x close

ป้องกันภูมิแพ้ จากแม่สู่ลูก

ตั้งครรภ์
ภูมิแพ้จากแม่สู่ลูกป้องกันได้ตั้งแต่ในครรภ์

ป้องกันภูมิแพ้ จากแม่สู่ลูก
(Mother&Care)
โดย : พญ.สาวิตรี ผดุงพรรค กุมารแพทย์ โรงพยาบาลนครธน

          คุณแม่ทุกท่านคงเคยได้ยินเรื่องโรคภูมิแพ้มาบ้างไม่มากก็น้อย เพราะนับได้ว่าเป็นโรคยอดฮิตในหมู่เด็ก ๆ ยุคนี้โรคหนึ่งเลยทีเดียวทั้งแพ้นมวัว แพ้อากาศ เยอะแยะไปหมด เรามาทำความรู้จัก และวิธีป้องกันให้ลูกของเราห่างไกลจากโรคเหล่านี้กันเถอะค่ะ

รู้จักโรคภูมิแพ้ ดีพอหรือยัง

          โรคภูมิแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ โดยมักเป็นสารจำพวกโปรตีน เช่น แพ้ขนแมวทำให้เป็นโรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ แพ้โปรตีนนมวัวในทารก โรคภูมิแพ้นั้นสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยลูกที่เกิดจากคุณพ่อคุณแม่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ มีโอกาสป่วยเป็นโรคสูงกว่าเด็กทั่วไป (High risk Child) เช่น เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีประวัติภูมิแพ้มีโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ร้อยละ 50-80 เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัวที่จะพบความเสี่ยงได้เพียงร้อยละ 20 โดยความเสี่ยงจะสูงกว่า ถ้ามีมารดาเป็นโรคเทียบกับบิดาเป็นโรคภูมิแพ้เยื่อบุตาอักเสบ โรคหอบหืด โรคแพ้อากาศ จมูกอักเสบ เช่น แพ้นมวัว แพ้ไข่ เป็นต้น

          นอกจากปัจจัยทางพันธุกรรมแล้ว การเกิดโรคภูมิแพ้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ มลภาวะทางอากาศ ควันบุหรี่ การติดเชื้อ แบคทีเรียในลำไส้ (microflora) โดยระยะเวลาที่สำคัญคือ ช่วงทารกและวัยเด็ก ดังนั้น การป้องกัน จึงควรเริ่มต้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือหลีกเลี่ยงความเสี่ยงตั้งแต่ในครรภ์มารดา ตลอดจนวัยทารก ก่อนที่ระบบภูมิคุ้มกันจะพัฒนาสมบูรณ์ และก่อนที่จะสัมผัสสารก่อภูมิแพ้

ลูกน้อยจะเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง


          ในวัยทารกลูกน้อยมักยังไม่ค่อยได้ออกนอกบ้าน โปรตีนแปลกปลอมที่จะก่อให้เกิดการแพ้ จึงมักมาจากอาหารที่กิน ส่วนมากคือโปรตีนจากนมวัวนั่นเอง อาจได้รับโดยตรงจากการดื่มนมผสม หรืออาจแพ้ผ่านมาทางน้ำนมของแม่ ต่อมาเมื่อเริ่มกินอาหารเสริมทำให้แพ้ตามมาได้ อาหารที่พบว่าทำให้แพ้บ่อยได้แก่ ไข่ขาว ไข่แดง แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง บางรายอาจเกิดอาการของโรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (eczema) ซึ่งพบได้มากในช่วง 2 ปีแรก จากนั้นจึงเกิดเป็นโรคหอบหืด หลอดลมไว และตามมาด้วยภูมิแพ้เยื่อบุจมูกและตาอักเสบ

          ใครบ้างที่ควรป้องกัน : เนื่องจากทารกที่มีความเสี่ยงด้านพันธุกรรมองโรคภูมิแพ้ก็ยังมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรปกป้องลูกของท่านให้ห่างไกลจากโรคนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน High risk Child

ป้องกันอย่างไร

ช่วงตั้งครรภ์

          พบว่าคุณแม่ที่สูบบุหรี่ช่วงตั้งครรภ์ จะส่งผลให้ปอดเสื่อมสมรรถภาพได้ตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นปัจจัยเสี่ยงในการก่อโรคภูมิแพ้ในวัยทารก ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ทั้งทางตรงและทางอ้อม คุณแม่หลายท่านอาจสงสัยว่า เราควรงดอาหารกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้ทารกแพ้ระหว่างตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น ไม่ดื่มนมวัว งดกินไข่ หรือแป้งสาลีระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากปัจจุบันมีข้อมูลในอินเทอร์เน็ตมากมายและเข้าถึงได้ง่ายทั้งที่น่าเชื่อถือและทั้งข้อมูลที่ไม่มีหลักฐานยืนยันทางการแพทย์ สร้างความสับสนและเป็นกังวลให้คุณแม่เป็นอย่างมาก

          ขอสรุปว่า การศึกษาในปัจจุบันยังไม่พบประโยชน์ของการหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ว่าจะป้องกันได้ และการงดอาหารอาจมีผลข้างเคียงต่อภาวะโภชนาการของแม่และทารกในครรภ์ อย่างไรก็ตาม พบว่า การบริโภคอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งในปริมาณมาก เช่น การดื่มนมวัว นมถั่วเหลือง อาจทำให้ทารกเกิดการแพ้อาหารนั้น ๆ ได้ ดังนั้น ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ควรกินอาหารแต่ละชนิดให้พอดีกินให้ครบ 5 หมู่ ไม่จำเป็นต้องงดอาหารกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกัน และไม่ตั้งใจบริโภคอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งในปริมาณมาก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ไม่ได้บริโภคเป็นประจำอยู่ก่อนแล้ว เช่น นมวัว

ระยะให้นมบุตร

          การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลานานอย่างน้อย 4-6 เดือน นอกจากช่วยป้องกันภูมิแพ้แล้วยังมีประโยชน์อย่างมากต่อสุภาพของทารก หากไม่สามารถให้นมแม่ได้ และทารกอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เลือกให้นมผสมที่มีการศึกษาวิจัยว่าสามารถป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ ได้แก่ Hypoallergenic formula (Hydrolyzed formula) แทนการเลือกนมวัวสูตรปกติ นมถั่วเหลืองหรือนมแพะ

วัยเริ่มอาหารเสริม

          ควรเริ่มอาหารเสริมหลัง 4-6 เดือน โดยไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจทำให้เกิดการแพ้ เช่น ไข่ ปลา แป้งสาลี ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ก็ตาม ยกเว้นได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้วว่าแพ้อาหารนั้น ๆ นอกจากนี้ การกินอาหารเสริมบางชนิด เช่น น้ำมันปลา จุลินทรีย์สุขภาพ วิตามินบางชนิด ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอในการสนับสนุนว่าสามารถป้องกันการเกิดโรคภูมิแพ้ได้

          การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ เช่น ไรฝุ่น แมลงสาบ การสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าสามารถป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ แต่หากเด็กได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้สารดังกล่าว ก็ควรหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดอาการภูมิแพ้กำเริบ จะเห็นได้ว่าแม้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนปัจจัยด้านพันธุกรรมของลูกได้ แต่ธรรมชาติยังมอบโอกาสให้เราดูแลสิ่งแวดล้อมของลูกรักให้พ้นจากโรคภูมิแพ้นี้ได้





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.10 No.114 มิถุนายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป้องกันภูมิแพ้ จากแม่สู่ลูก อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2557 เวลา 11:59:57 2,171 อ่าน
TOP