x close

อ้วนตามแม่... หรือแม่ทำหนูอ้วน



อ้วนตามแม่... หรือแม่ทำหนูอ้วน (รักลูก)


โดย แม่ลออ

เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ นพ.สุริยเดว ทรีปาติ

กุมารแพทย์สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี

          คุณอ้วนหรือเปล่าคะ ถ้ามองดูตัวเองแล้ว พยักหน้าตั้งแต่ค่อนไปทางอ้วนล่ะก็เจ้าตัวน้อยของคุณก็มีสิทธิ์ด้วยค่ะ
จริงๆ แล้วโรคอ้วนในเด็กที่เกิดมาจากยีนหรือพันธุกรรมมีน้อยมากๆ ค่ะ ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเลี้ยงดูจากครอบครัว แต่มีความเป็นไปได้ว่า ครอบครัวไหนที่คุณแม่อ้วนมีแนวโน้มว่าจะเลี้ยงลูกให้กลายเป็นเด็กอ้วนด้วยเช่นกัน เพราะจะถ่ายทอดพฤติกรรมการกินไปสู่ลูกนั่นเอง

          และเนื่องจากพ่อแม่ยังมีความรู้สึกว่าการเลี้ยงลูกให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วนั้นดี จึงพอใจเวลาที่ลูกน้ำหนักขึ้นเยอะ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกนะคะ คือ

          1.    ลูกจะมีอาการหายใจลำบาก สังเกตดูว่าหายใจติด ๆ ขัด ๆ ไม่เต็มปอด

          2.    ขาโก่ง เพราะต้องรับน้ำหนักตัวมาก

          3.    นอนกรน หลับไม่ค่อยสนิท กระสับกระส่าย คุดคู้ตลอดคืน

          4.    ฟันผุ เพราะลกจะกินเยอะ และไม่ค่อยสนใจรักษาสุขภาพช่องปาก

          ซึ่งอาการทั้ง 4 ข้อมักเกิดกับเด็กก่อนวัยเรียน และเมื่อเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ หากยังอ้วนอยู่ ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงตามมาค่ะ

          ทำไมหนูถึงอ้วน

          อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นค่ะว่าการเลี้ยงดูของพ่อแม่มีส่วนสำคัญต่อความอ้วนของลูกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของอาหารการกิน ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบคือ

          1.    อาหารที่สร้างความพึงพอใจ

          อาหารที่สร้างความพึงพอใจและส่งผลให้มีความสุข คืออาหารที่ให้พลังงานสูง ซึ่งจะอยู่ในกลุ่ม หวาน มัน เค็ม แซบ ยิ่งถ้ามีความกลมกล่อมของทุกรสชาติในจานเดียวได้ จะสร้างความสุขในการกินให้กับเด็กได้อย่างมากค่ะ ยกตัวอย่างเช่น อาหารมีความหวานที่ไม่เลี่ยนเกินไป มีความมัน เค็ม และถ้ามีรสเผ็ดด้วยนิดๆ ก็จะสร้างความสุขในการกินแบบไม่บันยะบันยังค่ะ และอาจจะทำให้เด็กกินอาหารเกินความต้องการของร่างกายได้ อย่างเช่น อาหารฟาสต์ฟูด หรือขนมหวานๆ ที่มีรสชาติกลมกล่อม และมีรูปลักษณ์น่ากิน

          2.    อาหารที่ให้ความรู้สึกอิ่ม...อืด

          มักเป็นอาหารแคลอรี่ต่ำ เช่น ธัญพืช และผักทั้งหลาย เป็นอาหารที่มีรสฝืด เฝื่อน ขม ไม่น่ากิน และเด็กๆ มักจะไม่ค่อยกินเท่าไรค่ะ

          เพราะฉะนั้นเด็กจะอ้วนจากอาหารประเภทที่ 1 ได้มาก ประกอบกับโดนกระแสของสื่อโฆษณา พอเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็จะรบเร้าอยากกิน พ่อแม่ก็ต้องตามใจเพื่อตอบสนองความต้องการของลูก จึงเป็นที่มาของโรคอ้วนค่ะ

          โรคอ้วนทำระบบหนูแย่

          เมื่อเด็กเริ่มอ้วนขึ้น เลปติน (leptin) จะเริ่มทำงานผิดปกติค่ะ เลปตินเป็นฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากเซลล์ที่เก็บสะสมไขมันในร่างกาย ซึ่งจะไปยับยั้งการทำงานในสมองส่วนไฮโปธาลามัส ทำให้เกิดความรู้สึกอิ่มเมื่อกินอาหารเข้าไป
ลูกเข้าข่ายอ้วนหรือยัง

          สามารถดูลักษณะทางกายภาพ เช่น แก้ม ยุ้ย พุงออก ก็ถือว่าอ้วนแล้ว หรือดูจากกราฟ การเจริญเติบโต เวลาพาลูกไปพบคุณหมอสังเกตดูว่าน้ำหนักของลูกเพิ่มตามที่ควรจะเป็นหรือเพิ่มแบบก้าวกระโดย เพื่อจะสามารถปรึกษาคุณหมอได้ทันเวลาค่ะ

