x close

ไซนัสอักเสบ...ใครคิดว่าเด็กไม่เป็น

baby

ไซนัสอักเสบ...ใครคิดว่าเด็กไม่เป็น (modernmom)

             ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบบ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญแล้ว ยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การได้ยินลดลง ตาบอด หรือฝีในสมองได้ครับ แต่ไซนัสไม่ใช่เรื่องน่ากลัว หากคุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจ ก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดกับลูกเล็กได้ครับ

ต้นเหตุไซนัสอักเสบในเด็ก

             ไซนัสอักเสบ คือ โรคที่มีการอักเสบของเยื่อบุไซนัสตั้งแต่ 1 ไซนัสขึ้นไป โดยมีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดไซนัสอักเสบ คือปัจจัยที่ทำให้รูเปิดของไซนัสอุดตัน ได้แก่ การอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น หรือโรคหวัด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบในเด็กที่พบบ่อยที่สุด

             สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ไซนัสอักเสบได้ เช่น จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ริดสีดวงจมูก ผนังกั้นจมูกคด มีเนื้องอก หรือสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก ปัจจัยอื่น ๆ เช่น มีการผลิตสิ่งคัดหลั่งในไซนัสเพิ่มขึ้น ขนกำจัดสิ่งแปลกปลอมทำงานผิดปกติ มีการติดเชื้อจากอวัยวะอื่น เช่น รากฟันอักเสบ และภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่อง

             ในเด็กเล็ก มักเป็นหวัดบ่อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัดจากเชื้อไวรัส ประมาณ 6-8 ครั้งต่อปี และประมาณร้อยละ 10 ของเด็กเหล่านี้ จะมีไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตามมา ส่วนเชื้อที่เป็นสาเหตุของไซนัสอักเสบในเด็กที่สำคัญได้แก่

             เชื้อไวรัส เป็นเชื้อกลุ่มเดียวกับที่ทำให้เกิดไข้หวัด พบบ่อยที่สุดในโรคไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดมักจะมีอาการ และอาการแสดง ซึ่งไม่สามารถแยกจากโรคไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้

             เชื้อแบคทีเรีย มักเกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสร้อยละ 80 และเกิดตามหลังการอักเสบจากภูมิแพ้ร้อยละ 20

             เชื้อรา พบน้อยมากในเด็ก มักพบในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 ชนิดของไซนัสอักเสบในเด็กแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่

             1. ไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลัน หมายถึง การอักเสบของเยื่อบุไซนัสที่เป็นมาน้อยกว่า 4 สัปดาห์ และมีอาการหายเป็นปกติหลังการอักเสบในแต่ละครั้ง

             2. ไซนัสอักเสบชนิดเรื้อรัง การอักเสบชนิดนี้จะมีอาการต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป โดยทั่วไปอาการจะไม่รุนแรงเท่าการอักเสบชนิดเฉียบพลัน

             3. ไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันที่มีการกลับเป็นซ้ำ หมายถึง การอักเสบมีการกลับเป็นซ้ำมากกว่า 4 ครั้งต่อปี แต่ละครั้งเป็นนานกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 4 สัปดาห์ และการอักเสบหายไปอย่างสมบูรณ์ทุกครั้ง

วิธีสังเกตอาการไซนัสอักเสบ

             ไซนัสอักเสบในเด็กส่วนใหญ่มักเกิดตามหลังไข้หวัด โดยการวินิจฉัยนั้น แพทย์จะอาศัยการชักประวัติและตรวจร่างกายเป็นสำคัญ

             เด็กเล็ก มักมีอาการของไข้หวัดนำมาก่อน ได้แก่ อาการไข้ ไอ น้ำมูก ข้อสังเกต คืออาการของไข้หวัดดังกล่าวแย่ลง หรือเป็นนานมากกว่า 7-10 วัน มีน้ำมูกไหลข้นคัดจมูก ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น อาจจะมีไข้ต่ำ หรือไม่มีใช้ก็ได้ ไอจากการที่มีเสมหะไหลลงคอ โดยเฉพาะตอนนอนในเวลากลางคืน ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก

             เด็กโต อาจมีอาการปวดบริเวณหน้าผาก และหัวคิ้ว จมูกไม่ได้กลิ่น ถ้ามีอาการรุนแรงจะมีน้ำมูกไหลข้นเขียว เป็นหนอง กลิ่นเหม็น และมีไข้สูงมากกว่า 39°C

             ดังนั้นในเด็กเล็ก ๆ ถ้าป่วยเป็นหวัดนานติดต่อกันหลายวัน หากคุณพ่อคุณแม่ไม่แน่ใจว่า ลูกน้อยจะเป็นไซนัสอักเสบหรือไม่ควรพาไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะต้องแยกโรคไซนัสอักเสบออกจากไข้หวัดธรรมดา โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ และผู้ป่วยเด็กที่มีสิ่งแปลกปลอมในโพรงจมูก

