x close

กรดไหลย้อนเมื่อตั้งครรภ์ รับมือให้ดี

กรดไหลย้อนระหว่างตั้งครรภ์

          โรคกรดไหลย้อนเป็นได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะแม่ท้องที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของร่างกาย วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับน่ารู้และวิธีรับมือเมื่อมีอาการกรดไหลย้อนมาฝากคุณแม่ท้องกันค่ะ แล้วจะมีอันตรายต่อลูกในครรภ์หรือไม่เรามีคำตอบจากนิตยสาร MODERNMOM มาแนะนำกันค่ะ

          กระเพาะอาหารของคนเรามีเอาไว้เพื่อย่อยอาหาร ซึ่งจะย่อยได้ก็ต้องมีน้ำย่อย น้ำย่อยมีความเป็นกรดสูงเพื่อที่จะได้ย่อยอาหารที่กินเข้าไปให้แตกตัวเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ เพื่อที่จะดูดซึมลำไส้ในลำดับต่อไป เยื่อบุกระเพาะอาหารจึงมีความทนทานต่อความเป็นกรดสูง นอกนั้นเยื่อบุที่อื่น ๆ ก็จะไม่มีคุณสมบัติในการทนทานต่อความเป็นกรด หลอดอาหารเหนือกระเพาะขึ้นมาก็ไม่ทนต่อกรด เมื่อกรดในกระเพาะอาหารดันขึ้นมาก็จะทำให้เกิดอาการแสบร้อนในอก จุกแน่น จุกเสียดหน้าอก ร้อน ๆ ในคอ กลืนลำบาก อาการนี้ภาษาฝรั่งเขาเรียกกันว่า Heartburn ฟังดูเหมือนคนอกหักใจสลาย ไม่รู้จะเรียกให้มันเข้าใจยากทำไม ภาษาไทยเข้าใจง่าย ๆ ว่า กรดไหลย้อน

          อาการกรดไหลย้อนในคนปกติก็พบได้บ่อยมากแต่ในคนท้องพบได้เยอะมากกว่าอีก มากกว่าครึ่งของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการที่ว่านี้ที่เป็นกันเยอะก็เพราะว่าเมื่อมีการตั้งครรภ์ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์โดยเฉพาะที่ชื่อ โปรเจสเตอโรน จะมีผลทำให้หูรูดต่าง ๆ ในร่างกายหย่อนตัวมากกว่าปกติ รวมทั้งหูรูดระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร ซึ่งปกติแล้วเมื่อกลืนอาหารลงไป หลอดอาหารจะบีบตัวรับกันเป็นทอด ๆ จนถึงกระเพาะอาหาร หูรูดก็จะเปิดให้อาหารผ่านเข้าสู่กระเพาะอาหาร หลังจากนั้นหูรูดก็จะรัดแน่น อาหารและน้ำย่อยไม่สามารถไหลย้อนกลับขึ้นไปได้

          ตอนท้องอ่อน ๆ หูรูดก็จะเริ่มหย่อนแล้ว ยิ่งคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องหนัก ๆ ก็จะยิ่งมีปัญหานี้มากกว่าปกติ การอาเจียนมาก ๆ ก็จะทำให้น้ำย่อยย้อนออกมาโดนหลอดอาหาร ทำให้เกิดอาการแสบในอกจุกแน่นในอก อาการเหมือนกรดไหลย้อนเป๊ะเลย สาเหตุก็คล้าย ๆ กัน แต่กรดไหลย้อนมีอาการแสบแน่นในอกที่ไม่ได้เกิดจากการอาเจียนแพ้ท้อง แต่เกิดเพราะหูรูดมันหย่อนเฉย ๆ เมื่อมดลูกโตขึ้นดันใต้กระเพาะขึ้นมาเรื่อย ๆ น้ำย่อยก็ย่อมล้นทะลักขึ้นมาในหลอดอาหารได้มากขึ้น มันก็เหมือนเราเอาหลอดปักลงบนกล่องนมยูเอชที เมื่อบีบกันกล่องนมก็จะทะลักขึ้นมาบนหลอด ยิ่งท้องโตขึ้นก็ยิ่งเบียดใต้กระเพาะมากขึ้น อาการกรดไหลย้อนก็จะยิ่งเป็นมากขึ้นเมื่อท้องแก่มากขึ้นเรื่อย ๆ

