x close

พลิก คว่ำ คืบ สัญญาณของกล้ามเนื้อมัดใหญ่

พัฒนาการลูกน้อย
การพลิก คว่ำ คืบ เป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์ของลูกน้อย

“พลิก คว่ำ คืบ” สัญญาณของกล้ามเนื้อมัดใหญ่
(modernmom)
เรื่อง : กิ่งกาญจน์ ศรีปริญญาศิลป์

          จากทารกตัวเล็กที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้สู่การเริ่มพลิกคว่ำในวัย 3-4 เดือน นั่นเป็นสิ่งที่คุณแม่ทุกคนรอคอยด้วยความตื่นเต้นที่จะเห็นลูกรักเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง อันสะท้อนถึงความแข็งแรงสมบูรณ์ของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ว่าทำงานได้ดีเพียงไร

รู้จักกล้ามเนื้อมัดใหญ่

          กล้ามเนื้อมัดใหญ่คือ ส่วนที่ใช้พัฒนาเพื่อการทรงตัว การเคลื่อนไหวของร่างกายโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นการพลิกคว่ำ การคืบ คลาน ไปจนถึงการเดิน ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะมีการพัฒนาไปตามลำดับในเด็กที่สมบูรณ์ นอกจากว่าทารกน้อยบางคนอาจมีความผิดปกติที่ทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่เจริญเติบโตหรือแข็งแรงอย่างเต็มที่ ดังนั้นการสังเกต การจดบันทึก และส่งเสริมพัฒนาการเพื่อการเคลื่อนไหวจึงสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการพลิก คว่ำ และคืบ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวที่สมบูรณ์ในอนาคต

1-3 เดือน เรียนรู้พลิกคว่ำ

          ไตรมาสแรกแห่งชีวิตน้อย ๆ นั้นคุณแม่ทุกคนคงตื่นเต้นที่จะได้เห็นร่างเล็ก ๆ ที่เคยนอนส่งเสียงอ้อแอ้เริ่มพาตัวเองพลิกคว่ำได้ ซึ่งก่อนที่จะพลิกตัวเองได้นั้นต้องเป็นหลังจากที่สามารถตั้งศีรษะและลำคอได้ก่อน โดยในวัยประมาณ 3 เดือน คอทารกแข็งขึ้นมากพอที่จะรับน้ำหนักศีรษะของตัวเองในขณะที่เริ่มการเคลื่อนไหวโดยชูศีรษะได้ 45 องศาและยกไหล่ขึ้นได้

          เด็กแต่ละคนจะมีพัฒนาการและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต่างกัน เด็กบางคนสามารถพลิกคว่ำได้ตั้งแต่เข้าเดือนที่ 2 ขณะที่บางคนอาจทำได้ในช่วงหลัง 4 เดือนขึ้นไป โดยในช่วงเริ่มต้น ทารกที่พร้อมจะคว่ำได้จะมีการเคลื่อนไหวที่มากขึ้น สัมพันธ์กับการมองเห็นและความสนใจอันกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกอยากเคลื่อนไหว เด็กอาจจะพลิกแขนข้างใดข้างหนึ่ง ยกลำตัวกับพื้นเพื่อดันให้ร่างพลิกคว่ำให้ได้

          ในช่วงนี้ลูกน้อยบางคนอาจจะพลิกคว่ำได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังไม่สามารถจะพาตัวเองกลับมานอนหงายได้ ก็ไม่ต้องตกใจแต่อย่างใด เพราะอีกไม่นานลูกน้อยก็จะสามารถพลิกตัวจากคว่ำมานอนหงายได้เอง ซึ่งการพลิกคว่ำนี้ เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง ลำตัวส่วนบนขึ้นไป และพัฒนาแขน ขา ไปพร้อม ๆ กัน

4-6 เดือน หงาย คว่ำ ได้ตามใจ

          เมื่อลูกน้อยพลิกตัวคว่ำได้เองแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้ว่า การช่วยบริหารกล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง เป็นเคล็ดลับที่จะทำให้เด็กสามารพลิกตัวหงายกลับมาได้ค่อนข้างเร็วขึ้น การเล่นกับลูกมาก ๆ จึงเป็นการช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยลูกให้เล่นท่านอนคว่ำบ่อย ๆ ไม่ควรอุ้มทารกเอาไว้ตลอดเวลา เพราะจะทำให้เขาขาดโอกาสพัฒนาการ

          ในระหว่างที่ลูกนอนคว่ำ อาจหาของเล่นมาหลอกล่อลูก โดยวางไว้ข้าง ๆ ตัว หรือยื่นให้ลูกดูเป็นระยะพร้อมส่งเสียงเพื่อดึงดูดความสนใจเป็นการกระตุ้นให้ลูกเอื้อมมือไปหยิบและพลิกตัวเข้าหา ซึ่งในช่วงแรกกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ของลูกจะยังไม่แข็งแรงนัก เขาอาจต้องพยายามอยู่หลายครั้งกว่าจะพลิกได้ โดยลูกน้อยอาจงอแขนยันพื้นช่วย แล้วทำท่ายงโย่เคลื่อนไปมาอยู่นาน จึงต้องให้เวลากับเขาและใจแข็งที่จะปล่อยให้ลูกน้อยได้พลิกด้วยตัวเอง อาจใช้หมอนช่วยพยุงตัวเป็นครั้ง ๆ กระทั่งเมื่อพลิกได้แล้วก็ไม่ต้องใช้หมอนช่วยอีกต่อไป