             ในทางปฏิบัติ แพทย์จะใช้อาการที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ร่วมกับอาการแสดงจากการตรวจร่างกายอย่างละเอียด เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ มีน้อยรายในผู้ป่วยเด็กที่แพทย์จำเป็นต้องสั่งการตรวจพิเศษ เช่น การถ่ายภาพรังสีแบบธรรมดาบริเวณไซนัส การถ่ายภาพรังสีบริเวณไซนัสด้วยวิธีคอมพิวเตอร์ หรือด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก การตรวจด้วยอัลตร้าซาวนด์ และการเจาะดูดไซนัสเพื่อส่งเพาะเชื้อ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยเพิ่มเติม แต่ละวิธีก็มีข้อจำกัดต่างกัน ในการแปลผลการตรวจพิเศษเหล่านี้จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และผู้ป่วยแต่ละรายเป็นสำคัญ

วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นไซนัสอักเสบ

             สำหรับการรักษาโรคไซนัสอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อแบคทีเรีย ที่มักเป็นสาเหตุของไซนัสอักเสบ ชนิดและขนาดของยาปฏิชีวนะ รวมทั้งระยะเวลาของการรักษา แพทย์จะเป็นผู้เลือกตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาปฏิชีวนะ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบด้วยทุกครั้ง รวมทั้งให้ยาที่มีฤทธิ์ลดบวมของเยื่อบุโพรงจมูก แนะนำให้ล้างจมูกด้วย น้ำเกลือ หรือสารละลายที่แพทย์สั่งให้ด้วยลูกยาง หรือลอดฉีดยา วิธีนี้เหมาะกับเด็กโต ที่สามารถทำตามคำสั่งได้ เพื่อส่งเสริมให้ทางระบายของไซนัสดีขึ้น นอกจากนี้อาจมียาเสริมอื่นๆ อีก เช่น ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ยาละลายเสมหะ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้สั่งให้ตามความเหมาะสม

             แพทย์จะต้องให้การรักษาโรคพื้นฐานที่เป็นสาเหตุ หรือต้นตอส่งเสริมให้เป็นไซนัสอักเสบควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะในรายที่เป็นภูมิแพ้ รวมทั้งให้คำแนะนำเรื่องการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น หรือสารก่อภูมิแพ้ เพื่อไม่ให้โรคภูมิแพ้กำเริบบ่อยๆ เช่น พยายามหลีกเลี่ยง หรือกำจัดไรฝุ่นบ้านควันบุหรี่ การติดเชื้อจากคนรอบข้าง การอยู่ในที่ชุมชนแออัด เป็นต้น

             "ไซนัส" เป็นโพรงอากาศที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะส่วนใบหน้า มีทั้งหมด 4 คู่ คู่แรกอยู่บริเวณโหนกแก้ม คู่ที่สองอยู่บริเวณหัวคิ้วระหว่างลูกตาคู่ที่สามอยู่บริเวณหน้าผาก และคู่สุดท้ายอยู่บริเวณกลางกะโหลกศีรษะ โพรงไซนัสทำให้กะโหลกศีรษะมีน้ำหนักเบา ช่วยปรับอุณหภูมิและความชื้นของอากาศก่อนเข้าสู่ปอด และยังช่วยให้เกิดความก้องกังวานของเสียงอีกด้วย

             ภายในโพรงไซนัสประกอบไปด้วยเยื่อบุขนกำจัดสิ่งแปลกปลอม และมีการผลิตมูกที่มีแอนติบอดีช่วยกันสิ่งสกปรก รวมทั้งเชื้อโรคที่เข้ามาในไซนัส ไม่ให้ลุกลามเข้าไปในเยื่อบุโพรงไซนัส ปกติโพรงไซนัสจะมีรูเปิดติดต่อโดยตรงกับโพรงจมูก ขนกำจัดสิ่งแปลกปลอม จะทำหน้าที่ขับมูกภายในไซนัสออกสู่โพรงจมูก เมื่อใดก็ตามที่มีการอุดตันของรูเปิดดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดการคั่งค้างของมูกภายในโพรงไซนัส ซึ่งเป็นภาวะที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรค จึงทำให้เกิดการอักเสบของไซนัสตามมา

             ในเด็กเล็ก ๆ ถ้ามีการอักเสบของไซนัสมักเป็นไซนัสบริเวณโหนกแก้ม และหัวคิ้วระหว่างลูกตา เนื่องจากไซนัสที่เหลือยังเจริญไม่เต็มที่

             โดยทั่วไปโรคไซนัสอักเสบชนิดเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ในรายที่รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล หรือมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย ซึ่งพบน้อยมากในเด็ก แพทย์ก็จะให้การรักษาเพิ่มเติมโดยการผ่าตัด ซึ่งมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย

             สำหรับไซนัสอักเสบจากเชื้อไวรัส ถ้าไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน มักจะหายได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องให้การรักษาแบบจำเพาะ ส่วนไซนัสอักเสบจากเชื้อรา ซึ่งพบน้อยมากในเด็ก แต่มักพบในรายที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง แพทย์ก็จะให้การรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา

             สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ หากลูกป่วยเป็นโรคไซนัส คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกมาติดตามการรักษา เพื่อประเมินผลของการรักษาตามที่แพทย์นัดทุกครั้งนะครับ

คลิกอ่านความคิดเห็นของ เพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.15 No.176 มิถุนายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไซนัสอักเสบ...ใครคิดว่าเด็กไม่เป็น อัปเดตล่าสุด 16 กรกฎาคม 2553 เวลา 15:07:05 4,879 อ่าน
TOP