x close

10 วิธีเตรียมพร้อมก่อนคลอด

ตั้งครรภ์

10 วิธีเตรียมพร้อมก่อนคลอด
(รักลูก)
โดย : สิริพร

          อย่าละเลย 10 เรื่องสำคัญ เตรียมตัวให้พร้อมก่อนคลอด

1. เตรียมพร้อม…สุขภาพ & ร่างกาย


          การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่จะต้องจูงมือคุณพ่อมาตรวจเช็กตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อความมั่นใจตั้งแต่ต้น โดยต้องตรวจ 3 เรื่องหลัก ๆ

          ตรวจโรคและสุขภาพทั่วไป การตรวจเช็กโรคทั้งพ่อและแม่ก่อนตั้งครรภ์ ช่วยให้รู้ว่ามีโรคแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายร้ายแรงและเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือไม่ เช่น โรคโลหิตจาง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมต่าง ๆ

          หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ คุณหมอจะได้เตรียมการป้องกัน หรือให้คำแนะนำที่เหมาะสมเพื่อครรภ์ที่สมบูรณ์และปลอดภัยในอนาคต

          ป้องกันโรคด้วยวัคซีน โดยเฉพาะคุณแม่ที่ป่วยง่าย มีภูมิต้านทานโรคน้อย จำเป็นต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันหัดเยอรมันไว้ก่อน หากปล่อยไว้แล้วเกิดป่วยเป็นหัดเยอรมันตอนตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงแท้งได้

          ออกกำลังกาย…ฟิตร่างกาย เป็นวิธีเตรียมพร้อมร่างกายที่ดีสำหรับการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอด โดยควรออกกำลังกายตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ให้ชิน เพราะกล้ามเนื้อที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนจะต้องใช้ออกซิเจนเยอะมาก จนทำให้ออกซิเจนที่จะส่งไปยังลูกเหลือน้อยมากตามไปด้วย คุณแม่จึงควรเตรียมร่างกายด้วยการออกกำลังกายตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และต่อเนื่องมาจนถึงตั้งครรภ์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการคลอดด้วยค่ะ

2. เตรียมฝากครรภ์ โรงพยาบาลใกล้บ้าน

          การฝากครรภ์เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ควรเลือกฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลที่สามารถเดินทางไปได้สะดวก ไม่เสียระยะเวลาเดินทางนานเกินไป

          ที่สำคัญโรงพยาบาลนั้นก็ควรได้มาตรฐาน มีสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอยู่ประจำ เป็นโรงพยาบาลที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีคุณหมอที่ดูแลทารกแรกเกิดโดยเฉพาะด้วย หากเลือกโรงพยาบาลที่พร้อมในทุกด้าน คุณแม่ก็สามารถวางใจว่าได้ฝากชีวิตของเราและลูกไว้อย่างปลอดภัย

3. เตรียมใจรับ "ลูก" อย่างมีความสุข

          รู้สึกสุขใจที่จะได้เป็นแม่ความพร้อมทางจิตใจนั้นอยู่เหนือความพร้อมทั้งหมด หากความรู้สึกนี้พรั่งพรูออกมาจากใจของคุณแม่แล้ว 9 เดือนแห่งการรอคอย ก็จะกลายป็นการรอคอยแห่งความสุขที่สุด

          คุณสามีก็สุขใจไปพร้อมกับเรา คนใกล้ชิดเราที่สุดอย่างคุณสามีจะต้องเตรียมพร้อมไปด้วยกันในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านจิตใจจะมาก่อน ตามด้วยการดูแลช่วยเหลือที่เต็มไปด้วยความรัก ความรู้สึกสุขที่จะได้เป็นพ่อนี้จะทำให้การเตรียมพร้อมในด้านอื่น ๆ เช่น การทำงานหาเงินเพื่อดูแลครอบครัวต่อไปนั้นมีความหมายมากขึ้น

4. เตรียมลางาน…พร้อมเป็นคุณแม่เต็มตัว

          ก่อนถึงวันคลอด คุณแม่ต้องศึกษากฎเกณฑ์การลาคลอด สิทธิต่าง ๆ ที่พึงจะได้รับและเตรียมลางานล่วงหน้าให้เรียบร้อย ตามกฎหมายคุณแม่สามารถลาคลอดได้ 90 วัน แต่สำหรับคุณแม่ที่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ต้องศึกษาขั้นตอนการลางาน หรือนโยบายของบริษัทนั้น ๆ ถึงจำนวนวันที่สามารถลาคลอดได้ เพื่อจะได้วางแผนในการจัดการต่าง ๆ รวมถึงการเลี้ยงลูกได้อย่างเหมาะสม

