x close

น้ำหนักตัวของหนู แม่ต้องรู้ทุกช่วง

ตั้งครรภ์

           เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์พัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์แต่ละไตรมาสเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรหมั่นคำนวณน้ำหนักของลูกน้อยในครรภ์ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับดี ๆ มาแนะนำคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์รวมทั้งเคล็ดลับการดูแลครรภ์ของคุณแม่และน้ำหนักตัวของลูกน้อยไม่ให้น้อยและเพิ่มมากจนเกินไป พร้อมแล้วไปดูเคล็ดลับดี ๆ จากนิตยสารรักลูก กันเลยค่ะ ><

Me...น้ำหนักตัวของลูกรัก

           โดยทั่วไปแล้วน้ำหนักตัวของลูกควรมีพัฒนาการตามอายุครรภ์ และแต่ละไตรมาสบวกลบแล้วต้องไม่ต่างกันเกิน 1-2 สัปดาห์ เด็กเกณฑ์ปกติมักมีน้ำหนักตัวสม่ำเสมอสัมพันธ์กันในแต่ละสัปดาห์ ซึ่งปัจจุบันคุณหมอสามารถคำนวณน้ำหนักของลูกได้จากการอัลตราซาวด์ ดังนี้

ไตรมาสที่ 1

           ช่วงแรกของการสร้างร่างกาย ลูกยังคงน้ำหนักไม่มากและกว่าจะมีน้ำหนักตัวก็เป็นช่วงสัปดาห์ที่ 8 แล้ว ซึ่งหนักเพียง 1 กรัม และไม่เกิน 15 กรัม เมื่อสิ้นสุดไตรมาสแรก

ไตรมาสที่ 2

           ลูกจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงสัปดาห์ที่ 17-20 จะหนักเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 50 กรัม และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสิ้นสุดไตรมาส ก็จะมีน้ำหนักประมาณ 600 กรัม

ไตรมาสที่ 3

           น้ำหนักตัวของลูกจะเพิ่มจากไตรมาสที่ 2 ประมาณ 6 เท่าตัว โดยแต่ละสัปดาห์จะหนักเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 200 กรัม หรือประมาณ 3,400-3,700 กรัม เมื่อครบกำหนดคลอด

หนูหนักเท่านี้...ไม่ค่อยดีนะ

น้ำหนักตัวน้อยเกินไป

           ในแต่ละสัปดาห์หากพบค่าความต่างที่มากขึ้น เช่น สัปดาห์ที่ 10 วัดได้เท่าเด็กสัปดาห์ที่ 9 สัปดาห์ที่ 14 วัดได้เท่าสัปดาห์ที่ 12 จนกระทั่งสัปดาห์ที่ 18 น้ำหนักตัวลูกเหลือเท่าสัปดาห์ที่ 15 อาจสงสัยได้ว่าลูกเติบโตช้า ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากโครโมโซมผิดปกติ รกผิดปกติหรือมีขนาดเล็ก ทำให้นำอาหารและออกซิเจนมาเลี้ยงลูกได้น้อย หรือสายสะดือเล็กหรือสั้นเกินไปทำให้ลำเลียงออกซิเจนได้น้อยเช่นกันในกรณีเด็กแฝด การรับสารอาหารผ่านรกที่มีขนาดไม่เท่ากันอาจทำให้ลูกคนใดคนหนึ่งมีน้ำหนักตัวน้อย เนื่องจากมีการแย่งสารอาหาร ทำให้ลูกที่ตัวเล็กกว่ามีโอกาสเสียชีวิตได้

           นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากคุณแม่ด้วย เช่น แม่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ มีภาวะทุพโภชนาการกินไม่พอ ขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน เป็นต้น

น้ำหนักเกินก็ผิดปกติ

           โดยเฉพาะคุณแม่ที่กินเยอะเกินไป ลูกอาจมีภาวะน้ำหนักเกินและเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ ทั้งยังเสี่ยงคลอดติดขัด แพทย์จึงต้องใช้หัตถการช่วยเช่น ใช้คีมดูดหัวลูก หรือใช้เครื่องดูดสุญญากาศ ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลและเพิ่มอันตรายหรืออัตราการตายของลูกสูงขึ้น

           การคลอดติดขัดยังทำให้เสี่ยงต่อการฉีกขาดของช่องคลอดปากมดลูกฉีกขาด แม่อาจตกเลือดมาก เพิ่มอัตราการคลอดเองไม่สำเร็จจนต้องผ่าคลอดแทน

           เด็กทารกที่น้ำหนักเกินตั้งแต่แรกเกิด เมื่อเติบโตขึ้นย่อมจะเป็นโรคอ้วนที่ยากต่อการรักษา เนื่องจากเซลล์ไขมันมีขนาดใหญ่ และมีปริมาณมาก

Mommy...เคล็ดลับดูแลครรภ์

           ตลอดการตั้งครรภ์ แม่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 12-15 กิโลกรัม ถ้าแบ่งเป็น 3 ไตรมาสส่วนใหญ่ไตรมาสแรกคุณแม่จะยังไม่หนักมาก แต่ไตรมาสที่ 2 และ 3 จะหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 7 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย

           คุณแม่จึงต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงสม่ำเสมอโดยเฉพาะก่อนตั้งครรภ์ ควรตรวจสุขภาพก่อนแต่งงานเพื่อเตรียมภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ฝากครรภ์เนิ่น ๆ ดูแลเรื่องอาหารการกิน และออกกำลังกายระหว่างตั้งครรภ์อย่างสม่ำเสมอควบคุมน้ำหนักอย่าให้มากเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลต่อสุขภาพของตัวเองและลูกน้อยได้

           การดูแลฝากครรภ์อย่างต่อเนื่องจากช่วยตรวจเช็กพัฒนาการและควบคุมน้ำหนักตัวของคุณแม่กับลูกน้อยได้เป็นอย่างดี




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 385 กุมภาพันธ์ 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำหนักตัวของหนู แม่ต้องรู้ทุกช่วง อัปเดตล่าสุด 24 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 14:00:52 6,181 อ่าน
TOP