x close

หมอเด็กเตือน อย่าให้ทารกดื่มน้ำคลอโรฟิลล์ อันตรายถึงตาย


หมอเด็กเตือน อย่าให้ทารกดื่มน้ำคลอโรฟิลล์ อันตรายถึงตาย
หมอเด็กเตือน อย่าให้ทารกดื่มน้ำคลอโรฟิลล์ อันตรายถึงตาย

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

            หมอเด็กเตือนอย่าหลงเชื่อรูปโฆษณา ให้ทารกดื่มน้ำคอโรฟิลล์ ชี้เป็นอันตรายต่อเด็ก พร้อมแนะวิธีให้อาหารทารกตามช่วงวัย

            วานนี้ (18 พฤศจิกายน 2557) พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ" ถึงกรณีมีชาวเน็ตส่งภาพของหญิงสาวรายหนึ่ง ที่ถ่ายภาพขณะให้เด็กทารกเพิ่งคลอดได้ 7 วัน น้ำหนัก 5 กิโลกรัม ดูดน้ำคลอโรฟิลล์ โดยอ้างว่าแม่เด็กดื่มมาตั้งแต่ตอนท้อง และเมื่อคลอดก็ให้ลูกดื่มต่อ โดย พญ.สุธีรา ได้แสดงความเป็นห่วงถึงคุณแม่ทั้งหลาย อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาโพสต์ขายของที่หลอกลวงเช่นนี้ พร้อมชี้ว่าการที่เด็กมีน้ำหนัก 5 กิโลกรัมนั้นไม่ใช่เด็กปกติ เด็กอาจมีโรคแทรกซ้อน พร้อมย้ำว่าการให้ทารกดื่มน้ำอื่น ๆ ที่ไม่ใช่นมแม่ หรือ นมผงสำหรับทารก จะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

โดยระบุข้อความดังนี้

            "#คุณหมอจ่าพิชิตเป็นห่วงเด็ก ๆ ส่งรูปนี้มาเตือนใจค่ะ

            ป้าหมอขอขอบคุณ คุณหมอจ่าพิชิต ขจัดพาลชน ที่กรุณาส่งรูปผู้หญิงคนหนึ่งในโซเชียลมีเดียกำลังเอาน้ำที่เจ้าตัวบอกว่าชื่อน้ำคลอโรฟิลล์ ให้เด็กทารกกิน ด้วยความเป็นห่วงว่า ในปัจจุบันมีการโพสต์ขายของมากมาย โดยไม่มีการกลั่นกรอง หากผู้ไม่ทราบ หลงใช้ตามโฆษณา ก็จะเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ค่ะ

            ทารกแรกเกิดหนัก 5 กก. ไม่ใช่เด็กปกตินะคะ ไม่ใช่สิ่งที่น่าชื่นชมหรือเลียนแบบ อาจเกิดจากการที่คุณแม่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือเด็กอาจเป็นโรคผิดปกติบางอย่างที่ทำให้มีปัญหาน้ำตาลในเลือดต่ำ มีผลกับสมองตามมา หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง และ การให้ทารกกินน้ำอื่น ๆ ที่ไม่ใช่นมแม่ หรือนมผงสำหรับทารกที่ได้รับการเตรียมอย่างถูกสัดส่วนและสะอาด จะเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เช่น เกิดภาวะน้ำเกินหรือน้ำเป็นพิษจนสมองบวม ท้องร่วงจากติดเชื้อ เกิดอาการแพ้รุนแรง

            ต่อไปนี้คือ วิธีให้อาหารตามวัยที่ถูกต้อง ใช้ได้ทั้งกรณีนมแม่และนมผง

            คำถามจากคุณแม่แฟนเพจเกี่ยวกับวิธีให้อาหารตามวัย  >>>>> ลูกของคุณแม่สามเดือนกว่าแล้วค่ะ คุณแม่ให้นมแม่อยู่ และกำลังคิดว่าอาจเริ่มให้อาหารอ่อน ๆ ประเภทกล้วยบดหรือว่าข้าวบด แต่เคยได้ยินมาว่าควรให้เมื่อลูกสี่เดือนขึ้นไป ไม่อย่างนั้นอาจไม่ดีต่อกระเพาะอาหารเล็ก ๆ จึงอยากสอบถามคุณแม่ว่าสามารถเริ่มให้ได้เลยหรือยังคะ และถ้าเริ่มได้ควรเริ่มจากอะไรก่อนดีคะ"