5. เตรียม 2 สิ่งสำคัญ…ก่อนไปคลอดที่โรงพยาบาล

          ใบฝากครรภ์ ซึ่งมีข้อมูลสำคัญต่างๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ของคุณแม่ เช่น มีประวัติการตรวจร่างกาย ความเสี่ยงต่าง ๆ ที่คุณแม่มี แผนการต่าง ๆ ที่คุณหมอได้วางไว้ การตรวจโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ประวัติการตรวจโรคเบาหวาน โรคธาลัสซีเมียระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงน้ำหนักตัวของคุณแม่ ขนาดมดลูก และการดิ้นของลูกในครรภ์ เป็นต้น

          ถ้าเกิดเจ็บครรภ์ฉุกเฉินไม่สามารถไปโรงพยาบาลที่ฝากได้ ใบฝากครรภ์จะช่วยให้คุณหมอสามารถดูประวัติและภาวะเสี่ยงต่าง ๆ ของคุณแม่ได้อย่างครบถ้วน

          กระเป๋าของใช้จำเป็นข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวคุณแม่และของลูกน้อยควรเตรียมควรจะจัดใส่ไว้ในกระเป๋าที่หิ้วหรือขนย้ายได้ง่าย โดยเตรียมพร้อมไว้อย่างน้อย 1 อาทิตย์ ซึ่งในกระเป๋าใบนั้นควรจะมีเอกสารสำคัญต่าง ๆ เช่น ใบฝากครรภ์ สำเนาทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชน และของใช้จำเป็น เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพู ฯลฯ เมื่อถึงเวลาคลอด จะได้ไม่ลืมของทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ค่ะ

6. คนพร้อม …การเดินทางก็ต้องพร้อม

          คนใกล้ชิด การเจ็บคลอดเป็นภาวะฉุกเฉินอย่างหนึ่ง หากคุณแม่เกิดเจ็บท้องในช่วงที่คุณสามีสุดที่รักติดธุระกะทันหัน ไม่สามารถพาคุณแม่มาส่งโรงพยาบาลได้ จำเป็นต้องมีญาติสนิท หรือคนใกล้ชิดที่สามารถติดต่อได้ง่าย และช่วยเหลือเราได้ทันท่วงทีค่ะ

         เตรียมพาหนะ หากไม่สามารถไปโดยรถส่วนตัวได้ คุณแม่ต้องมีเบอร์ติดต่อรถแท็กซี่ หรือรถโรงพยาบาลเตรียมพร้อมไว้ด้วย แต่ไม่ว่าจะไปโรงพยาบาลด้วยยานพาหนะชนิดใด ก็จะต้องมีคุณสามี หรือคนใกล้ชิดที่ไว้ใจได้ และสามารถพาเราไปส่งที่โรงพยาบาลอย่างปลอดภัยด้วยเสมอ

7. เตรียมวางแผนค่าใช้จ่ายอย่างรอบคอบ

          คุณแม่และคุณพ่อต้องวางแผนเรื่องการเงินในระยะยาว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ตั้งครรภ์ และในวันสำคัญอย่างวันคลอดด้วย

          เตรียมเงินสำหรับการคลอด ค่าใช้จ่ายในการคลอด คุณแม่อาจทราบล่วงหน้าจากโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ จึงสามารถวางแผนการใช้เงินได้คร่าว ๆ ว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง แนะนำให้เผื่อวงเงินไว้ที่อัตราสูงสุดที่โรงพยาบาลตั้งไว้ เพราะเมื่อถึงเวลาอาจไม่สามารถคลอดเอง แต่ต้องผ่าคลอด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน

          เตรียมเงินสำหรับภาวะเสี่ยงหลังคลอด เพราะอาจเกิดภาวะต่าง ๆ ทั้งกับตัวคุณแม่ และลูกน้อยได้ เช่น เมื่อคลอดแล้วลูกเกิดไม่สบาย หรือมีภาวะตัวเหลือง คุณแม่ตกเลือดหลังคอลด หรือแผลคลอดอักเสบเป็นหนอง ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มตามอาการและจำนวนวันที่พักฟื้น

