x close

สอนหนูมีสมาธิดี



สอนหนูมีสมาธิดี
(รักลูก)

         เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้ดีหรือไม่นั้นส่วนหนึ่งก็มาจากการมีสมาธิที่ดีของเขา โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้เจ้าตัวเล็กมีสมาธิได้ตั้งเล็ก ๆ เลยนะคะ ซึ่งก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรเลยค่ะ

เจ้าตัวเล็กกับนิยามสมาธิ

         "สมาธิ" ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่จะจับเจ้าตัวเล็กมานั่งนิ่ง ๆ หรอกนะคะ แต่คือความสามารถของลูกในการทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้ลุล่วงไปได้ มีใจจดจ่อมุ่งมั่นที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้ลุล่วงได้ดีตามวัย

         ยิ่งลูกอายุน้อยก็ยิ่งต้องใช้เวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลง เพราะวัย 1-3 ปี มีความสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งแวดล้อมมากเป็นปกติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น หากว่าเขาจะวิ่งเล่น สังเกตสิ่งแวดล้อมตลอดเวลา ซนบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาค่ะ

สมาธิดี ย่อมเรียนรู้ได้ดี

         เด็ก ๆ สามารถเรียนรู้ผ่านการเล่นค่ะ และบางครั้งการเล่นบางอย่างก็ส่งเสริมสมาธิให้กับเขาได้ เช่น เมื่อเด็กๆ สามารถต่อบล็อกได้หลายๆ ชั้น เขาก็จะมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จ หรือถ้าบล็อกล้มก็สามารถต่อใหม่ได้อีก

         ซึ่งการมีสมาธิจะทำให้ลูกอยู่ในภาวะที่สงบ ส่งผลให้การทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยเฉพาะเมื่อถึงวัยที่จะต้องไปโรงเรียน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องค่อยๆ สอน ให้ลูกได้เรียนรู้ทีละน้อย และพูดคุยกับเขาบ่อย ๆ ค่ะ

เตรียมความพร้อมฝึกสมาธิให้ลูก

         ลองมาดูกันนะคะว่าคุณพ่อคุณแม่จะมีวิธีฝึกสมาธิให้ลูกอย่างไรบ้าง

         1.คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเวลา ซึ่งถือเป็นพื้นฐานความผูกพันของเจ้าตัวเล็กกับคุณพ่อคุณแม่ เพราะว่าลูกก็ต้องการที่จะอยู่ใกล้ชิดและทำอะไรร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งลูกก็จะเชื่อฟังและปฏิบัติตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอน

         2.สอนทุกสถานการณ์ เด็กชอบเรียนรู้ด้วยการเล่นและการเลียนแบบ โดยเฉพาะการเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ เนื่องจากลูกๆ มักจะเห็นพ่อแม่เป็นฮีโร่เสมอ ดังนั้น ไม่ว่าลูกจะทำอะไรเราสามารถฝึกและสอนเขาได้ค่ะ

         3.ช่วยลูกจัดการอารมณ์ เนื่องจากเด็กวัยนี้อาจจะมีอารมณ์รุนแรงเอาแต่ใจตัวเอง อยากรู้อยากเห็น เนื่องจากเป็นพัฒนาการตามวัยของเขา เพราะฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้เขาได้เล่นอย่างปลอดภัย ซึ่งลูกจะรู้สึกสนุกสนาน และเรียนรู้ได้อย่างมีสมาธิ แต่เราก็ต้องสอนให้เขารู้จักจัดการอารมณ์ตัวเองด้วยนะคะ เพราะเมื่อลูกรู้จักการอารมณ์ตัวเองได้ ก็จะเกิดสมาธิและความสงบ เช่น การร้องเพลง การกอดลูก การให้นมลูก

         หรือการทำกิจกรรมบางอย่างหากไม่อันตรายจนเกินไป ก็ควรปล่อยให้ลูกได้ทำกิจกรรมเหล่านั้นด้วยตนเองบ้าง เช่น ให้ลูกหัดกรอกน้ำใส่ขวด อาจจะเลอะเทอะบ้าง แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำ ลูกก็จะเกิดความเชื่อมั่นว่าทำได้ มีความพยายามที่จะทำต่อไป ซึ่งในขณะที่ลูกกำลังตั้งใจอยู่นั้น ลูกก็จะสงบลงด้วย

         4.หาผู้ช่วย โดยเฉพาะในเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถอยู่กับลูกได้ เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย หรือพี่เลี้ยงที่คอยอยู่เป็นเพื่อนเล่น คอยสอนลูกให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเล่นต่อบล็อกก็จะทำให้เขามีสมาธิได้

กิจกรรมนำสู่สมาธิ

         การจะหากิจกรรมที่ทำให้ลูกมีใจจดจ่อและมีสมาธิกับสิ่งที่ลูกทำได้นั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัยของลูกด้วยค่ะ เพราะเด็กวัยนี้มักไม่ค่อยอยู่นิ่ง สนใจสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่นานนัก โดยกิจกรรมที่ช่วยทำให้ลูกมีสมาธินั้นมีมากมาย เช่น

