x close

พัฒนาทักษะลูกน้อยได้ แม้ไม่มีเวลาพาลูกไปเที่ยวเล่น (เปลี่ยนบ้านเป็นสนามเด็กเล่นและสถานเรียนรู้)



           คุณแม่สมัยใหม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน ถึงแม้จะไม่ค่อยมีเวลาพาลูกไปไหน แต่การทำกิจกรรมในบ้านร่วมกับลูกโดยการเปลี่ยนบ้านให้เป็นสนามเด็กเล่น ก็ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของลูกได้แล้วล่ะค่ะ

           ช่วงแรกเกิด-6 ปี เป็นวัยที่เด็กมีพัฒนาการทางสมองสูงที่สุด สมองจะมีการเจริญเติบโต 90% เกือบเท่าผู้ใหญ่ นับเป็นช่วงเวลาทองที่คุณพ่อคุณแม่จะพัฒนาศักยภาพสมองของลูกอย่างเต็มที่ ซึ่งนอกจากการให้ลูกได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อการเจริญเติบโตสมวัยแล้ว การบูรณาการประสาทสัมผัสทั้ง 7 เข้าด้วยกันก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการช่วยพัฒนาศักยภาพสมองของลูกได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่นี้ได้ดีที่สุดก็คือตัวคุณพ่อคุณแม่เองค่ะ แต่ทั้งนี้จะทำอย่างไรดี ? ถ้าหากต้องทำแต่งานตลอดทั้งสัปดาห์ จนไม่มีเวลาพาลูกไปไหน ดังนั้นจึงขอแนะนำให้คุณแม่ทั้งหลายลองเปลี่ยนบ้านเป็นสนามเด็กเล่นและสถานเรียนรู้ดูสิคะ เชื่อว่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับทั้งคุณแม่และคุณลูกได้อย่างแน่นอน

วิธีฝึกลูกน้อยให้เป็นอัจฉริยะผ่านสัมผัสทั้ง 7

           ดร. วสุนันท์ ชุ่มเชื้อ หัวหน้าหน่วยวิจัยคลินิกคอกนิทีฟ ศูนย์วิจัยวิชาการด้านพัฒนาการมนุษย์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำแนะนำว่า เด็กจะเรียนรู้สิ่งรอบตัว ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 7 เพราะฉะนั้น เด็กในวัยนี้จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมในประสาทสัมผัสแต่ละด้าน ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องของการรับรู้ต่อสิ่งเร้า การส่งข้อมูล ประมวลผล และการตอบสนอง โดยอาจารย์แนะนำเคล็ดลับการฝึกลูกน้อยให้เป็นอัจฉริยะผ่านสัมผัสทั้ง 7 ไว้ดังนี้



           1. การสัมผัส การรับรู้ด้านนี้เกิดขึ้นจากการที่ตัวรับสัมผัสที่อยู่ทั่วร่างกายทำงานเมื่อได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าที่มีความแตกต่างกัน เช่น ความร้อน เย็น แข็ง นุ่ม คุณแม่สามารถส่งเสริมการรับรู้ด้านนี้ให้ลูกด้วยการให้เขาได้จับต้องวัตถุที่มีผิวสัมผัสต่างกัน การให้เขาจับผ้าชนิดต่าง ๆ การอาบน้ำด้วยกัน ก็เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมประสาทการสัมผัสนี้ทั้งสิ้น



           2. การมองเห็น เป็นสิ่งสำคัญมากในการเรียนรู้ เช่น การอ่าน, การเขียน, การนับจำนวน และการเรียนรู้อื่น ๆ เช่น เล่นเกมหาภาพที่ซ่อนอยู่ในภาพ จับคู่ภาพหรือสิ่งของ เปรียบเทียบความเหมือนความต่างของภาพช่วยเสริมพัฒนาการด้านนี้ได้ค่ะ และการเล่านิทานที่มีภาพประกอบก็เป็นกิจกรรมที่พัฒนาศักยภาพเด็กในเรื่องการมองเห็นได้เช่นกันค่ะ



