x close

วิธีรับมือ...เมื่อน้องอาละวาด!

 


วิธีรับมือ...เมื่อน้องอาละวาด! (ไทยรัฐ)

          เด็กๆในช่วงอายุ 1-3 ปี หรือที่บางคนเรียกว่า “วัยต่อต้าน” เพราะเมื่อเด็กวัยนี้รู้สึกคับข้องใจ โกรธ หรือผิดหวัง พวกเขามักแสดงออกโดยการร้องไห้ แผดเสียง หรือกระทืบเท้าไปมา ซึ่งบางครั้งทำให้ผู้ปกครองรู้สึกโกรธ หรืออับอาย และเหนื่อยใจไปตามๆ กัน อย่างไรก็ตาม การร้องอาละวาดเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กเพื่อที่จะเรียนรู้การควบคุมตนเอง และในความเป็นจริงเด็กเกือบทุกคนต้องมีภาวะนี้บ้างไม่มากก็น้อย

          พญ.สินดี จำเริญนุสิต กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า การแสดงออกเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการของเด็กวัยนี้ที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ เด็กจะเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเอง อยากรู้อยากเห็นในสิ่งแวดล้อมซึ่งแปลกใหม่บนโลกใบนี้  เด็กมีความต้องการที่จะควบคุมทุกอย่าง  ต้องการเป็นอิสระและพยายามที่จะทำอะไรที่เกินความสามารถของตนเอง ต้องการจะตัดสินใจเองและไม่อาจจะควบคุมตัวเองได้ดีพอ  ยิ่งถ้าเขาเหนื่อย หิว หงุดหงิดหรือกลัวด้วยแล้ว เขาก็ยังไม่สามารถที่จะจัดการตัวเองได้ 

          ดังนั้น การเรียนรู้ที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเองเป็นเรื่องยากสำหรับเขา การร้องอาละวาด จึงเป็นหนทางในการปลดปล่อยอารมณ์ของเด็ก ข่าวดีก็คือ อาการร้องอาละวาดมักหยุดไปเองหลังอายุ 4 ปี

          สาเหตุที่อาจทำให้เด็กมีพฤติกรรมเช่นนั้น
ได้แก่

           ข้อจำกัดเรื่องภาษา คือ ไม่เข้าใจสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือถามได้ทั้งหมด เด็กจึงสับสน เครียดเมื่อใครๆก็ไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่รู้จะบอกความรู้สึกของตนเองอย่างไร (หลังอายุ 3 ปี เด็กส่วนใหญ่สามารถบอกความรู้สึกได้ การร้องอาละวาดจึงค่อยๆลดลง ส่วนเด็กที่มีพัฒนาการทางภาษาช้า การร้องอาละวาดจึงอาจจะยังคงอยู่นานกว่า)

           ข้อจำกัดเรื่องพัฒนาการด้านอื่นๆ คือ ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเองทำให้หมดกำลังใจได้ง่าย ไม่สามารถทำในสิ่งที่ตนเองจินตนาการได้ เช่น เดิน วิ่ง ปีนป่าย วาดรูปหรือเล่นของเล่นที่ยากกว่าวัย

           ข้อจำกัดเรื่องสังคม
เป็นการแสดงปฎิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในบ้าน อิจฉาเพื่อนหรือพี่น้อง หรือต้องการได้ในสิ่งที่เด็กคนอื่นมี หรือเรียกร้องความสนใจ

           ข้อจำกัดเรื่องทางกายภาพ เด็กที่มีอาการเจ็บป่วยอยู่หิว / เหนื่อยหรือนอนไม่พอ / กังวลหรือไม่สบายตัว

         
จะป้องกันการร้องอาละวาดได้อย่างไร 

          พ่อแม่อาจจะไม่สามารถป้องกันการร้องอาละวาดได้ทุกครั้ง แต่สามารถลดโอกาสที่จะเกิดได้ โดย

            พยายามกระตุ้นให้เด็กพูด บอกความรู้สึก เช่น “หนูทนไม่ไหวแล้วนะ” เข้าใจความรู้สึกของเขาและแนะนำว่าควรพูดยังไง ตั้งกฎที่เหมาะสมในบ้านและอย่าไปคาดหวังว่าเด็กต้องทำได้สมบูรณ์ ให้เหตุผลง่ายๆว่าทำไมต้องมีกฎและพยายามอย่าไปเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ 

            พยายามทำกิจวัตรประจำวันให้เหมือนเดิมทุกวันเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เด็กคาดเดาต่อไปได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น 

            หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจกระตุ้นให้เด็กเกิดร้องอาละวาด เช่น การเล่นของเล่นที่ยากกว่าวัย 

            หลีกเลี่ยงการไปนอกสถานที่ที่กินเวลานานๆและต้องอยู่อย่างเป็นระเบียบ ถ้าต้องเดินทางไปไหนก็ให้พกหนังสือเล่มโปรดหรือของเล่นที่ชอบ  เตรียมของว่างที่มีประโยชน์เผื่อเวลาลูกหิวและแน่ใจว่าลูกได้พักผ่อนเต็มที่แล้ว ก่อนออกเดินทาง 

            เบี่ยงเบนความสนใจของเด็กจากกิจกรรมที่อาจนำไปสู่การร้องอาละวาด แนะนำกิจกรรมที่ต่างออกไป ถ้าเป็นไปได้พ่อแม่อาจต้องทำอะไรขบขันเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายขึ้น บางครั้งแค่เปลี่ยนสถานที่ก็ได้

            พยายามเลือกใช้คำอื่นแทนคำว่า “ไม่,อย่า” เพราะถ้าใช้บ่อยๆ เด็กก็จะหงุดหงิดได้ง่าย

            เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเองบ้าง

            เป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการกับอารมณ์ฅ

          รับมืออย่างไรดี เมื่อเด็กร้องอาละวาดไปแล้ว?