            ป้าหมอ  >>>>  ทำไมจึงไม่ควรให้ทารกกินอาหารอื่นที่ไม่ใช่นม ก่อนอายุ 6 เดือน

            เมื่อ 10 ปีก่อน แนะนำให้เริ่มอาหารตามวัยหลัง 4 เดือน แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น 6 เดือนแล้วค่ะ โดยมีงานวิจัยมากมายสนับสนุนคำแนะนำดังกล่าว แต่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่ง และหนังสือคู่มือเลี้ยงลูกหลาย ๆ เล่ม ยังไม่ทราบข้อมูลใหม่เหล่านี้

            ต่อไปนี้ คือ หน่วยงานที่แนะนำว่า ทารกควรกินนมแม่อย่างเดียว หรือ กินนมผงบวกน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก

            *องค์การอนามัยโลก *ยูนิเซฟ *สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา *คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติออสเตรเลีย *คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติแคนาดา

            เพราะว่าทารกส่วนใหญ่จะมีความพร้อมทั้งด้านพัฒนาการและร่างกายในการกินอาหารอื่นที่ไม่ใช่นมแม่ หรือ นมผง เมื่ออายุประมาณ 6-9 เดือน บางงานวิจัยกล่าวว่าเด็กบางคนควรเริ่มกินอาหารตามวัยช้ากว่าคนอื่นด้วยซ้ำไป เช่น คนที่มีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว อาจเริ่มที่อายุ 12 เดือน หรือเป็นเด็กคลอดก่อนกำหนด

            #ข้อดีของการเริ่มอาหารหลังอายุ 6 เดือน

            ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วย เพราะได้รับภูมิต้านทานจากนมแม่เต็มที่ มากกว่า 50 ชนิด และยังมีอีกมากมายที่ยังไม่รูัจัก การศึกษาหนึ่งพบว่าเด็กที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวใน 4 เดือนแรก พบปัญหาโรคหูชั้นกลางอักเสบน้อยกว่ากลุ่มที่เริ่มอาหารตามวัยเร็ว โดยลดลงถึง 40% และมีปัญหาโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจลดลงอย่างชัดเจน

            ไม่ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานหนักเกินไป ถ้าเริ่มเร็วเกินไป อาจมีปัญหา ท้องอืด ท้องผูก น้ำย่อยโปรตีนยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ย่อยโปรตีนได้ไม่เต็มที่ น้ำย่อยคาร์โบไฮเดรตยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะอายุ 6-7 เดือน น้ำย่อยไขมันยังไม่สมบูรณ์จนกว่าจะอายุ 6-9 เดือน

            ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคแพ้อาหาร งานวิจัยพบว่า ยิ่งให้นมแม่นาน ยิ่งลดความเสี่ยงของโรคแพ้อาหาร เพราะว่าก่อน 6 เดือน เซลล์เยื่อบุลำไส้ยังอยู่กันแบบหลวม ๆ (open) เพื่อให้ภูมิคุ้มกันจากนมแม่ผ่านเข้าไปตามช่องว่างดังกล่าวเข้าไปอยู่ในเลือดของลูก ช่วยป้องกันการติดเชื้อโรค แต่หากมีการให้อาหารแปลกปลอมอื่นเข้าไป สารแปลกปลอมก็จะเล็ดลอดเข้าไปกระตุ้นให้ร่างกายทารกสร้างสารต่อต้าน จนเกิดปัญหาแพ้อาหารตามมาได้ หลัง 6 เดือนเซลล์เยื่อบุลำไส้จะอยู่กันชิด ๆ แล้ว (close) ความเสี่ยงจึงลดลง

            ลดความเสี่ยงปัญหาขาดธาตุเหล็ก การให้อาหารอื่นก่อนอายุ 6 เดือน จะทำให้ลำไส้ดูดซึมธาตุเหล็กจากนมได้น้อยลง งานวิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับอาหารอื่นก่อน 6 เดือน จะมีปัญหาซีดจากขาดธาตุเหล็กที่อายุ 1 ขวบมากกว่า และเมื่อเริ่มอาหารเสริมแล้ว อย่าลืมให้กินอาหารที่มีธาตุเหล็กเป็นประจำ จะได้ไม่ซีด อีกปัจจัยหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงของโรคซีดหลัง 6 เดือน คือ ตอนคลอดควรรีดเลือดจากสายสะดือเข้ามาทางลูก ถึงแม้จะเพิ่มปัญหาตัวเหลืองขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่มีความสำคัญอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

            ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนเมื่อโตขึ้น

            ช่วยให้แม่ผลิตน้ำนมได้เต็มที่ เพราะหากกินอาหารตามวัย จะทำให้เด็กกินนมแม่ลดลง แม่จะสร้างน้ำนมลดลง พบว่าเด็กที่เริ่มอาหารตามวัยเร็วก่อน 6 เดือน มีแนวโน้มหย่านมแม่เร็วขึ้น

            ลูกมีปัญหาการกินน้อยกว่ากลุ่มที่เริ่มอาหารตามวัยก่อน 6 เดือน เพราะลูกมีความพร้อมมากกว่า อย่าเชื่อคำขู่ว่า ถ้าไม่เริ่มเร็ว ๆ ลูกจะกินข้าวยาก เพราะเริ่มเร็วเริ่มช้ากว่า 6 เดือน ก็มีปัญหากินข้าวยากได้ทั้ง 2 กลุ่ม ทั้งเด็กที่กินนมแม่หรือนมผง ก็เจอปัญหากินข้าวยากทั้ง 2 กลุ่ม และข้อเท็จจริง คือ กลุ่มที่เริ่มเร็วกว่า 6 เดือน (เพราะน้ำย่อยและการเคลื่อนไหวของลำไส้ยังไม่พร้อม) และ กลุ่มนมผง (เพราะเด็กนมแม่ รสชาตินมแม่จะแปรเปลี่ยนไปตามอาหารที่แม่กิน จึงทำให้เด็กคุ้นเคยกับรสชาติอาหารมากกว่า แต่นมผง รสชาติจะคงเดิมตลอด) จะมีปัญหากินข้าวยากมากกว่าค่ะ

            ลูกใครที่กินก่อน 6 เดือน แล้วไม่มีปัญหาอะไร ก็ถือว่าโชคดีไปค่ะ เช่น ให้กินกล้วยตั้งแต่ 1 เดือน ลูกก็ไม่เห็นเป็นไร กระเพาะอาหารก็ไม่เห็นแตกเหมือนกับที่เป็นข่าว ก็เหมือนกับการรัดเข็มขัดนิรภัยที่บางคนไม่รัด ก็ยังอยู่รอดปลอดภัยดีอยู่ แต่ผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวนั้นมีแน่ ๆ ค่ะ เช่น แทนที่ลูกจะได้กินนมแม่มาก ๆ ซึ่งมีสารบำรุงสมอง สารต้านเชื้อโรค สารต้านมะเร็ง ก็ต้องเสียพื้นที่ไปในการกินกล้วยซึ่งไม่มีสารเหล่านี้ และ งานวิจัยพบว่า การเริ่มกินสิ่งอื่นก่อน 6 เดือน จะเป็นสาเหตุทำให้หย่านมแม่ก่อนเวลาอันควรด้วยค่ะ ถ้าเราอยากให้ลูกกินนมแม่ไปได้นาน ๆ ก็ไม่ควรเริ่มอาหารอื่นก่อน 6 เดือนนะคะ

            #วิธีการให้อาหารตามวัย

            ให้เริ่มด้วยข้าวกล้อง (บางคนแพ้ข้าวกล้อง กินแล้วมีผื่นขึ้น หรือ ท้องผูก ก็ให้เปลี่ยนเป็นข้าวขัดขาว) หุงรวมกับถั่ว แล้ว ค่อย ๆ ใส่ผักทีละอย่าง ใช้ซ้ำหนึ่งเมนู นาน 4-5 วัน เพื่อการตรวจสอบว่าไม่มีปัญหาแพ้ อาการแพ้ คือ ผื่น ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเป็นมูกเลือด งอแง ส่วนผลไม้และน้ำผลไม้ ค่อยเริ่มเดือนถัดไป เพื่อให้รู้จักรสชาติของผักซึ่งจืดก่อน เพื่อไม่ให้ติดหวาน

