x close

ล้างขวดนม อย่างไร...ให้หายห่วง

ขวดนม

ล้างขวดนม อย่างไร...ให้หายห่วง
(M&C แม่และเด็ก)

          การล้างขวดนม จัดว่า เป็นปัญหาระดับชาติย่อม ๆ สำหรับหลาย ๆ บ้าน ถ้าล้างไม่สะอาด ลูกน้อยก็อาจได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายง่าย ๆ ทำให้เจ็บป่วยไม่สบาย แต่แน่นอนที่สุด การล้างเฉพาะน้ำ และน้ำยาล้างขวดนมไม่เพียงพออย่างแน่นอน ขั้นตอนสุดท้าแล้ว พ่อแม่ควรนำไปฆ่าเชื้ออีกครั้งหนึ่งก่อนนำไปใช้ค่ะ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด ๆ ก็ตาม

ก่อนการฆ่าเชื้อ

          ก่อนการฆ่าเชื้อทุกครั้ง เราควรใส่ใจในขั้นตอนการล้าง เริ่มตั้งแต่การถอดชิ้นส่วนของขวดนมเพื่อไปล้างด้วยน้ำเปล่าก่อน (คุณแม่อาจสวมวิญญาณเป็นบาร์เทนเดอร์ เกิร์ล โชว์ลีลาเขย่าน้ำกับขวดนมเข้าจังหวะไปด้วย ก็ได้อารมณ์อีกแบบ) เมื่อล้างชิ้นส่วนทั้งหมดแล้ว ก็นำมาล้างด้วยน้ำยาล้างขวดนมผสมกับน้ำอุ่น ขัดถูๆ ทั้งด้านในขวด และคอขวด เกลียวให้คราบนมหลุดออกให้หมด ไม่ให้เหลือจนจับเป็นคราบเหลืองได้ โดยเฉพาะจุกนมยางควรใช้แปรงขนาดพอเหมาะขัดคราบ พร้อมทั้งบีบน้ำให้ผ่านให้จุกนมยางด้วยค่ะ

สู่กระบวนการฆ่าเชื้อ

          กระบวนการฆ่าเชื้อก็มีหลายวิธี ที่เราสามารถเลือกปฏิบัติตามความสะดวก แล้วแต่ความถนัด

           การต้ม หากจะให้ขวดนมมีรสชาติดียิ่งขึ้น ลองต้มด้วยเตาถ่ายดูสิคะ อิ อิ ไม่ใช่ทำกับข้าว เข้าเรื่องนะคะ ก็นำชิ้นส่วนทั้งหมดที่ล้างมาใส่ลงไปในหม้อ เสร็จแล้วก็เติมน้ำสะอาดจนท่วมทุกชิ้นส่วน ต้มนาน 20-25 นาที แล้วค่อยเก็บชิ้นส่วนทั้งหมดขึ้นจากหม้อต้ม แม้เป็นภูมิปัญญาบ้านๆ และช่วยเซฟเงินได้ดี แต่การฆ่าเชื้อด้วยวิธีนี้ก็อาจทำให้จุกนมเสื่อมสภาพเร็วมากๆ

          หม้อนึ่งไฟฟ้า ไฮโซเริดหรู ดูมีชาติตระกูลก็ต้องวิธีนี้แหล่ะค่ะ หากตั้งใจเปิดโรงงานผลิตลูกหลายหน่อแล้ว การลงทุนครั้งเดียวก็คุ้มสุด ๆ แน่นอนเพียงแค่วางชิ้นส่วนต่าง ๆ ของขวดนมลงในหม้อนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะให้เติมน้ำสะอาดลงไปประมาณ 2 ออนซ์ แล้วเสียบปลั๊กไฟนึ่งไว้ประมาณ 10 นาที (ปริมาณน้ำและระยะเวลาในการนึ่ง ก็อาจแตกต่างกันไป ตามยี่ห้อของหม้อนึ่ง) เพียงแค่นี้คุณแม่ก็มีเวลาชิว ๆ ดูซีรี่ส์ เกาหลีต่อไปอย่างสบายใจเฉิบแล้วค่ะ

          น้ำยาฆ่าเชื้อ การใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือเม็ดทำความสะอาดขวดนม ก็ให้เติมน้ำสะอาดลงในภาชนะที่จะใช้ใส่ขวดนมให้ให้ท่วมทุกชิ้นส่วน จากนั้นก็ให้เติมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือเม็ดทำความสะอาดขวดนมลงไป คลุกเคล้าให้ละลายเข้ากัน ก่อนใส่ชิ้นส่วนต่าง ๆ ลงไป แล้วใช้มือกดทุกชิ้นส่วนให้จมอยู่ใต้น้ำ โดยเฉพาะขวดนมควรไล่อากาศออกให้หมดเสียก่อนค่ะ จากนั้นปิดภาชนะไว้ประมาณ 30 นาที หรือตามคำแนะนำการใช้ยา ก็เป็นอันเรียบร้อย

ขวดนมไม่ใช่เรื่องลวก ๆ

          ลูกน้อยวัยแรกเกิด-6 เดือน ภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อในลำไส้ไม่ค่อยแข็งแรงนัก นอกจากนมแม่แล้วไม่ควรให้หม่ำอาหารอย่างอื่น โดยเฉพาะเรื่องความสะอาดต้องระมัดระวังมาก ๆ ควรใช้กาต้มขวดนม มากกว่าอาศัยความง่ายเข้าว่า ด้วยการลวก เพราะนั่นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกน้อยเป็นโรคลำไส้อักเสบบ่อย ๆ ได้ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 460 มิถุนายน 2553

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ล้างขวดนม อย่างไร...ให้หายห่วง อัปเดตล่าสุด 13 กรกฎาคม 2553 เวลา 14:38:49 1,218 อ่าน
TOP