         1.เล่านิทานส่งเสริมจินตนาการและสมาธิ การอ่านหนังสือหรือการเล่านิทานจะช่วยให้เด็กอยู่นิ่ง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นนิทานก่อนนอนหรือเรื่องเล่าระหว่างวันของคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็ต้องระวังเรื่องของอารมณ์และการมีส่วนร่วมของลูกด้วยนะคะ โดยต้องสังเกตด้วยว่าเจ้าตัวเล็กพร้อมจะฟังเรื่องเล่าจากเราหรือไม่

         2.สัตว์เลี้ยง เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยค่ะโดยเฉพาะการเลี้ยงปลา เพราะเด็กมักจะจ้องและสนใจปลาในอ่างเลี้ยงปลาหรือที่เลี้ยงในตู้

         3.ธรรมชาติ เป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ลูกเกิดสมาธิได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ ฯลฯ ล้วนสามารถสอนให้ลูกเรียนรู้ได้ตลอดเวลา โดยคุณพ่ออาจจะชวนลูกปลูกต้นไม้สักต้น ให้เขาได้เรียนรู้ถึงขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การขุดหลุม การเพาะเมล็ด รดน้ำ พรวนดิน การจดจ่อเฝ้าคอยการเติบโตของต้นไม้แต่ละต้น ซึ่งนอกจากจะปลูกฝังเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ความอ่อนโยน และสมาธิแล้ว ยังได้ฝึกการรอคอยด้วยค่ะ เพราะกว่าต้นไม้แต่ละต้นจะงอกเงยแตกกิ่งก้านสาขาออกมาแต่ละใบ เขาคงจะลุ้นอยู่ไม่น้อยเลยค่ะ

         4.ของเล่นและเกม เช่น จิ๊กซอว์ ตัวต่อ บล็อกไม้ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สุดฮิตที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนชอบเอามาให้เจ้าตัวเล็กเล่น เพื่อฝึกสมาธิ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเล่นกับลูกด้วยนะคะ เพื่อให้เขาได้รู้จักการมีส่วนร่วม ปฏิสัมพันธ์ และความภาคภูมิใจจากคำชมของคุณพ่อคุณแม่ หลังจากที่เขาสามารถทำได้สำเร็จ

         5.ฝึกสมาธิผ่านงานบ้านง่าย ๆ เช่น หากเจ้าตัวเล็กอยากช่วยคุณแม่เช็ดโต๊ะ ก็ต้องบอกกับลูกนะคะว่าต้องทำอย่างไร ทำแบบไหนจึงจะสะอาด เช็ดไปทางไหน ลูกก็จะมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ และเมื่อทำเสร็จแล้วเขาก็จะเกิดความภูมิใจค่ะ แต่ก็ต้องไม่กำกับลูกมากเกินไปนะคะ เพราะเขาอาจจะเบื่อหน่ายได้

         6.ดนตรีและการเคลื่อนไหว ใครว่าการเคลื่อนไหวเป็นสมาธิไม่ได้ การร้องรำทำเพลงและทำท่าประกอบไปด้วย สามารถดึงดูดความสนใจของลูกได้อย่างดีทีเดียว นอกจากจะได้ฝึกประสาทสัมผัสแล้ว ลูกยังได้เรียนรู้เนื้อเพลง ทำนอง จังหวะและเรื่องของปฏิสัมพันธ์ด้วยค่ะ

         7.ฝึกสมาธิผ่านกิจวัตรประจำวัน เด็กวัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง พ่อแม่ทำอะไรให้เป็นต้องขัดใจเสียหมด และมักอยากทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นข้อดีของพัฒนาการตามวัยที่ลูกจะได้ฝึกสมาธิจากการทำกิจวัตรนั้น เช่น การติดกระดุมเสื้อ การตักข้าวทาน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะแนะนำขณะที่ลูกกำลังปฏิบัติว่า ต้องติดกระดุมอย่างไรให้ตรง หรือทำอย่างไรดีถึงจะตักข้าวแล้วไม่หก เป็นต้น

         8.สวดมนต์และท่องอาขยาน บางบ้านที่มีคุณย่าคุณยายช่วยเลี้ยงมักจะซึมซับเรื่องของบทอาขยานหรือการสวดมนต์ โดยเฉพาะหากคุณพ่อคุณแม่ชวนลูกไหว้พระก่อนนอน ซึ่งนอกจากจะได้ความสงบนิ่งแล้ว เจ้าตัวเล็กยังจะได้ซึมซับศีลธรรมจรรยามารยาทอีกด้วย

         เห็นไหมคะว่าการฝึกสมาธิให้ลูกวัยซน ไม่ใช่เรื่องยากเย็นจนไม่สามารถทำได้ ลองเลือกวิธีที่เหมาะกับลูกน้อยและบริบทของครอบครัว เพื่อให้ลูกมีสมาธิดี ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ดีของลูกกันนะคะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 29 ฉบับที่ 346 พฤศจิกายน 2554


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สอนหนูมีสมาธิดี อัปเดตล่าสุด 19 ธันวาคม 2554 เวลา 15:44:41 3,937 อ่าน
TOP