x close

16 สัญญาณเตือนว่าท้อง เช็กอาการคนท้องแรก ๆ ที่บ่งบอกว่าคุณกำลังจะเป็นคุณแม่

          สัญญาณเตือนว่าท้อง 1 สัปดาห์ ไปจนถึงเดือนแรก ๆ อาการคนท้องที่สังเกตได้มีอะไรบ้าง ต่างจากตอนก่อนมีประจำเดือนยังไง ถ้ามีอาการคนท้องไม่รู้ตัวเหล่านี้ เตรียมเป็นว่าที่คุณแม่ได้เลย
สัญญาณเตือนว่าท้อง

          ใครที่วางแผนครอบครัวและกำลังตั้งตารอคอยเจ้าตัวน้อยอยู่ คงรู้สึกกังวลและลุ้นปน ๆ กันไป เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายขึ้น พร้อมกับคำถามว่านี่ใช่การตั้งครรภ์หรือเปล่านะ ? เพราะสัญญาณเตือนว่าท้องไม่ได้มีแค่ประจำเดือนขาด คลื่นไส้ หรืออาเจียนเท่านั้น แต่ว่าที่คุณแม่บางคนอาจมีอาการคนท้องที่แตกต่างกันไป วิธีสังเกตว่าท้องหรือไม่ ดูจากอะไรได้บ้าง วันนี้กระปุกดอทคอมมีข้อมูลมาให้เช็กลิสต์กัน พร้อมความแตกต่างระหว่างอาการคนท้องกับช่วงก่อนมีประจำเดือน

สัญญาณเตือนว่าท้อง มีอะไรบ้าง

          อาการเตือนที่บ่งชี้ได้ว่าคุณอาจอยู่ในภาวะ “ตั้งครรภ์” จะมีอะไรบ้างนั้น ลองไปสังเกตกันดู

1. ประจำเดือนขาด ประจำเดือนมาช้า

          การขาดประจำเดือน ประจำเดือนไม่มาตามรอบปกติ มักเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ผู้หญิงเราจะสังเกตได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาดนั้นมาจากฮอร์โมนเอชซีจี (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) ที่ร่างกายผลิตเพื่อให้ร่างกายหยุดการตกไข่ในระหว่างตั้งครรภ์ ส่งผลให้เยื่อบุมดลูกไม่ลอกออกมา เพื่อรักษาไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิและฝังอยู่ในผนังมดลูก ดังนั้นถ้าหากประจำเดือนขาดหายไป หรือคลาดเคลื่อนไปหลายวัน ก็จะเป็นอาการบ่งบอกว่าคุณอาจกำลังตั้งครรภ์ได้ แต่บางครั้งอาจจะเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนหรือภายในมดลูกได้ ดังนั้นควรตรวจครรภ์เพื่อความแน่ใจอีกครั้ง

2. มีเลือดออกจากช่องคลอด

          บางครั้งอาจพบว่ามีเลือดออกกะปริบกะปรอยคล้ายกับเวลาใกล้หมดประจำเดือน คนทั่วไปเรียกว่า “เลือดล้างหน้าเด็ก” ซึ่งจะพบในช่วง 6-12 วัน หลังจากไข่ได้รับการปฏิสนธิ โดยเป็นเลือดที่เกิดจากไข่ซึ่งผ่านการผสมกับสเปิร์มแล้วเคลื่อนไปเกาะและฝังตัวอยู่ที่ผนังมดลูก ทำให้มีเลือดออกปริมาณเล็กน้อยจากบริเวณช่องคลอดลักษณะเป็นสีชมพู หรืออาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย จึงอาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือน

3. ตกขาวมากกว่าปกติ

          เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ในช่วงแรก ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะมีการเปลี่ยนแปลง บวกกับร่างกายพยายามทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อบริเวณช่องคลอด ทำให้มีน้ำไหลออกมาจากช่องคลอดมากขึ้น และหลุดออกมาเป็นตกขาว ซึ่งมักจะมีสีใสหรือขาวขุ่น และไม่มีกลิ่น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ต้องกังวล