           3. การฟัง ความสามารถในการรับรู้เสียง เป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ การสื่อสาร และช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ การฝึกให้ลูกฟังเสียง จับคู่เสียงที่เหมือนกัน กิจกรรมเคลื่อนไหวตามเสียงหรือจังหวะการปรบมือ จะช่วยให้ลูกมีประสาทสัมผัสด้านการฟังที่ดี นอกจากนี้เสียงจากพ่อและแม่ที่มีโทนเสียงที่แตกต่างกันก็สามารถส่งเสริมประสาทการฟังให้กับลูกน้อยได้เช่นกัน โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถที่จะผลัดกันเล่านิทานให้ลูกฟังได้ วิธีนี่เป็นการกระตุ้นให้ลูกฝึกการฟังอย่างตั้งใจด้วยค่ะ



           4. การรับรส การรับรู้รสเป็นการรับรู้ที่มีผลต่อความสุขและคุณภาพชีวิต และยังสามารถป้องกันอันตราย เช่น การเตือนถึงสิ่งเป็นพิษที่เราอาจจะกินเข้าไป ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้การชิมรสอาหารที่หลากหลายทั้งหวาน เค็ม เปรี้ยว ขม แล้วพูดคุยเกี่ยวกับอาหารและรสชาติ รวมถึงการหมั่นให้ลูกเป็นผู้ช่วยตัวน้อยในการทำอาหาร และสอดแทรกเรื่องรสชาติของวัตถุดิบแต่ละตัว ก็เป็นการส่งเสริมประสาทการรับรสของลูกเช่นกัน



           5. การรับรู้กลิ่น ความไวต่อกลิ่น และทิศทางของกลิ่น นอกจากจะส่งผลต่อความรู้สึกเป็นสุขแล้วยังช่วยในการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์ที่อันตราย เช่น การได้กลิ่นควัน การฝึกทักษะด้านนี้ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการให้ลูกดมกลิ่นต่าง ๆ เช่น กลิ่นดอกไม้, สมุนไพร แล้วปิดตาดมกลิ่นให้ทายว่าเป็นกลิ่นอะไร



           6. การทรงตัว มีการค้นพบว่าระบบการเคลื่อนไหวและการทรงตัวเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยในการประสานการทำงานส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเข้าด้วยกัน ซึ่งประสาทสัมผัสนี้เองที่ช่วยให้เรารับรู้ได้ถึงความเร็วเวลาเรานั่งอยู่ในรถไฟเหาะในสวนสนุก แม้เราจะหลับตา รวมถึงกิจกรรมการเคลื่อนไหวในทิศทางต่าง ๆ เช่น การกระโดด การนอนกลิ้ง การยืนบนกระดานทรงตัว และการขี่จักรยาน ก็สามารถช่วยเพิ่มทักษะด้านนี้ได้



           7. การรับรู้ตำแหน่งบนร่างกาย เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะจะช่วยให้สามารถควบคุมและวางแผนการเคลื่อนไหวได้ดี ทำให้เราสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น สามารถขึ้นบันไดได้โดยไม่ต้องมอง  รวมไปถึงการกำหนดแรงกล้ามเนื้อหนักเบา ซึ่งกิจกรรมที่จะช่วยเสริมทักษะด้านนี้ ได้แก่ การกระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง การคลาน การผลักลูกบอล การตอกไข่ใส่ชาม เป็นต้น

           ในบ้านไม่จำเป็นต้องมีของเล่นมากมาย พ่อแม่เพียงแค่ใช้กิจกรรมง่าย ๆ ในบ้าน ในการส่งเสริมให้เด็กได้บูรณาการประสาทสัมผัสทั้ง 7 จะช่วยให้เด็กมีความสามารถหลากหลาย มีความริเริ่มสร้างสรรค์ พร้อมเรียนรู้ นำไปสู่การปลดปล่อยอัจฉริยภาพในตัวเขาออกมาได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้คุณแม่สามารถสร้างพัฒนาการให้กับลูกน้อยเองได้แบบง่าย ๆ ถึงแม้จะไม่ค่อยมีเวลาพาลูกออกไปเที่ยวเล่นที่ไหนก็ตามทีค่ะ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พัฒนาทักษะลูกน้อยได้ แม้ไม่มีเวลาพาลูกไปเที่ยวเล่น (เปลี่ยนบ้านเป็นสนามเด็กเล่นและสถานเรียนรู้) อัปเดตล่าสุด 23 เมษายน 2558 เวลา 14:09:57
TOP