x close

ทำไงดี…แม่ท้องเหงือกบวม

การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์

ทำไงดี…แม่ท้องเหงือกบวม (Mother&Care)

          ช่วงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากที่เห็นชัดที่สุดคือ ร่างกายภายนอก และยังมีเรื่องสุขภาพเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับบางท่านได้ อย่างปัญหาช่องปาก โดยเฉพาะเรื่องของเหงือก บางครั้งก็เป็นสิ่งที่แม่ท้องคิดไม่ถึง ฉบับนี้เราจะมาชวนดูแลสุขภาพเหงือก เพื่อการดูแลฟันอย่างถูกวิธีกันค่ะ

แม่ท้องกับเรื่องเหงือกบวม

          โรคเหงือกอักเสบหรือโรคปริทันต์อักเสบ เดิมทีเรียกว่าโรครำมะนาด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ในช่องปาก มีการเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นในสภาวะที่เหมาะสม เช่น คราบอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเกาะบนผิวฟัน หรือเกิดจากการทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ ก็ทำให้คราบอาหารเป็นอาหารของแบคทีเรีย เติบโตและเพิ่มจำนวนกระจายไปบนผิวฟัน ที่เรียกกันว่า แผ่นคราบจุลินทรีย์ แบคทีเรียจะปล่อยกรดและสารพิษออกมาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ทำให้เหงือกบวมแดงอักเสบและมีเลือดออกบริเวณเหงือก

อาการเหงือกบวม

          ลักษณะของเหงือกจะ บวม แดง หากถูกขนแปรง ตอนแปรงฟันจะมีเลือดซึมออกบริเวณซอกฟัน ซึ่งเป็นบริเวณที่ มักพบโรคบริเวณที่การทำความสะอาดเข้าไปได้ยาก เมื่อปล่อยนานเข้าจะเกิดหินปูนหรือ หินน้ำลายร่วมด้วย มองเห็นเป็นแถบสีขาว ออกเหลือง แข็ง แปรงไม่ออก เป็นที่สะสมของ เชื้อโรค ทำให้เกิดการอักเสบ ของเหงือกรุนแรงมากขึ้นได้

          นอกจากการอักเสบของเหงือกที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแล้ว การบวมของเหงือกที่มีลักษณะเป็นก้อนระหว่างฟัน อาจเกิด บางจุดหรือเกิดทั่วทั้งปากก็ได้นั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนระหว่างการตั้งครรภ์ที่เรียกว่า Pyogenic Granuloma (pregnancy tumor) เกิดขึ้นได้ เป็นปกติในหญิงตั้งครรภ์ ไม่ส่งผลร้ายแรงอะไรเพียงทำให้มีเลือด-ออกเวลามีสิ่งของไปโดน และทำความสะอาดได้ยากขึ้น ทั้งนี้ ก้อนเนื้อที่ว่าจะมีขนาดค่อย ๆ เล็กลงและหายไปหลังคลอด ในบางคนเล็กลงแต่ไม่หายไป อาจต้องให้คุณหมอรักษาด้วยการตัดออกค่ะ

เหงือกบวม จะหายไปไหม?

          โรคเหงือกบวมไม่ใช่โรคที่รุนแรง เพียงแค่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจมากกว่า เพราะการเพิ่มของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ทำให้เหงือกเกิดการระคายเคืองต่อคราบหินปูนมากกว่าปกติ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือการหมั่นดูแลรักษาฟันให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะบริเวณขอบเหงือกจะช่วยป้องกัน ลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดโรคเหงือกอักเสบระหว่างที่คุณแม่ท้อง

          แต่หากทิ้งไว้นานวัน คราบจุลินทรีย์และหินปูนจะลุกลามลงไปใต้เหงือก เกาะบนผิวรากฟัน ทำให้กระดูกรอบรากฟันถูกทำลาย เกิดเป็นโรคปริทันต์อักเสบ อาจเกิดกับฟันซี่เดียวหรือหลาย ๆ ซี่ในปาก หากไม่ได้รับการรักษา กระดูกรอบรากฟันจะถูกทำลายมากขึ้น ทำให้เกิดฟันโยกจนต้องถอนฟันในที่สุดค่ะ

แม่ท้องจ๋าดูแลป้องกันดีกว่า

         หมั่นดูแลสุขอนามัยในช่องปากอย่างสม่ำเสมอ คือแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

         หลังมื้ออาหารย่อย ๆ ก็ควรบ้วนปากด้วย น้ำสะอาดหรือน้ำยาบ้วนปาก เพื่อลดคราบเศษอาหารและน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร

         ใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยกำจัดคราบพลัค เป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้รู้สึกสะอาดและสดชื่นขึ้น

         คุณแม่ที่หิวบ่อยควรหลีกเลี่ยงอาหารที่หวานจัด เปรี้ยวจัด เปลี่ยนมากินผักและผลไม้สดแทน ก็จะเป็นผลดีต่อสุขภาพฟันค่ะ

         กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเพิ่มอาหารที่มีโปรตีน แคลเซียม และฟอสฟอรัสมากๆ เช่น นม ไข่ ปลาเล็กปลาน้อย รวมทั้งผักผลไม้

          มีหลายคนสงสัยว่า แม่ท้องทำฟันได้ หรือไม่ ที่จริงแล้ว คุณหมอสามารถให้การรักษาทันตกรรมได้ค่ะ (ช่วงเดือนที่ 4-6)  ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อย ทั้งนี้คุณแม่เองก็ควรแจ้งให้คุณหมอทราบถึงการตั้งครรภ์ และตรวจสุขภาพช่องปากก่อนตั้งครรภ์ เพื่อรับการรักษาพื้นฐาน เช่น อุดฟัน ขูดหินปูน ป้องกันโรคเหงือกและฟันผุค่ะ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทำไงดี…แม่ท้องเหงือกบวม อัปเดตล่าสุด 11 กรกฎาคม 2556 เวลา 14:38:01 15,700 อ่าน
TOP