            ผักที่ใช้มีดังนี้ แครอท ไชเท้า มันเทศ มันฝรั่ง มันม่วง มันญี่ปุ่น ถั่วลันเตา ถั่วแขก ถั่วฟักยาว ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วขาว ถั่วชิกพี ถั่วสปลิท ลูกเดือย ลูกบัว ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว กะหล่ำปลี ตำลึง ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า ผักโขม ปวยเล้ง บ็อคชอย มะรุม ยอดมะระ ผักหวาน ข้าวโพดอ่อน เห็ด หัวหอมใหญ่ บล็อกโคลี่ กะหล่ำดอก ฟักขาว แตงกวา แตงร้าน ฟักทอง ฟักเขียว อะโวคาโด เมล็ดพืช ควรเลือกผักออร์แกนิกจะได้สารพิษน้อยหน่อย ควรแช่น้ำยาล้างสารพิษ เช่น เบคกิ้งโซดา หรือ น้ำเกลือ หรือ น้ำยาแช่ผัก

            อะโวคาโด เมล็ดพืช เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดดอกทานตะวัน เมล็ดงา เมล็ดแฟล็กซ์ มีโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของดีเอชเอ ช่วยบำรุงสมองและสายตา

            ส่วนของข้าวกล้องและถั่วจะสุกช้า จึงควรแช่น้ำทิ้งไว้ 24 ชม. จึงค่อยต้มให้สุกด้วยน้ำเปล่า หรือ น้ำซุปผัก ไม่แนะนำน้ำต้มกระดูกหมู เพราะจะได้ไขมันจากสัตว์เข้าไปด้วย ห้ามปรุงรสด้วยซีอิ๊ว น้ำปลา น้ำตาล น้ำผึ้ง เพราะจะทำให้ลูกติดรสชาติ ไม่ดีกับสุขภาพ แต่ให้ใส่เกลือไอโอดีนเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ขาดสารไอโอดีน ไม่ใช่ใส่เพื่อให้มีรสชาติ เมื่อข้าวและถั่วสุกดีแล้วจึงค่อยใส่ผัก รอจนสุก

            ปล่อยให้เย็นแล้วตักใส่ช่องทำน้ำแข็ง เมื่อแข็งแล้วแกะใส่ถุงเก็บนม แยกเป็นแต่ละเมนู เก็บได้นาน 4 สัปดาห์ในตู้เย็นนช่องฟรีส เวลาจะใช้ แกะออกจากถุงใส่ภาชนะที่ปลอดภัยในการอุ่นด้วยไมโครเวฟ หรือ อุ่นบนเตา คนให้เข้ากันดี เพราะบางจุดร้อนจัด เดี๋ยวลวกปากลูก ไม่ควรทำอาหารจากดิบเป็นสุกด้วยไมโครเวฟ สำหรับอาหารของลูก เพราะกลัวจะสุกไม่ทั่วถึง แต่ใช้เป็นการอุ่นอาหารที่สุกมาแล้วได้ค่ะ

            ส่วนภาชนะ จาน ถ้วย ช้อน ถาดน้ำแข็ง ล้างให้สะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดขวดนมและน้ำเปล่า ไม่ต้องนึ่ง

            อายุ 6-7 เดือน ให้บดอาหารให้ละเอียด โดยปั่นละเอียด หรือครูดผ่านกระชอน วันละมื้อเดียว หัดให้ลูกกินน้ำจากถ้วยหรือหลอดดูด หรือ ช้อนตักน้ำป้อนเวลากินข้าวแล้วฝืดคอ ในวันแรก เริ่มป้อนเพียง 1 ช้อนโต๊ะ แล้วตามด้วยนมแม่จนอิ่ม ค่อย ๆ เพิ่มวันละ 1 ช้อนโต๊ะ อย่าเพิ่มเร็ว เดี๋ยวท้องอืด แล้วร้องกวนตอนกลางคืน แต่ถ้าลูกไม่อยากกิน อย่าบังคับ ให้หยุดป้อน แล้วค่อยให้ใหม่วันต่อมา จนกินได้ครบมื้อ ปริมาณ 5-8 ช้อนโต๊ะ นมมื้อนั้น จะเลื่อนการกินออกไปอีก 3-4 ชม.

