x close

จุลินทรีย์ "L.GG" ผู้ช่วยป้องกัน "โรคทางเดินอาหาร" สำหรับลูกน้อย

จุลินทรีย์ Lactobacillus rhamnosus

          ลูกน้อยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหาร ท้องร่วง หรือท้องเสียบ่อย ๆ คุณแม่คนไหนที่กำลังหาวิธีป้องกัน มาทำความรู้จักกับจุลินทรีย์สายพันธุ์ L.GG กันเลยค่ะ

          จุลินทรีย์ Lactobacillus rhamnosusหรือ "L.GG" ปัจจุบันมีผลการศึกษาทางการแพทย์อย่างกว้างขวาง ผู้ที่นำเสนอ Lactobacillus rhamnosusสายพันธุ์ L.GG ให้เป็นที่รู้จักจุลินทรีย์สายพันธุ์นี้คือ Sherwood Gorbachและ Barry Goldin ทั้งสองท่านได้ค้นพบคุณสมบัติของโพรไบโอติกส์โดยพบว่า Lactobacillus G.G., strain ATCC 53103 มีคุณสมบัติดีต่อสุขภาพ จึงจดทะเบียนในนามของ L.GG ตามพยัญชนะตัวแรกของนามสกุลของเขาทั้งสอง ในปี พ.ศ. 2528 ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีนักวิจัยนำไปศึกษามากที่สุด มีรายงานผลมากกว่า 400 งานวิจัย

L. Rhamnosus GG หรือ "L.GG" มีคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ


         เป็นจุลินทรีย์ที่แยกจากลำไส้ของมนุษย์

         ทนต่อการถูกทำลายด้วยกรดที่กระเพาะและด่างที่ลำไส้เล็ก

         สามารถปล่อยสารออกมาฆ่าเชื้อดื้อยา ลดจำนวนจุลินทรีย์ก่อโรคและหรือจุลินทรีย์ฉวยโอกาสก่อโรคในโพรงลำไส้

         สามารถเกาะติดกับเยื่อบุลำไส้เหนือกว่าจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์สายพันธุ์อื่น

         สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนปูพรมเป็นกำแพงป้องกันผิวเยื่อบุลำไส้  

          L.GG ทำงานตรงตำแหน่งที่ผิวของลำไส้เล็กนี้เหมาะสมอย่างยิ่งเพราะใต้ผิวเยื่อบุลำไส้มี Gut Associated Lymphoid Tissue, GALT มีเซลล์ภูมิคุ้มกันอยู่ที่นี่ถึงร้อยละ 80 จึงเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เหมือนเป็นศูนย์บัญชาการของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ร่างกายได้จัด GALT ของระบบป้องกันไว้ที่ใต้เยื่อบุลำไส้ ทั้งนี้เพราะเชื้อโรคส่วนใหญ่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวเยื่อบุลำไส้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีจุลินทรีย์ปกป้องที่ผิวเยื่อบุและเซลล์เนื้อเยื่อน้ำเหลืองรับรู้ว่ามีอะไรแปลกปลอม ที่ร่างกายต้องกำจัดด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันตอบสนองขึ้นมาทำลาย L.GG ทำงานโดยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตื่นตัว ทำการระแวดระวังโดยกระตุ้นภูมิคุ้มกันและสร้างชั้นเคมีเป็นเกราะป้องกันร่างกายจากเชื้อที่เป็นอันตรายไม่ให้รุกล้ำเข้าเยื่อบุลำไส้

จุลินทรีย์ Lactobacillus rhamnosus

          หากเชื้อมีสารพิษทำให้เซลล์บาดเจ็บ ย่อย และดูดซึมอาหารไม่ได้ดี จุลินทรีย์ L.GG จะปล่อยสารเคมีสื่อสารกับเซลล์ที่บาดเจ็บให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น เช่น กรณีเกิดการติดเชื้อไวรัสโรต้า เกิดอาการอุจจาระร่วง จึงหายได้เร็วขึ้น หรือกรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพสูงหลาย ๆ วัน ยาจะทำลายเชื้อกลุ่มโพรไบโอติกส์ และเชื้อฉวยโอกาสก่อโรค เช่น Clostridium difficille ซึ่งปล่อยสารพิษทำให้ลำไส้อักเสบเกิดอุจจาระร่วง (antibiotic associated diarrhea) L.GG สามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อฉวยโอกาสก่อโรค Clostridiun difficile ลงได้ เนื่องจากโรคอุจจาระร่วงเป็นโรคที่พบบ่อยในทารกและเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ประมาณว่าเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีเป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 2 ครั้งต่อคนต่อปี ร้อยละ 40-50 มีสาเหตุจากไวรัสโรต้า

          ในด้านการรักษาและป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน มีรายงาน 17 ชิ้นพิสูจน์ว่าทำให้โรคอุจจาระร่วงที่มีสาเหตุจากโรต้าไวรัสหายเร็วขึ้นประมาณ 1 วัน และอุจจาระร่วงสาเหตุจากแบคทีเรียทั้งเด็กและผู้ใหญ่หายเร็วขึ้น

          ในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ได้แก่ ให้โรต้าวัคซีนในทารกอายุน้อยกว่า 6 เดือน และให้นมเสริม L.GG ในทารกอายุมากกว่า 6 เดือนที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้



เรียบเรียงโดย ศ. เกียรติคุณ พญ. วันดี วราวิทย์



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
จุลินทรีย์ "L.GG" ผู้ช่วยป้องกัน "โรคทางเดินอาหาร" สำหรับลูกน้อย โพสต์เมื่อ 9 พฤศจิกายน 2558 เวลา 11:55:42 3,221 อ่าน
TOP