          “พ่อแม่คือต้นแบบ พ่อแม่กินอย่างไร ลูกก็กินอย่างนั้นค่ะ อยากให้ลูกกินผักเยอะๆ พ่อแม่ก็ต้องกินด้วย”

          เด็กอ้วนจะมีไขมันสะสมในตัวมากขึ้น ร่างกายก็ผลิตสารเลปตินออกมามากตามไปด้วย จึงเกิดการเสียสมดุลทำให้ความรู้สึก อิ่ม หิว เสียศูนย์ คือเด็กกินแล้วไม่รู้สึกอิ่มค่ะ มีความรู้สึกอยากกินเข้าไปได้เรื่อยๆ คือกินอาหารไปได้สักพักระดับน้ำตาลจะขึ้นแป๊บเดียวแล้วลดลงมาอย่างรวดเร็ว พอเซลล์ขาดน้ำตาลก็จะทำให้รู้สึกหิว ร่างกายก็จะกินได้อีก สังเกตได้ว่าเด็กอ้วนจะต้องมีอะไรติดมือตลอด อยากกินอยู่ตลอด ส่งผลให้เซลล์ไขมันเพิ่มขึ้น เลปตินก็เพิ่มขึ้น จะร่างกายไปสู่ภาวะที่ไม่อิ่ม-หิวอีกต่อไป

          อ้วนแล้วต้องลดอย่างไร

          การลดความอ้วนสำหรับเด็กนั้นจะเป็นผลดีกับลูกในทุกๆ ด้านค่ะ เพราะนอกจากจะทำให้สุขภาพแข็งแรง โรคฟันผุ ขาโก่ง หายใจไม่ออก และนอนกรนลดน้อยลงหรืออาจจะหายไปเลยเมื่อลูกน้ำหนักลดลง แต่การลดความอ้วนในเด็กนั้นพ่อแม่เป็นคนสำคัญนะคะและยังเป็นภารกิจที่ต้องทำร่วมกันทั้งครอบครัวด้วย คือ

          1.    มีกิจกรรมให้ลูกทำที่มากกว่าการกิน ดูทีวี แต่ควรเป็นกิจกรรมที่ได้ออกกำลังกาย ใช้แรงบ้าง และทำร่วมกันทั้งครอบครัว เพื่อให้เกิดความสนุกและความสามัคคีกันในครอบครัว

          2.    พ่อแม่คือต้นแบบ พ่อแม่กินอย่างไร ลูกก็กินอย่างนั้นค่ะ อยากให้ลูกกินผักเยอะ พ่อแม่ก็ต้องกินด้วย และลดการปรุงอาหารด้วยน้ำมัน จะให้ดีไม่ควรซื้อน้ำมันเข้าบ้าน เพื่อเป็นการบังคับตัวเอง และเริ่มครีเอทว่าทำอาหารอะไรดี โดยที่ไม่ใช้น้ำมัน

          3.    อย่าตามใจถ้าลูกไม่ยอมกิน อย่าตื๊อหรือห่วงว่ามื้อต่อไปลูกจะหิว ควรปล่อยลูกค่ะ หรือควรจะให้แต่น้ำเปล่า ถ้ามื้อนี้ไม่กิน มื้อหน้าไม่กินอีก รับรองว่ามื้อถัดไปกินแน่นอนค่ะ เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์ไม่ปล่อยให้ตัวเองหิวหรือทรมานอยู่แล้ว และทำให้เด็กเรียนรู้เงื่อนไขของพ่อแม่ด้วยว่าพ่อแม่ให้อาหารลูกกินแบบไหน เมื่อไม่มีทางเลือกลูกก็จะยอมทำตามเองค่ะ

          4.    หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้ความสุข ซึ่งจะเน้นหวานมันเค็มกรอบ ซึ่งนานๆ กินก็อาจจะได้บ้าง แต่ควรมีเงื่อนไข เช่น ถ้าลูกยอมกินผัก ก็จะให้กินขนมรุบกรอบได้บ้างนิดหน่อย

          5.    อย่าลืมสังเกตค่ะว่าลูกชอบกินอาหารพวกผัก ธัญพืช หรืออาหารแคลอรี่ต่ำแบบไหน จะได้ทำให้ลูกกินบ่อยๆ และทำให้ลูกได้สารอาหารจำพวกผักไปในตัว

          ตอนนี้ลูกยังเล็ก การเสริมให้เขาได้กินถูกต้องก็เป็นการช่วยถนอมสุขภาพของลูกในระยะยาวให้มีร่างกายดีๆ ไว้ใช้ได้อีกนานๆ

                    เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

                     คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ฉบับเดือนสิงหาคม 2552


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ้วนตามแม่... หรือแม่ทำหนูอ้วน อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2552 เวลา 17:04:26
TOP