x close

รับมือระบบทางเดินอาหารเปลี่ยนยามตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

รับมือระบบทางเดินอาหารเปลี่ยนยามตั้งครรภ์
(modernmom)
เรื่อง : พญ.กันดาภา ฐานบัญชา ภาพ : ธาร ธงไชย

         การตั้งครรภ์เป็นช่วงเวลาสำคัญครั้งหนึ่งของชีวิต เป็นช่วงเวลาที่นำมาซึ่งความสุข ความตื่นเต้น และความสมบูรณ์ของชีวิตครอบครัวในขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสรีระของคุณแม่ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการตั้งครรภ์ก็นำมาซึ่งความไม่สบายตัว ความวิตกกังวล รำคาญใจ สงสัย ว่าเป็นโรคร้ายแรงอะไรรึเปล่า จะส่งผลถึงลูกหรือไม่ และจะต้องทำอย่างไรเพื่อบรรเทาอาการเหล่านี้ ยิ่งเป็นอาการเกี่ยวกับการกินอาหารและการย่อยอาหารด้วยแล้ว ยิ่งรบกวนชีวิตประจำวัน และเกิดความไม่สุขสบายอย่างมาก นอกจากนั้นบางอาการอาจทำให้คุณแม่รู้สึกอายไม่มั่นใจในการไปไหนมาไหนหรือเข้าสังคมอีกด้วย

ท้องผูก

         เป็นปัญหาที่พบมากที่สุดในคุณแม่ตั้งครรภ์ และเป็นจุดเริ่มต้นของอาการอื่น ๆ ที่อาจตามมาค่ะ

สาเหตุ

         1. ปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นมากในขณะตั้งครรภ์ รบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ ทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลง

         2. มดลูกที่ขยายขนาดขึ้นไปกดเบียดลำไส้ทำให้การเคลื่อนตัวของลำไส้ยากขึ้น อาหารจึงค้างในลำไส้นานขึ้น เกิดก๊าซในระบบทางเดินอาหาร

         3. ธาตุเหล็กที่คุณแม่ได้รับจากคุณหมอ ผสมรวมอยู่ในวิตามินบำรุงครรภ์ มีผลทำให้อุจจาระแข็ง และเคลื่อนตัวยากกว่าปกติ

         ถึงแม้ว่าอาการท้องผูกดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับ คุณแม่ตั้งครรภ์ แต่คุณแม่อย่างเราต้องไม่ยอมแพ้ค่ะ ยังมีอีกหลายวิธีรับมืออาการท้องผูกค่ะ

        ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อย 8-10 แก้ว (250 ml ต่อแก้ว) ต่อวัน

        น้ำผลไม้บางชนิดช่วยบรรเทาอาการท้องผูกเช่น น้ำลูกพรุน

        รับประทานอาหารที่มีกากและเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลันเตา เพราะอาหารประเภทนี้ช่วยให้อุจจาระนิ่ม

        ลดอาหารที่มีรสหวานจัด และอาหารหมักดอง

        รับประทานโยเกิร์ตที่มีส่วนผสมของจุลินทรีย์สุขภาพ เช่น โปรไบโอติกส์ (Probiotics) แอคทิเรกูลาริส (Acti Regularis) เป็นต้น

        ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนที่ไปเลี้ยงบริเวณลำไส้ ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น

        หากท้องผูกไม่ควรรับประทานยาระบาย แต่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกใช้ยาที่ถูกต้องหากมีความจำเป็น

เรอ กรดไหลย้อนและผายลม

         อาการเหล่านี้สร้างความอับอาย มากกว่าอาการเจ็บปวดให้กับคุณแม่หลายท่าน

สาเหตุ

         เกิดจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ที่ทำให้กล้ามเนื้อหูรูดซึ่งกั้นไม่ให้อาหารที่รับประทานลงไปในกระเพาะอาหาร ย้อนกลับเข้าสู่หลอดอาหารทำงานน้อยลง และการกดเบียดลำไส้โดยมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นก็ทำให้ลำไส้ทำงานช้าลง เกิดก๊าซสะสม หากมีแรงดันหรือคุณแม่นอนราบจะทำให้มีอาการกรดไหลย้อนได้ง่าย