           เบี่ยงเบนความสนใจของเด็ก
เช่น กิจกรรมใหม่ หนังสือ ของเล่น  พยายามใช้คำพูดที่ละมุนละม่อม “อุ้ย แม่ได้ยินใครกดกริ่งที่ประตูแน่ะ” การทำหน้าตลกๆหรือทำให้เป็นเรื่องขบขันก็อาจช่วยได้ บางครั้งควรบอกเด็กด้วยว่าให้ไปทำอะไรแทน

           ใจเย็น ถ้าพ่อแม่ก็โมโห จะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง จำไว้ว่ายิ่งให้ความสนใจพฤติกรรมนี้มากเท่าไร มันก็จะยิ่งเกิดขึ้นบ่อยเท่านั้น

           การแสดงออกว่าโกรธที่ไม่รุนแรง เช่น ร้องไห้ กรีดร้อง เตะขา อาจเพิกเฉยได้ โดยยืนดูใกล้ๆหรือจับตัวเด็กไว้ โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรจนกว่าเด็กจะสงบ ถ้าคุณคิดว่าตัวเองไม่สามารถระงับอารมณ์ได้ให้เดินออกมาจากห้องนั้นก่อน รอประมาณ 1-2 นาที ก่อนเดินกลับเข้าไปหรือจนกว่าลูกจะหยุดร้อง จากนั้นพยายามช่วยให้เขาไปสนใจสิ่งอื่นแทน ถ้าเด็กโตพอที่จะเข้าใจก็ลองพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและวิธีแก้ไขในครั้งต่อไป

          การร้องอาละวาดที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้ 

          ได้แก่ ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น ทำร้ายข้าวของ กรีดร้องหรือตะโกนเป็นเวลานานมากๆ

           ใช้การขอเวลานอก คือ นำเด็กออกจากสถานที่เกิดเหตุ พาไปที่ที่เขาจะควบคุมตัวเองได้ ใช้สำหรับเด็กที่โตพอจะเข้าใจเหตุผล โดยให้เวลานอก 1 นาทีต่ออายุเป็นปี เช่น อายุ 4 ปี ให้ทำนาน 4 นาที เป็นต้น

           ไม่ควรทำโทษเด็กขณะร้องอาละวาด เพราะอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กเก็บความคับข้องใจไว้และมีปัญหาทางอารมณ์ต่อไป ควรตอบสนองกับพฤติกรรมร้องอาละวาดอย่างสงบและเข้าใจให้มากที่สุด เมื่อเด็กโตขึ้นเขาก็จะเรียนรู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตนเอง จำไว้ว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กที่จะทดสอบกฎของพ่อแม่ว่าจะเอาจริงหรือไม่

           พยายามอย่าใช้รางวัลเพื่อให้เด็กหยุดพฤติกรรม เพราะจะทำให้เด็กคิดว่าวิธีนี้ทำให้ตนเองได้ในสิ่งที่ต้องการ

           พ่อแม่ควรมีความเสมอต้นเสมอปลาย อย่าไปแสดงท่าทางลังเลกับคำสั่งของเราเอง เพราะจะยิ่งทำให้เด็กสับสนว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้

            ก่อนจะตั้งกฎอะไร พ่อแม่ต้องมั่นใจด้วยว่าตนเองมีเวลาในแต่ละวันที่ได้สนุกสนานกับลูก  และไม่ควรตั้งกฎไว้มากจนเกินไป ทุกคนในบ้านก็ต้องหนักแน่นกับกฎนั้น ปฏิบัติต่อเด็กให้เหมือนกัน

          เมื่อไรการร้องอาละวาดนั้นน่าเป็นห่วง?

          โดยทั่วไปเด็กจะลดการร้องอาละวาดลงเองเมื่อเข้าขวบปีที่ 4  โดยที่พฤติกรรมอื่นๆก็ดูสมวัยดี แต่ถ้าการร้องอาละวาดนั้นดูรุนแรงมากหรือเกิดขึ้นถี่เกินไปอาจเป็นสัญญาณต้นๆของปัญหาทางอารมณ์

          ปรึกษากุมารแพทย์เมื่อไร เพื่ออะไร?

          เมื่อเด็กทำร้ายตนเองหรือคนอื่นขณะที่กำลังร้องอาละวาด หรือแย่ลงหลังอายุ 4 ปี เพื่อดูว่าเด็กมีปัญหาทางกายภาพหรือจิตใจแอบแฝงอยู่หรือไม่


เรื่องราวผู้หญิง ความสวยงาม แฟชั่น ความรัก มากมาย คลิกเลย

 คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย คลินิกกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลเวชธานี







เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีรับมือ...เมื่อน้องอาละวาด! อัปเดตล่าสุด 14 กันยายน 2552 เวลา 16:22:32
TOP