x close

โลหิตจาง ในหญิงตั้งครรภ์

ตั้งครรภ์

          ชวนคุณแม่มาทำความรู้จักภาวะนี้ให้มากขึ้น เพื่อการวางแผนดูแลสุขภาพตัวเองให้เหมาะสมค่ะ

อันตรายต่อแม่และทารกในครรภ์

          คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ หากเกิดภาวะโลหิตจางจะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ คือ คุณแม่จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ต้องมีการทำงานของหัวใจที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว และในระยะคลอดเมื่อมีการเสียเลือดจากการคลอดก็จะเสี่ยงต่อการช็อกหรือไตล้มเหลวได้ และมีการติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ ส่วนทารกในครรภ์ อาจส่งผลให้เกิดการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ทารกโตช้าในครรภ์ มีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ เสียชีวิตในครรภ์ หรือเป็นโรคโลหิตจางได้

          ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณเม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น ขาดสารอาหารจำพวกธาตุเหล็กและโฟเลต เสียเลือดเรื้อรังจากการมีพยาธิหรือริดสีดวงทวาร โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติ ส่งผลให้มีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เป็นต้น ในประเทศไทยภาวะโลหิตจางส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ

การตรวจวินิจฉัย

          ปัจจุบันการดูแลระหว่างการตั้งครรภ์จะมีการตรวจเลือดของมารดาเพื่อหาภาวะโลหิตจางเสมอ โดยตรวจปริมาณ ลักษณะรวมถึงขนาดของเม็ดเลือดแดง และตรวจหาลักษณะกรรมพันธุ์ของโรคเลือดจางธาลัสซีเมีย อาจส่งตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมตามภาวะที่สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโลหิตจาง เช่น ปริมาณธาตุเหล็กในเลือด ตรวจหาพยาธิหรือเลือดในอุจจาระ การตรวจภาวะโรคภูมิคุ้มกัน เป็นต้น

แนวทางในการรักษา

          การรักษาจะเป็นไปตามสาเหตุของการเกิดโลหิตจาง หากเกิดจากการขาดธาตุเหล็กจะให้การรักษาโดยเพิ่มปริมาณวิตามินบำรุงครรภ์ที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หากสาเหตุของการเกิดโลหิตจางนั้นเกิดจากโรคประจำตัวของคุณแม่ เช่น โรคทางภูมิคุ้มกัน โรคไต การรักษาจะเป็นการให้ยาควบคุมโรคให้สงบร่วมกับการให้ธาตุเหล็กเสริม นอกจากนี้ยังมีการให้ธาตุเหล็กทางเส้นเลือด หรือให้เลือดในกรณีจำเป็นเร่งด่วน

          ระหว่างการฝากครรภ์ยังต้องมีการประเมินระดับเม็ดเลือดแดงเป็นระยะและรักษาให้มีปริมาณอยู่ในระดับปกติ เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนจากภาวะโลหิตจาง เช่น อาการเหนื่อยจากภาวะหัวใจล้มเหลว

          การประเมินความเสี่ยงของทารกในครรภ์ ทำได้โดยการตรวจติดตามการเจริญเติบโตที่ถี่ขึ้นกว่าปกติ อาจร่วมกับการติดตามด้วยการตรวจอัลตร้าซาวนด์ และหากภาวะโลหิตจางนี้เกิดจากโรคธาลัสซีเมีย จะต้องประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคโลหิตจางของทารกในครรภ์ โดยตรวจดูเลือดของคุณพ่อร่วมด้วยเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเกิดโรค หากมีความเสี่ยงสูง อาจมีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ก่อนคลอดโดยตรวจน้ำคร่ำ เลือดสายสะดือ หรือตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อรก

มีโอกาสกลับมาเป็นอีกหรือไม่

          ภาวะโลหิตจางระหว่างตั้งครรภ์มีโอกาสกลับมาเป็นใหม่ได้แน่นอน หากได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เนื่องจากในระหว่างที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีความต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ เพื่อนำไปสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น นำไปสร้างทารกในครรภ์และรก และเตรียมสำหรับการเสียเลือดจากการคลอดบุตร รวมถึงหลั่งออกมากับน้ำนมแม่

          โดยเฉลี่ยแล้วขณะตั้งครรภ์ต้องการธาตุเหล็กเสริม 6-7 มิลลิกรัมต่อวัน แต่หากอาหารประจำวันจะทำให้ได้รับธาตุเหล็ก เพียงวันละ 1-1.5 มิลลิกรัม ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในขณะตั้งครรภ์ ดังนั้น ยาเสริมธาตุมีความจำเป็นมากระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด หากไม่ได้รับธาตุเหล็กในรูปวิตามินเสริมก็จะทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้

          ดังนั้นการวางแผนตั้งครรภ์ ควรดูแลเพื่อป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ กินอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เนื้อหมู ตับ เลือด กุ้งแห้ง ยอดกระถิน ถั่วลิสง งาขาวคั่ว เป็นต้น และตรวจเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร หากพบภาวะโลหิตจางจะได้หาสาเหตุและทำการแก้ไขก่อนตั้งครรภ์ เพื่อความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์และสุขภาพที่ดีของคุณแม่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โลหิตจาง ในหญิงตั้งครรภ์ อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2558 เวลา 16:31:27 22,268 อ่าน
TOP