         การดื่มเครื่องดื่มที่มีก๊าซ หรือกินอาหารที่ย่อยยาก เช่น น้ำอัดลม หัวหอม กะหล่ำปลี บรอกโคลี และถั่วงอก การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด พูดขณะกินอาหาร และกินอาหารใกล้เวลานอน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้มีอาการมากขึ้นได้ ฉะนั้นขอแนะนำให้คุณแม่

         1. รับประทานอาหารครั้งละน้อย ๆ แต่อาจรับประทานบ่อยขึ้น เช่น อาจเพิ่มเป็น 5 มื้อต่อวัน

         2. หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

         3. อาหารมื้อสุดท้ายควรห่างจากเวลานอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

         4. เคี้ยวอาหารให้ละเอียด คำละ 10-12 ครั้งก่อนกลืน ไม่ควรพูดขณะเคี้ยวอาหาร

         5. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่มีเครื่องเทศ

ริดสีดวงทวาร

         หลากอาการท้องผูกไม่ได้รับการรักษา และต้องเบ่งทุกครั้งเมื่อถ่ายอุจจาระ อุจจาระแข็ง อาการต่อมาที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือ ริดสีดวงทวารหนัก

สาเหตุ

         เกิดจากการโป่งพองของเส้นเลือดดำบริเวณลำไส้ส่วนปลายสุด อาการที่พบมีตั้งแต่อุจจาระแล้วมีเลือดสดเปื้อนติดก้อนอุจจาระ หากเป็นมากขึ้นอาจมีเลือดสดไหลตามหลังอุจจาระเสร็จ และหากไม่ได้รับการรักษาและมีการโป่งพองมากจนออกมาด้านนอก และไม่สามารถดันกลับได้ เกิดการถูกรัดโดยกล้ามเนื้อหูรูดและอาการขาดเลือดตามมาจะทำให้มีอาการปวดมาก และต้องรักษาด้วยการผ่าตัด คุณแม่หลายท่านเมื่อเริ่มมีอาการก็รู้สึกอายจึงไม่ไปปรึกษาแพทย์ บางรายก้อนริดสีดวงเกิดปัญหาในช่วงเบ่งคลอด แต่ถ้าได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง อาการต่าง ๆ จะดีขึ้นหลังคลอด

วิธีป้องกันริดสีดวงทวารหนัก

         1. พยายามหลีกเลี่ยงอาการท้องผูก

         2. อย่าเบ่งมากเวลาถ่ายอุจจาระ

         3. เวลานั่งถ่าย ควรยกเท้าให้สูงขึ้นโดยวางบนเก้าอี้เตี้ย ๆ จะช่วยให้ถ่ายง่ายขึ้น

         4. หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือหรือฟังเพลงขณะขับถ่ายเพราะจะทำให้นั่งนาน เพิ่มความดันบริเวณลำไส้ส่วนปลาย

         5. หลีกเลี่ยงการนั่งกับที่ หรือยืนกับที่นาน ๆ

         6. หากเริ่มมีอาการคันบริเวณทวารหนัก หรือเริ่มมีอาการปวดในขณะขับถ่ายควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาการเริ่มต้นจะบรรเทาได้ด้วยการใช้ยาทาเฉพาะที่

         หากคุณแม่รู้ทันอาการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว และปรับวิธีการในการรับประทาน เลือกอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ไม่เครียด ก็จะสามารถผ่านปัญหาเหล่านี้ไปได้ค่ะ


       
 
    



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.18 No.216 ตุลาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมือระบบทางเดินอาหารเปลี่ยนยามตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 27 พฤศจิกายน 2556 เวลา 16:45:29 4,287 อ่าน
TOP