
(M&C แม่และเด็ก)

           คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เฝ้าถนอมเจ้าตัวเล็กมาโดยตลอด 6 -7 เดือน ป่านนี้เตรียมเนื้อเตรียมตัวในการคลอดกันบ้างแล้วหรือยังคะ เริ่มตระเตรียมของใช้จำเป็นในขณะที่พอมีแรงเดินเหินอยู่ก็ดีค่ะ ถึงเวลาเจ็บท้องคลอดจะได้ไม่ฉุกละหุกจนเกินไป เตรียมพร้อมเสมอเมื่อถึงเวลาก็ตรงไป รพ. เลย

           และช่วงไตรมาส 3 นี้ คุณแม่ตั้งครรภ์ควรจะมีเวลาสังเกตการดิ้นของเจ้าตัวเล็กบ้างนะคะ ว่าลูกน้อยยังดิ้นอยู่มั้ย จำนวนครั้งที่ดิ้นยังสม่ำเสมอเหมือนเดิมรึเปล่า เพราะช่วงนี้เรียกว่าเป็นช่วงเฝ้าระวังได้เลยนะคะ ต้องคอยประคับประครองให้การตั้งครรภ์นี้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีค่ะ และภาวะอีกอย่างนึงที่ไม่ควรมองข้ามเลยก็คือ น้ำคร่ำแห้ง จะเป็นอันตรายต่อลูกในท้องอย่างไรนั้น ตามมาเลยค่ะ

รู้จักน้ำคร่ำดีแค่ไหน???

           น้ำคร่ำ (Amniotic Fluid) เป็นของเหลวที่ห่อหุ้มทารกในครรภ์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบ และที่มาตลอดระยะเวลาของการตั้งครรภ์ โดยในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ องค์ประกอบหลักของน้ำคร่ำจะมาจากน้ำเหลืองของเลือดมารดา ที่ซึมผ่านรกและเยื่อหุ้มเด็กนั่นเองค่ะ ทารกอยู่ภายในถุงน้ำคร่ำและถูกหล่อด้วยน้ำใส ๆ ที่เรียกว่า "น้ำคร่ำ" ถุงน้ำคร่ำเป็นเยื่อบาง ๆ ใส ๆ พองกลมคล้ายลูกโป่ง ผนังของถุงด้านนอกแนบติดไปกับผนังมดลูก

           น้ำคร่ำเป็นเครื่องป้องกันการกระทบกระเทือนจากภายนอกได้เป็นอย่างดี ซึ่งในแต่ละช่วงจะมีที่มาแตกต่างกันไป แถมน้ำคร่ำยังมีความจำเป็นต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตของลูก ในเรื่องกระดูก และกล้ามเนื้อด้วย คือเมื่อมีน้ำคร่ำ ลูกก็มีที่ในการขยับขาแขน พัฒนากล้ามเนื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และที่สำคัญ น้ำคร่ำยังเป็นเหมือนเกราะป้องกันอันตราย เป็นกันชนกันกระแทกให้กับเจ้าตัวน้อยของเราอีกด้วยค่ะ

ว่าด้วยปัจจัยที่ทำให้น้ำคร่ำแห้ง

           กรณีน้ำคร่ำแห้งหรือน้อย อาจเกิดจากถุงน้ำคร่ำรั่ว ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด หรือมีการสร้างน้ำคร่ำน้อย เนื่องจากรกเสื่อม รกเล็ก แม่มีภาวะแทรกซ้อนครรภ์เป็นพิษ ความดัน เบาหวาน โรคอื่นๆ หรือทารกเติบโตช้า ตัวเล็ก

           ปริมาณน้ำคร่ำแห้งหรือน้อย ส่งผลทำให้สายสะดือกดรัดได้ง่าย เนื่องจากเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงไม่ดี หญิงตั้งครรภ์ที่ปริมาณน้ำคร่ำน้อยจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด แพทย์ต้องนัดมาตรวจอย่างสม่ำเสมอโดยการทำอัลตราซาวด์ ทั้งนี้มีดัชนีในการตรวจวัดปริมาณน้ำคร่ำ โดยแบ่งมดลูกออกเป็น 4 ส่วน รวมแล้วต้องไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร ถ้าดัชนีน้ำคร่ำน้อยกว่า 5 เซนติเมตร ต้องระวัง อาจจะต้องให้นอนโรงพยาบาลเพื่อประเมินอาการว่าสาเหตุเกิดจากอะไร รวมทั้งประเมินสุขภาพของทารกอย่างใกล้ชิดประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้าประเมินแล้วทารกสุขภาพไม่ดี อาจยุติการตั้งครรภ์และนำมาเลี้ยงข้างนอกต่อ

อันตรายที่เกิดจากน้ำคร่ำแห้ง

           น้ำคร่ำในถุงน้ำคร่ำแห้งขอดลงไปเมื่อใด ความปลอดภัยของทารกน้อยที่นอนอยู่ในท้องแม่ ก็จะมีอันตรายมากเท่านั้นนะคะ อย่างที่บอกว่าน้ำคร่ำจะช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนต่อทารก ช่วยรักษาอุณหภูมิและช่วยให้ทารกเคลื่อนไหวได้สะดวก ปริมาณน้ำคร่ำยังเป็นตัวบอกถึงสุขภาพทารกด้วย เพราะถ้าทารกได้อาหารน้อยมีการไหลเวียนของเลือดลดลง ปริมาณปัสสาวะก็จะลดลงทำให้น้ำคร่ำลดลงได้ ถ้าน้ำคร่ำเหลือน้อยมาก ๆ โอกาสที่สายสะดือจะถูกกดทับ โดยตัวของทารกเองจนเสียชีวิตในครรภ์ก็สูงขึ้นค่ะ

           เพราะฉะนั้น การฝากครรภ์กับสูติแพทย์ตั้งแต่ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ จะเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการคัดกรองภาวะผิดปกติของปริมาณน้ำคร่ำ เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาที่ ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดค่ะ และในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่จะต้องการพลังงานจากสารอาหารมากขึ้นจากเดิมอีกราวๆ 200 แคลอรีต่อวัน คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่ให้โปรตีนสูง เช่น นม ไข่ เนื้อปลา ปลาเล็กปลาน้อย ผัก และผลไม้ ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการสะสมสารอาหารที่จำเป็นไว้สำหรับเตรียมให้น้ำนมกับลูก หลังคลอดนั่นเองค่ะ

หน้าที่สำคัญของน้ำคร่ำกับเจ้าตัวน้อย

           1. ทำหน้าที่เป็นเกราะคุ้มกันอันตรายจากภายนอกให้กับทารกในครรภ์ ช่วยให้กระดูกและกล้ามเนื้อสามารถพัฒนาได้อย่างอิสระ

           2. ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของทารกให้คงที่ และเป็นแหล่งอาหารส่วนน้อยสำหรับทารก

           3. ช่วยให้พัฒนาการการเจริญเติบโตของปอด และทางเดินอาหารมีความเหมาะสม โดยที่ทารกจะหายใจและกลืนน้ำคร่ำเข้าไปในปอดและทางเดินอาหาร



    


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คุณแม่ท้องระวัง น้ำคร่ำแห้ง !! อัปเดตล่าสุด 19 มีนาคม 2554 เวลา 14:05:15 40,027 อ่าน
TOP