            ในกรณีที่ยังไม่ทราบว่าแพ้อาหารหรือไม่ ควรให้กินมื้อเช้า หรือกลางวัน เพราะหากป้อนมื้อเย็น แล้วมีปัญหาแพ้อาหาร ลูกอาจมีอาการผิดปกติตอนกลางคืน ซึ่งสังเกตอาการได้ยากและต้องไปโรงพยาบาลเวลาฉุกเฉิน แต่ถ้าหากทราบว่า ไม่มีอาการแพ้ อาจเปลี่ยนมาให้อาหารเป็นเวลาเย็น อาจมีประโยชน์ในแง่ อาหารทำให้อิ่มนานขึ้น ลูกอาจหลับได้ยาวขึ้น

            เริ่มใส่เนื้อสัตว์เดือนที่ 7 คือ ไก่ หมู ปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลานิล ปลาทับทิม ปลากราย ปลาเนื้ออ่อน ปลาสวาย ปลาคัง ปลาตะเพียน (ระวังก้าง) ตับไก่ ตับหมู ไข่แดง (ต้องต้มให้สุกเต็มที่ หากเป็นยางมะตูม หรือ ไข่ลวกหรือไข่ที่ตอกลงไปในโจ๊ก ซึ่งสุกไม่เต็มที่ เชื้อโรคไม่ถูกทำลาย จะทำให้ถ่ายเป็นมูกเลือดได้) ปริมาณที่ใส่ต่ออาหาร 1 มื้อ คือ 1 ช้อนโต๊ะพูน ไม่ควรมากกว่านี้ เพราะไตจะทำงานหนัก บดให้ละเอียด ของใหม่ใช้ทีละอย่าง ใช้ซ้ำ 4-5 วัน เพื่อตรวจสอบอาการแพ้ ส่วนไข่ขาว และ อาหารทะเลให้เริ่มหลังจากอายุ 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย หากเริ่มเร็วเกินไป อาจไปกระตุ้นทำให้เกิดปัญหาแพ้ภายหลังได้

            เดือนที่ 7 เริ่มผลไม้ปั่นละเอียดและเติมน้ำลงไปด้วย จะได้ไม่ฝืดคอและไม่หวานเกินไป เป็นอาหารว่างอีก 1 มื้อ ปริมาณ 3-4 ช้อนโต๊ะ เช่น แอปเปิ้ล สาลี่ แคนตาลูป ชมพู่ แตงไทย แตงญี่ปุ่น ลูกพลับ ลูกพีช ลูกแพร์ พุทรา กล้วย มะม่วงสุก มะละกอสุก (หากกินผัก ผลไม้ สีเหลือง สีส้ม มาก ๆ อาจทำให้ผิวสีเหลือง ไม่อันตราย กินต่อไปได้ ถ้าหยุดกินแล้ว กว่าจะหายเหลือง จะใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน) ส่วนผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว กีวี่ สัปปะรด มะเขือเทศ บลูเบอรี่ สตรอเบอรี่ ให้เริ่มหลัง 1 ขวบ เนื่องจากแพ้ง่าย

            ไม่แนะนำให้ขนมทุกชนิดใน 2 ขวบแรก แม้แต่ขนมปัง หรือ ที่เขาว่าเป็นขนมสำหรับเด็กฝึกถือกินเองก็ตาม เพราะจะทำให้ลูกติดใจรสชาติ ไม่ชอบกินข้าว ฟันผุ เป็นโรคอ้วน และขนมปังก็มีสารอาหารน้อยกว่าข้าว จึงไม่ควรให้รู้จัก ถ้าลูกเป็นเด็กมีปัญหากินข้าวยาก นอกจากนี้ขนมปังเป็นอาหารแปรรูป มีการปรุงแต่งใส่รสชาติ สารกันบูด นมเนยชีส และตัวแป้งสาลีก็ถือเป็นอาหารก่อภูมิแพ้

            เดือนที่ 8-9 ให้เพิ่มข้าวเป็น สองมื้อ เริ่มป้อนอาหารเนื้อหยาบขึ้น คือ ไม่บดละเอียด แต่ตุ๋นให้นุ่ม เวลาป้อนให้ใช้หลังช้อนบด แต่ต้องดูด้วยว่า ลูกสามารถกินได้หรือไม่ ถ้าเคี้ยวแล้วกลืนได้ ไม่ติดคอ ไม่คายออกมา ไม่อมเอาไว้ในปากโดยไม่กลืน แสดงว่ากินได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ ให้กลับไปบดละเอียดเหมือนเดิม แต่ทำให้ข้นมากขึ้นเล็กน้อย แล้วเดือนหน้าค่อยลองป้อนใหม่

