x close

รู้ไหม...มดลูกเข้าอู่ คืออะไร

ตรวจหลังคลอด

รู้ไหม...มดลูกเข้าอู่ คืออะไร
(Mother&Care)
เรื่อง : แม่ออมจัง

          มดลูกเปรียบเสมือนบ้านของลูกน้อยในท้องคุณแม่ และในขณะที่ลูกตัวโตขึ้น มดลูกก็ขยายตัวตามอายุครรภ์ เพื่อเตรียมพร้อมกับการเติบโตและการคลอด พอช่วงหลังคลอดมดลูกของคุณแม่จะกลับคืนสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ภาวะนี้เรียกว่ามดลูกเข้าอู่ค่ะ

มดลูกเข้าอู่ สำคัญอย่างไร

          ช่วงหลังคลอดคุณหมอจะนัดคุณแม่ตรวจสุขภาพภายในร่างกาย เช่น เรื่องน้ำคาวปลา, การขับถ่าย, แผลฝีเย็บ, แผลผ่าตัดคลอด, มะเร็งปากมดลูก และตรวจดูมดลูกช่วงหลังคลอด ซึ่งคุณหมอจะตรวจดูว่ามดลูกของคุณแม่หดรัดตัวกลับสู่ภาวะปกติหรือไม่ อย่างไร

          เนื่องจากบางครั้งอาจพบได้ว่า คุณแม่เกิดภาวะความผิดปกติบางอย่างของมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่ช้าต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสมจากคุณหมอต่อไป

ภาวะผิดปกติของมดลูก

          โดยเบื้องต้นคุณแม่สามารถสังเกตอาการผิดปกติของมดลูกจากข้อมูลต่อไปนี้ค่ะ

น้ำคาวปลา

          เป็นเซลล์ที่หลุดออกจากผนังโพรงมดลูก ปนมากับเลือดช่วงแรก ๆ หลังคลอด น้ำคาวปลาจะไหลออกมาเป็นสีแดงในปริมาณมากและค่อย ๆ ลดลง เป็นสีน้ำตาลจาง ๆ จนกลายเป็นตกขาวปนกับน้ำคาวปลา และหมดไปในที่สุด

          คุณแม่สามารถสังเกตความผิดปกติได้จากสีน้ำคาวปลาที่จางลงและเปลี่ยนเป็นสีแดง มีปริมาณที่มากขึ้น หรือน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อในโพรงมดลูก

อาการปวดท้องน้อย / มีไข้

          คุณแม่บางคนเอ็นยึด มดลูกอาจจะหย่อนยานมากหลังคลอดลูก ทำให้เกิดอาการปวดเสียวท้องน้อยโดยเกิดจากการที่มดลูกหลวม เมื่อตรวจร่างกายแล้วคุณหมออาจจะไม่พบอาการผิดปกติ แต่ก็สามารถวินิจฉัยได้ ซึ่งส่วนใหญ่หากอาการไม่รุนแรงก็ไม่ต้องทำการรักษา แต่กรณีที่ปวดท้องรุนแรงมาก อาจจะรักษาด้วยการเย็บเอ็นยึดมดลูกให้ตึงขึ้นหรืออาจจะตัดมดลูกทิ้ง แล้วแต่การวินิจฉัยของคุณหมอ

ดูแลร่างกายหลังคลอด

          เคล็ดลับดี ๆ และง่ายที่สุดคือการให้ลูกน้อยของคุณกินนมแม่ เพราะจะช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมดลูกเข้าอู่เร็ว ร่างกายคุณแม่ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เหนืออื่นใด ลูกน้อยยังได้รับสารอาหารที่ดี มีประโยชน์ และไออุ่นความรักจากคุณแม่ นอกจากเทคนิคที่ว่าแล้ว การปฏิบัติตัวต่อไปนี้ ก็เป็นเทคนิคที่คุณแม่ทำได้

          กินผัก ผลไม้ และอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

          การจิบหรือดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น เดินเล่น

          สำหรับการอยู่ไฟ ที่ช่วยให้มดลูกหดรัดตัวเร็วนั้น คุณแม่ควรศึกษาข้อมูลและอยู่ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเป็นดีที่สุด

          ดังนั้น การสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้คุณแม่ดูแลร่างกายและรับมือกับภาวะผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีสติ และใช้ช่วงเวลาความสุขอยู่กับลูกน้อยอย่างเต็มที่ค่ะ



            


ขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.8 No.91 กรกฎาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้ไหม...มดลูกเข้าอู่ คืออะไร อัปเดตล่าสุด 22 สิงหาคม 2555 เวลา 15:42:29 27,191 อ่าน
TOP