x close

ภาวะครรภ์เสี่ยงสูงอันตราย แต่ป้องกันได้

ตั้งครรภ์

ภาวะครรภ์เสี่ยงสูง อันตรายทั้งแม่ทั้งลูก แต่ป้องกันได้
(momypedia)

           โดยแท้จริงแล้ว การตั้งครรภ์ทุกครั้งถือได้ว่ามีความเสี่ยง แต่อาจมีความเสี่ยงมากหรือน้อยแตกต่างกันไป การจะทราบว่ามีภาวะครรภ์เสี่ยงสูงหรือไม่ จะต้องพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคุณแม่ ซึ่งล้วนอาจส่งผลต่อทั้งแม่และทารกในครรภ์ได้ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้มีมากมายหลายปัจจัย เช่น

          อายุขณะตั้งครรภ์น้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี

          มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคลมชัก ซึ่งตัวโรคเองหรือยาที่ใช้ในการรักษาอาจส่งผลต่อการคลอดหรือทารกในครรภ์

          เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคมะเร็ง

          เคยเข้ารับการรักษาโรคด้วยวิธีการผ่าตัดทางหน้าท้อง เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือเคยได้รับการผ่าตัดคลอดมาก่อน

          มีประวัติเคยแท้งลูก โดยเฉพาะการแท้งสามครั้งติดต่อกัน

          มีประวัติคลอดลูกก่อนกำหนด

          มีประวัติคลอดลูกแล้วลูกตัวเล็ก น้ำหนักตัวน้อย

          มีประวัติคลอดลูกเป็นดาวน์ซินโดรมหรือมีความพิการทางสมอง

          มีการติดเชื้อ เช่น เอชไอวี (HIV) ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี

          เป็นโรคโลหิตจางหรือโรคธาลัสซีเมีย

          มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ใช้ยาเสพติด เป็นต้น

           นอกจากนี้ ในระหว่างการตั้งครรภ์ก็อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นที่ทำให้เกิดภาวะครรภ์เสี่ยงสูงได้เช่นกัน เช่น การติดเชื้อ โดยการติดเชื้อที่พบมากที่สุดคือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งคุณแม่อาจสังเกตอาการได้จากการมีปัสสาวะแสบขัด มีไข้ หนาวสั่น ส่วนการติดเชื้อที่รุนแรงมากสำหรับเด็กคือการติดเชื้อแบคทีเรีย group B streptococcus (GBS) ในช่องคลอด ซึ่งอาจเข้าไปในปอดเด็กขณะที่เด็กผ่านช่องคลอด ทำให้ปอดบวมและเสียชีวิตได้

           นอกเหนือจากการติดเชื้อแล้ว ความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจพบได้อีกระหว่างการตั้งครรภ์ ได้แก่ ภาวะครรภ์เป็นพิษ (ตรวจดูได้จากความดันโลหิตสูง อาการบวมตามตัวและปัสสาวะมีไข่ขาว) ความเสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ ครรภ์แฝดซึ่งเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ความผิดปกติของทารกในครรภ์ (เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ ลิ้นหัวใจรั่ว มีอวัยวะไม่ครบ เป็นต้น) เด็กในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติซึ่งส่งผลต่อการคลอด เช่น อยู่ในท่าก้นหรือท่าขวาง ภาวะรกเกาะต่ำ รกขวางทางคลอดที่อาจทำให้เกิดการตกเลือดขณะคลอด น้ำคร่ำมากซึ่งทำให้มีโอกาสเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด น้ำคร่ำน้อยทำให้เด็กออกมาตัวเล็กและสำลักน้ำคร่ำได้

           แม้จะดูเหมือนว่าความเสี่ยงในการตั้งครรภ์จะมีมาก และอาจสร้างความกังวลใจให้กับว่าที่คุณแม่อยู่ไม่น้อย แต่การเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดการเกิดภาวะครรภ์เสี่ยงสูงได้โดยคุณแม่ต้องดูแลสุขภาพตนเอง ตั้งแต่การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย และการพักผ่อน รวมถึงเข้ารับการตรวจร่างกายและตรวจเลือดเบื้องต้นและเมื่อตั้งครรภ์แล้วก็ควรมาฝากครรภ์ตั้งแต่ในระยะแรก ๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่เข้าข่ายภาวะครรภ์เสี่ยงสูง เพื่อจะได้อยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เป็นการป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในปัจจุบันมีวิทยาการทางการแพทย์ที่จะช่วยให้การตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติทำได้แม่นยำและชัดเจนขึ้น เช่น การเจาะเลือดตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมในทารกด้วยวิธีนิฟตี้เทสต์ (NIFTY test) การทำอัลตราซาวด์แบบละเอียดซึ่งช่วยให้เห็นความสมบูรณ์ของอวัยวะเด็กในครรภ์ เป็นต้น

           อย่างไรก็ดี ในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ก็ไม่ได้หมายความว่าทั้งคุณแม่และลูกน้อยจะต้องมีปัญหาสุขภาพ เพียงแต่เป็นการคาดว่าอาจมีโอกาสเกิดขึ้นได้ สำหรับกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติ การทราบล่วงหน้าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ถึงการแก้ไขปัญหาและควบคุมความเสี่ยง รวมถึงการมองหาโรงพยาบาลที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อให้ลูกน้อยคลอดออกมาอย่างปลอดภัย

           ทั้งนี้ สิ่งที่ว่าที่คุณแม่ทุกคนจะต้องใส่ใจ โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เสี่ยงสูง ก็คือ การดูแลสุขภาพตัวเองและสุขภาพครรภ์เป็นพิเศษ โดยการดำเนินชีวิตให้แข็งแรงและมีสุขภาพดี เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สารเสพติด และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อการดูแลอย่างใกล้ชิด

           จะเห็นได้ว่าภาวะครรภ์เสี่ยงสูงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่กลับเป็นสัญญาณเตือนให้ว่าที่คุณแม่ได้มีการดูแลสุขภาพตัวเองและลูกน้อยในท้องอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีการเตรียมตัวและวางแผน เพื่อให้กำเนิดลูกน้อยได้อย่างปลอดภัยและแข็งแรงทั้งตัวลูกและคุณแม่เอง







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะครรภ์เสี่ยงสูงอันตราย แต่ป้องกันได้ อัปเดตล่าสุด 8 สิงหาคม 2556 เวลา 14:15:31 1,698 อ่าน
TOP