4. ตึงคัดเต้านม

          อาการตึงหรือคัดเต้านม ส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รู้สึกคัดตึงเต้านมคล้าย ๆ ช่วงก่อนที่จะมีประจำเดือนหรือเสียวจี๊ด ๆ ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นได้หลังจากประจำเดือนเริ่มขาดไปประมาณ 1 สัปดาห์ นอกจากนี้แม่ท้องบางคนยังมีหัวนมที่ขยายใหญ่และดำขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมน HPL (Human Placental Lactogen) ที่จะมีส่วนในการผลิตน้ำนมในเวลาต่อมาด้วย

5. เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย

          อาการเหนื่อยง่ายของคนที่เริ่มตั้งครรภ์ เป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอวัยวะหลายส่วน เช่น หัวใจ ปอด และไต จะต้องทำงานหนักมากขึ้นเพื่อบำรุงตัวอ่อนทารกที่อยู่ในครรภ์ ทำให้ว่าที่คุณแม่อ่อนล้า ง่วงนอนบ่อย โดยอาการเหล่านี้อาจพบได้ตั้งแต่ช่วงสัปดาห์แรก ๆ ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 12 ของการตั้งครรภ์ ควรงดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และพยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สัญญาณเตือนว่าท้อง

6. คลื่นไส้ อาเจียน

          อาการคลื่นไส้และอาเจียนมักจะเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์มากถึง 50% โดยเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งมักเกิดขึ้นภายใน 1 เดือน หลังจากเริ่มมีการตั้งครรภ์ หรือมีอาการในช่วงเดือนที่ 3-4 ได้

7. เวียนศีรษะ หน้ามืด

          หลังตื่นนอนตอนเช้าบางคนจะมีอาการมึนหัว เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายและความดันเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด ตาลายบ่อย ๆ

8. ปวดศีรษะ

          ผู้หญิงตั้งครรภ์ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งเกิดจากการกดทับของหลอดเลือดใหญ่ที่นำเลือดจากร่างกายไปสู่หัวใจได้ไม่ดี ทำให้มีอาการปวดหัว หน้ามืด เป็นลม โดยจะพบบ่อยในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์

9. ลักษณะการกินเปลี่ยนแปลงไป

          การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายอาจส่งผลให้บางคนเบื่ออาหาร ไม่รู้สึกเจริญอาหารเลยแม้แต่นิด หรือบางคนก็อยากรับประทานอาหารแปลก ๆ ที่ไม่เคยกินมาก่อน หรืออาจเบื่ออาหารที่เคยชอบ อยากรับประทานอาหารเปรี้ยว ๆ สัญญาณเหล่านี้อาจเป็นการบอกได้ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์อ่อน ๆ
สัญญาณเตือนว่าท้อง

10. จมูกไวต่อกลิ่น

          ผลจากฮอร์โมนเอสโตรเจนที่เพิ่มขึ้นทำให้จมูกของคุณแม่ไวต่อกลิ่นทุกชนิดมากขึ้นเป็นพิเศษ จู่ ๆ ก็ไม่ชอบกลิ่นที่คุ้นเคย ได้กลิ่นอะไรก็เหม็นจนอยากอาเจียนไปหมด ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นน้ำหอม กลิ่นสบู่ หรือแม้แต่กลิ่นคนข้างกาย ซึ่งเกิดจากการรับกลิ่นผูกกับเซลล์รับกลิ่นที่เปลี่ยนแปลงจากการที่หลอดเลือดขยาย ทำให้การแปลกลิ่นผิดเพี้ยนไปบ้าง แต่อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง

11. อารมณ์แปรปรวน

          อาการหงุดหงิดง่ายแบบไม่มีสาเหตุ เกิดขึ้นเนื่องจากระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มีการเปลี่ยนแปลง จึงส่งผลกระทบต่อสภาวะอารมณ์และความรู้สึกของแม่ตั้งครรภ์ โดยอาจเซนซิทีฟง่ายเป็นพิเศษ ทั้งเศร้า เหวี่ยง กังวล หรือมีความสุขสุด ๆ ซึ่งอาการคนท้องนี้จะดีขึ้นภายหลังการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก

12. อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น

          ในระหว่างช่วงที่มีการตกไข่ อุณหภูมิของร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ คุณอาจรู้สึกตัวร้อนรุม ๆ คล้ายจะเป็นไข้ เนื่องจากร่างกายสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น หากอุณหภูมิยังคงสูงติดต่อกัน 3 วัน นี่คือลักษณะของการตั้งครรภ์ในช่วงแรก

13. ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ

          เมื่อตัวอ่อนเริ่มเติบโตมากขึ้น ตำแหน่งของทารกในมดลูกมักจะไปเบียดบังและรบกวนการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ และในขณะเดียวกันร่างกายของแม่ก็ต้องผลิตเลือดเพิ่มขึ้นเพื่อใช้บำรุงทารก จึงทำให้กระเพาะปัสสาวะเต็มเร็วขึ้น คนท้องจึงปวดปัสสาวะบ่อย และอาการจะเริ่มดีขึ้นเมื่อมดลูกขยายเข้าในท้อง

14. ท้องผูก

          ไม่ใช่แค่ปัสสาวะบ่อย แต่บางครั้งกลับเกิดอาการท้องผูก ท้องอืดด้วย เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เปลี่ยนแปลงจะไปลดการทำงานของกล้ามเนื้อเรียบภายในระบบทางเดินอาหาร เพื่อให้ร่างกายมีเวลาดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้น จนอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด นอกจากนี้กล้ามเนื้อเรียบที่คลายตัวลงยังส่งผลให้ลำไส้เคลื่อนตัวได้ช้า จึงส่งผลต่อการขับถ่ายและทำให้ท้องผูกได้ แต่ในขณะเดียวกันฮอร์โมนนี้กลับทำหน้าที่ช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกและผนังลำไส้รู้สึกผ่อนคลายได้ด้วย การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ลดเครื่องดื่มน้ำอัดลม และออกกำลังกายเบา ๆ ก็จะช่วยแก้ไขอาการนี้ได้
สัญญาณเตือนว่าท้อง

15. ปวดท้อง ปวดหลัง

          อาการปวดบริเวณท้องและบั้นเอวเป็นหนึ่งในสัญญาณการตั้งครรภ์ ซึ่งคล้ายคลึงกับอาการปวดที่เกิดขึ้นระหว่างมีรอบเดือนมาก อาการนี้เกิดขึ้นจากแรงกดในกล้ามเนื้อมดลูก จึงทำให้เกิดการเกร็งได้ง่าย ในว่าที่คุณแม่บางคนอาจปวดท้องในลักษณะนี้จนถึงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์เลยทีเดียว

16. ความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลง

          อาการคนท้องในระยะแรกที่ทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงยังส่งผลกระทบไปยังภาวะทางอารมณ์ ทำให้แม่ตั้งครรภ์บางรายอาจมีความต้องการทางเพศลดลง หรือบางรายอาจเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาการนี้จะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเข้าสู่การตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 2

อาการคนท้อง

กับก่อนมีประจำเดือน

ต่างกันอย่างไร

          เมื่อเช็กแล้วคุณผู้หญิงหลาย ๆ คนอาจจะไม่แน่ใจว่าอาการเหล่านี้เป็นเพราะใกล้มีประจำเดือน หรือว่ากำลังจะตั้งครรภ์กันแน่ เพราะอาการคล้ายกัน จริง ๆ แล้วแต่ละอาการจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้

อาการคัดเต้านม

  • อาการคัดหรือปวดเต้านมสำหรับผู้มีประจำเดือน อาการปวดจะหายไปในวันที่ประจำเดือนมาวันแรก
  • อาการตึงคัดเต้านมที่เกิดจากการตั้งครรภ์ อาจเกิดขึ้นได้หลังเริ่มตั้งครรภ์ 1-2 สัปดาห์ และอาจเป็นติดต่อกันกว่า 3 เดือน ซึ่งจะเป็นนานกว่าภาวะก่อนมีประจำเดือน

อาการปวดท้อง

  • อาการปวดท้องประจำเดือน จะอยู่บริเวณหน้าท้องและหลังส่วนล่าง โดยจะมีอาการปวดท้องมากกว่า 1 วัน และรู้สึกปวดมาก
  • อาการคนท้องระยะแรก จะปวดบริเวณท้องน้อยและหลังส่วนล่าง จะเป็นอาการปวดท้องที่ไม่รุนแรง เป็นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ และไม่มีอาการป่วย

อาการอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย

  • การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ช่วงก่อนมีประจำเดือน จะรู้สึกหงุดหงิด อารมณ์เสีย วิตกกังวล หรือเศร้า อาจเกิดได้ในช่วง 1-2 วัน ก่อนมีประจำเดือน และหายไปเมื่อประจำเดือนหมด
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ อาจมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายกว่าปกติทั้งความรู้สึกทางบวกและทางลบ เช่น หัวเราะง่าย ตื่นเต้นง่าย ร้องไห้ง่าย คุณแม่บางคนอาจจะเป็นต่อเนื่องจนกระทั่งคลอด
สัญญาณเตือนว่าท้อง

อาการอยากอาหาร

  • ก่อนมีประจำเดือน อาจมีอาการอยากอาหารมากกว่าปกติ ส่งผลให้รับประทานมากขึ้นและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ ส่วนใหญ่จะเป็นอาหารจำพวกแป้ง ของหวาน หรืออาหารที่มีรสเค็ม
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ระยะแรก อาจมีอาการอยากอาหารที่แตกต่างไปจากที่เคยรับประทานในชีวิตประจำวัน หรือชอบอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเป็นพิเศษ เช่น ของดอง ของที่มีกลิ่นเฉพาะตัว

อาการมีเลือดออกจากอวัยวะเพศ

  • ช่วงก่อนมีประจำเดือน ภาวะเลือดออกจากอวัยวะเพศก็คือประจำเดือน อาจมีสีค่อนข้างแดงสด ปริมาณน้อยในช่วงแรก และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากนั้น
  • สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ คือสัญญาณของไข่ที่ปฏิสนธิในเยื่อบุโพรงมดลูก โดยจะมีเลือดสีชมพูหรือแดงจาง ๆ ออกมาเล็กน้อย ประมาณ 1-3 วัน

ท้องหรือไม่ ? เช็กยังไงให้ชัวร์

           อาการคนท้องข้างต้นเป็นเพียงสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังตั้งครรภ์ แต่หากต้องการทราบว่าตั้งครรภ์จริงหรือไม่ สามารถตรวจการตั้งครรภ์ได้ด้วยวิธีดังนี้
  • ชุดตรวจครรภ์

          การตรวจครรภ์ด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์ เพื่อตรวจหาฮอร์โมน HCG ในปัสสาวะ มีความแม่นยำมากกว่า 90% เพราะฮอร์โมนนี้นอกจากจะอยู่ในกระแสเลือดแล้ว ยังขับออกมาได้ทางปัสสาวะ ทำให้เราสามารถตรวจค่าการตั้งครรภ์ได้จากอุปกรณ์ดังกล่าว ปัจจุบันมีทั้งชุดตรวจครรภ์แบบแถบจุ่ม แบบปัสสาวะผ่าน แบบหยด หรือแบบตลับ หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป ทั้งนี้ ควรตรวจหลังจากประจำเดือนขาดอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และใช้ปัสสาวะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน เพราะจะเป็นช่วงที่ฮอร์โมน HCG เข้มข้นที่สุด

  • ตรวจการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาล

           ตรวจครรภ์กับคุณหมอ เป็นวิธีที่ทราบผลแน่ชัดมากที่สุด โดยจะมีทั้งวิธีการเก็บปัสสาวะ การตรวจเลือด และการตรวจอัลตราซาวด์ หากผลออกมาว่าตั้งครรภ์ก็ควรรีบฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์

          อย่างไรก็ตาม ในผู้ที่ตั้งครรภ์ช่วงระยะ 1-2 สัปดาห์แรก จะไม่ค่อยแสดงอาการมากเท่าไร อีกทั้งอาการคนท้องแต่ละคนก็แตกต่างกันไป แม่ตั้งครรภ์บางคนไม่มีอาการแพ้ท้องเลย ในขณะที่บางคนอาเจียนหนักมาก ดังนั้นเมื่อเช็กสัญญาณเตือนว่าท้องแล้วจึงควรตรวจการตั้งครรภ์เพื่อความแน่ใจ จะได้เตรียมเป็นคุณแม่เต็มตัวต่อไปค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก : sikarin.com, paolohospital.com, vichaivej-omnoi.com, bccgroup-thailand.com, petcharavejhospital.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
16 สัญญาณเตือนว่าท้อง เช็กอาการคนท้องแรก ๆ ที่บ่งบอกว่าคุณกำลังจะเป็นคุณแม่ อัปเดตล่าสุด 1 มิถุนายน 2566 เวลา 10:25:15 61,405 อ่าน
TOP