          คุณแม่ที่มีอาการแสบร้อนในอกหลายคนก็อาจเป็นกังวลว่าลูกในท้องจะรู้สึกแสบร้อนเหมือนกันหรือเปล่า จะมีอันตรายต่อลูกไหม...ก็ต้องขอยืนยันเลยนะครับว่าอาการนี้ไม่มีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ใด ๆ การที่กรดไหลย้อนเข้าไปในหลอดอาหารทำให้เรารู้สึกที่ตัวเราว่าเราแสบในหลอดอาหาร มดลูกกับลำไส้ไม่ได้มีอะไรที่เชื่อมต่อกัน น้ำย่อยนี้จึงไม่ได้มีผลทำอันตรายต่อลูกในครรภ์แต่อย่างใด

          ส่วนยาที่ใช้รักษาภาวะกรดไหลย้อนก็จะคล้าย ๆ กับยารักษาโรคกระเพาะ ยาลดกรดธรรมดา หรือยาธาตุน้ำขาวจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยมาก และไม่พบมีอันตรายต่อการตั้งครรภ์แต่อย่างใด ยาลดการหลั่งกรด เช่น Cimetidine, Ranitdine ก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามก็ไม่ควรไปซื้อยากินเองนะครับ ควรใช้ยาตามการรักษาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้นนะครับ

          นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว การปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องก็จะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้มาก เผลอ ๆ อาจไม่ต้องกินยาเลยก็ได้นะครับ เริ่มต้นคือต้องกินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ กินอาหารให้ตรงเวลา หิวปุ๊บน้ำย่อยหลั่งปั๊บ ให้กินทันที น้ำย่อยจะได้ใช้ไปจนหมดไม่เหลือให้ทันออกมา แล้วก็กินทีละนิดทีละหน่อยแต่กินบ่อย ๆ แทน กินมากไปก็จะจุกแน่นล้นออกมาได้ง่าย หลีกเลี่ยงอาหารเผ็ดเปรี้ยว ซึ่งมีความเป็นกรดสูง กรดของเดิมก็จะแย่อยู่แล้ว ไปเติมเผ็ดเติมเปรี้ยวเข้าไปอีกพอไหลย้อนออกมา คราวนี้แสบสาหัสอย่าบอกใครเชียว กินแล้วก็เดินบริหาร เดินย่อยอาหารสักครึ่งชั่วโมง อย่ากินแล้วนอนทันที หากกินแล้วนอนเลยมันก็มักจะกลับออกมาได้ง่าย ตอนนอนควรนอนหัวสูงเข้าไว้ หนุนหมอนสูงสองสามใบ อาการกรดไหลย้อนก็จะน้อยลง

          คุณแม่ที่มีอาการกรดไหลย้อนในระหว่างตั้งครรภ์ พอคลอดปั๊บมดลูกที่ดันอยู่ข้างใต้ก็จะหดเล็กลงทันทีทันใด ก็ไม่มีอะไรไปดันใต้กระเพาะให้รำคาญใจ อาการกรดไหลย้อนก็จะดีขึ้นทันตาเห็น แต่ก็มีบางรายที่ยังมีอาการอยู่ ถ้าก่อนท้องมีอาการกรดไหลย้อนอยู่แล้ว หลังคลอดมันก็คงย้อนเหมือนเดิมครับ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.235 พฤษภาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรดไหลย้อนเมื่อตั้งครรภ์ รับมือให้ดี อัปเดตล่าสุด 19 พฤษภาคม 2558 เวลา 16:04:43 106,265 อ่าน
TOP