            มื้อที่สาม ให้เริ่มเมื่ออายุ 11-12 เดือน และเริ่มทำอาหารแบบไม่ต้องตุ๋น เพียงแค่ต้ม แล้วดูว่าลูกกินได้หรือไม่ เด็กหลายคนเริ่มกินข้าวสวย และข้าวเหนียวได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบ เริ่มปรุงรสอ่อน ๆ ได้ แต่ต้องดูด้วยว่า ไม่มีปัญหาท้องผูก หรือ ถ่ายออกมาเป็นอาหารไม่ย่อย เนื่องจากการกินอาหารที่หยาบมากขึ้น

            เวลาเดินทาง แนะนำให้ใช้อาหารสำเร็จรูปบรรจุในกระปุกแก้ว ที่เปิดฝาแล้วตักกินได้เลย เลือกชนิดที่ไม่เติมน้ำตาล สารกันบูด และนมผง แต่ถ้าอยู่บ้าน แนะนำให้กินอาหารทำเองแช่แข็ง จะมีคุณค่ามากกว่าอาหารสำเร็จรูป ไม่แนะนำอาหารที่เป็นผงชนิดก่อนใช้ให้ผสมน้ำบางยี่ห้อ เนื่องจากมีน้ำตาลและนมวัวผงผสมอยู่ และอาหารที่เป็นผง จัดว่าเป็นอาหารที่มีการดัดแปลงมากเกินไป เนื่องจากผ่านกระบวนการความร้อนที่ทำให้เป็นผง จึงเหลือคุณประโยชน์น้อยลง

            ควรฝึกให้ลูกได้ตักอาหารกินเอง ตั้งแต่อายุ 9 เดือน ไม่ต้องกลัวเลอะเทอะ โดยให้นั่งเก้าอี้ (high chair) และมานั่งกินพร้อมผู้ใหญ่ จะได้เลียนแบบท่าทางของผู้ใหญ่ ไม่ควรกินข้าวพร้อมกับเล่นของเล่น หรือ ดูทีวี หรือ เดินตามป้อนหน้าบ้าน เพราะจะทำให้ติดเป็นนิสัย ไม่มีสมาธิกับการกินข้าว อมข้าว และใช้เวลานานเกินไป

            ตำราทำอาหารบางสูตร แนะนำให้ใส่เนย มาการีน ชีส หรือ นมวัว หรือ นมผง ลงไปในอาหาร แต่ป้าหมอไม่แนะนำ เนื่องจากทำมาจากนมวัว ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้

            ส่วนกรณีที่ต้องการเอานมแม่ที่สะสมไว้มาประกอบอาหาร อาจมีที่ใช้ใน 2 กรณี คือ หนึ่ง ลูกไม่ยอมกินนมที่สะสมไว้ หรือ สอง ลูกไม่ยอมกินอาหาร ดังนั้นการเอานมแม่มาผสมกับอาหาร อาจทำให้ยอมรับสิ่งที่ไม่ยอมกินได้ง่ายขึ้น แต่หากลูกยอมกินนมที่สะสมอยู่แล้ว และยอมกินข้าวดีอยู่แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องละลายนมเพื่อนำมาใช้ประกอบอาหาร ให้ยุ่งยากหลายขั้นตอน แต่หากลูกมีปัญหาดังกล่าว วิธีเอานมแม่แช่แข็งมาใช้ประกอบอาหารคาว ให้ทำอาหารให้ข้นกว่าปกติ หลังจากที่อุ่นอาหารพร้อมจะกินแล้ว ให้ละลายนมแม่มาราดบนอาหาร เพื่อให้ได้อาหารที่มีความเข้มข้นเหมาะสม จะไม่เอานมแม่ไปต้มกับอาหารตั้งแต่ต้น เพราะจะเสียคุณค่าและมีกลิ่นเหม็น หากต้องการนำนมแม่แช่แข็งมาทำเป็นอาหารหวาน คือ เอาก้อนนมแม่แข็งมาปั่นกับผลไม้ที่ต้องการ แล้วตักป้อนให้กินเป็นไอศกรีมผลไม้

            เครดิตรูป : คุณหมอจ่าพิชิต ขจัดพาลชน

            คำเตือน : อย่าเลียนแบบหญิงสาวในภาพนี้เด็ดขาด นำมาให้ดูเป็นอุทาหรณ์ อย่าคิดแต่จะขายของโดยขาดสามัญสำนึกของมนุษย์ค่ะ"


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หมอเด็กเตือน อย่าให้ทารกดื่มน้ำคลอโรฟิลล์ อันตรายถึงตาย โพสต์เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2557 เวลา 14:44:47 7,840 อ่าน
TOP