          โดยส่วนมากการพักฟื้นของคุณแม่หลังคลอด ทั้งที่คลอดเองและผ่าตัดคลอด พอผ่าน 24 ชั่วโมงแรกไป ร่างกายค่อนข้างจะคืนตัวได้แล้ว แต่การที่คุณหมอให้อยู่โรงพยาบาลก่อน ก็เพื่อทางโรงพยาบาลจะฝึกให้คุณแม่เลี้ยงลูกได้ถูกวิธี และประสบความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และเพื่อเช็กระดับไทรอยด์ฮอร์โมน ในช่วง 48-72 ชั่วโมงหลังคลอด หรือประมาณ 2-3 วัน ถ้าเช็กเรียบร้อยแล้วลูกไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไร คุณแม่สามารถเลี้ยงลูกและให้นมลูกได้อย่างถูกต้อง คุณหมอก็จะอนุญาตให้คุณแม่กลับบ้านได้

8. เตรียมของ & สถานที่…รอเจ้าตัวเล็ก

          ควรเตรียมสถานเลี้ยงดูลูกไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อว่าหลังคลอดสามารถพาลูกมายังห้องที่เตรียมไว้ได้เลย ควรเป็นห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก สะอาด ปลอดเชื้อโรค มีอุปกรณ์และข้าวของเครื่องใช้สำหรับเด็กแรกเกิดครบถ้วน ซึ่งการเตรียมของ รวมถึงเสื้อผ้าให้ลูก อาจเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามการเจริญเติบโตของและพัฒนาการของลูกได้นะคะ

9. เตรียมคำนวณเวลาในการเดินทาง

          การเดินทางมาคลอด ควรจะเผื่อเวลาในการเดินทางไว้เป็นดีที่สุด เพราะระยะเวลาเจ็บท้องคลอดนั้น ขึ้นอยู่กับท้องแรก ท้อง 2 หรือท้องที่ 3 ด้วย

          ถ้าเป็นท้องแรก การเจ็บท้องคลอดอาจใช้เวลานาน ตามปกติถ้าปากมดลูกเปิดเล้ว จากนั้นจะเปิดชั่วโมงละ 1 เซนติเมตร กว่าจะคลอดจึงอาจกินเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งคุณแม่บางคนมาถึงโรงพยาบาลก็คลอดได้ทันที ขณะบางคนอาจต้องรอข้ามวันค่ะ เมื่อไม่สามารถคาดเดาเวลาได้แน่นอน คุณแม่จึงควรมาถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด คุณหมอก็จะดูให้เองว่าพร้อมคลอดแล้ว หรือแค่เจ็บเตือนค่ะ

10. เจ็บนี้…พร้อมคลอดแล้วนะ

          ส่วนใหญ่คุณแม่จะรู้ได้เองว่าอาการเจ็บที่เป็นนั้น คือการเจ็บคลอด หรือเจ็บเตือน การเจ็บเตือนเกิดได้ตั้งแต่ก่อนถึงกำหนดคลอด โดยคุณแม่จะรู้สึกเจ็บไม่สม่ำเสมอ หรือเจ็บตอนที่มีกิจกรรม เช่น เคลื่อนไหวมาก ๆ เดินบ่อย ๆ หรือยกของ ก็จะรู้สึกเจ็บเพราะลูกมีการเคลื่อนไหว เมื่อนอนพักอาการก็จะทุเลาลง

          แต่การเจ็บคลอดมีลักษณะการเจ็บที่สม่ำเสมอ นอนพักก็ยังไม่หาย ยิ่งรอไปจะยิ่งเจ็บถี่ขึ้น เจ็บแรงขึ้น ถ้ามีมูกเลือดออกในช่องคลอด หรือมีน้ำคร่ำไหลออกมา ก็แสดงว่าเป็นการเจ็บคลอด ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

          หากสามารถเตรียมพร้อมทั้ง 10 เรื่องนี้ได้แล้ว จะช่วยให้เป็นพ่อแม่ที่มั่นใจเลี้ยงลูกได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพ







ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 วิธีเตรียมพร้อมก่อนคลอด อัปเดตล่าสุด 2 สิงหาคม 2556 เวลา 15:47:51 5,366 อ่าน
TOP