          อย่าลืมสังเกตว่าหากลูกหงุดหงิด เมื่อไม่สามารพลิกตัวได้จนอาจร้องงอแงออกมา ก็ให้หยุดการเล่นก่อน เพื่อไม่ให้อารมณ์เสียจนเบื่อที่จะเล่นในครั้งถัดไป

7-9 เดือน กระดึ้บ ไปข้างหน้าด้วยลีลาแสนสนุก

          เมื่อลูกน้อยสนุกและเชี่ยวชาญกับการพลิกคว่ำพลิกหงายได้แล้ว และก็ถึงเวลาแห่งการนั่งได้ด้วยตัวเอง หลังจากนั่งได้อย่างมั่นคงแล้ว ลูกน้อยจะค่อย ๆ โน้มตัวลง และนอนคว่ำ เพื่อเหยียดตัวนอน จากนั้นความสนใจจะชักนำให้เจ้าตัวเล็กอยากคืบคลานไปข้างหน้า การเริ่มต้นคืบ คือลักษณะที่ทารกใช้ลำตัวไถไปข้างหน้า โดยใช้กำลังแขนและขาเป็นตัวผลักดันลำตัว การคืบนี้เด็ก ๆ จะสนุกสนานมาก เพราะโดยธรรมชาติแล้วทารกน้อยต้องการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าโดยเฉพาะเมื่อมีสิ่งที่น่าสนใจรออยู่

          คุณพ่อคุณแม่อาจหาของเล่นที่มีสีสันสดใส มีเสียงดนตรี และมีการเคลื่อนไหวเพื่อหลอกล่อให้ลูกคืบเข้ามาหา อาจจำเป็นต้องจัดพื้นที่ให้เป็นสัดส่วนสำหรับการฝึกคืบคลาน มีพื้นที่อ่อนนุ่ม ไม่แข็งเกินไป และไม่ควรให้ลูกฝึกคลานในที่สูงหรือพื้นที่ต่างระดับ เพราะจะเสี่ยงต่อการตกลงมาได้

          ในช่วง 7-9 เดือนนี้ไม่จำเป็นที่ลูกน้อยจะคืบได้เหมือนกันทุกคน ขอเพียงให้สังเกตว่าลูกน้อยมีความแข็งแรง เคลื่อนไหวได้ปกติ และร่าเริงกับการเล่นก็เพียงพอ

          สิ่งที่ไม่ควรลืมคือการปรบมือกล่าวคำชื่นชม เมื่อลูกมีความพยายาม และสามารถทำได้ดี จะช่วยให้ลูกมีกำลังใจที่จะพัฒนาตัวเองไปข้างหน้าได้ดีขึ้นด้วย

10-12 เดือน เด็กเคลื่อนที่เร็ว

          ถึงตอนนี้กล้ามเนื้อแขนขาของลูกเติบโตแข็งแรงเต็มที่ การพัฒนาของลูกน้อยทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ สมอง การจดจำ สังเกตและสายตา ทำงานเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์

          เด็กที่ฝึกคืบได้เก่งแล้วจะเข้าสู่พัฒนาการของการคลาน ลำตัวจะถูกยกขึ้นในท่าเตรียมพร้อม ลำแขนน้อย ๆ ตั้งฉากกับพื้น เช่นเดียวกับขาที่จะเป็นตัวผลักร่างกายให้เคลื่อนไหวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

          หากลูกน้อยคลานได้แล้วนี่คือเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องเหน็ดเหนื่อยไปพร้อมกับความสนุกกับการได้เฝ้าดู ไล่จับ และคอยระวังภัยให้ลูกน้อย และมีทารกจำนวนไม่น้อยที่ข้ามขั้นตอนการคลานไปสู่การยืนหลังจากการคืบ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องต้องกังวลแต่อย่างใด

          ในวัยใกล้ 1 ขวบนี้ เด็กน้อยที่คืบคลานได้เก่งแล้ว มักจะเริ่มต้นการยืนโดยการเกาะวัตถุหรือผนังเพื่อยันตัวเองขึ้นยืน ซึ่งสามารถเป็นอันตรายแก่เด็กได้หากไม่ได้เตรียมพื้นที่เผื่อสำหรับการหกล้ม และการจัดให้ลูกมีที่เกาะเพื่อฝึกฝนการยืนก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น และพัฒนาการไปสู่การเดินเร็วขึ้นอีกด้วย

ตารางพัฒนาการ

        
1-3 เดือน : ควบคุมศีรษะได้ หันหน้าและศีรษะตามเสียงหรือสิ่งเคลื่อนไหว เอื้อมมือคว้าสิ่งที่ชอบ ดันตัวพลิกจากท่าหงายเป็นท่าคว่ำ

         4-6 เดือน : พลิกตัวจากคว่ำ เพื่อกลับมาหงาย หันหน้าไปมา ระหว่างซ้ายวา หรือมองหันหลัง

         7-9 เดือน : นั่งได้มั่นคง และคืบไปข้างหน้าด้วยการยกตัวขึ้นเล็กน้อย ยื่นมือไปข้างหน้าทีละข้างเหมือนท่าว่ายน้ำใช้ขาดันตัวเองในลักษณะกระดึ้บไปทีละน้อย จนพาตัวเองเคลื่อนไหวไปตามที่ต้องการ

         10-12 เดือน : คืบและคลาน โดยผลักตัวเองไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว สามารถหยุดเพื่อลุกนั่ง นอนพลิกคว่ำหงายและไปต่อได้ตามชอบใจ กระทั่งสามารถเกาะผนังหรือรั้วเพื่อยันตัวเองลุกขึ้นยืนได้

วิธีกระตุ้นพัฒนาการ

         ส่งเสียงเรียกลูกกระตุ้นให้ลูกหันมองไปทางซ้ายและขวา ระหว่างนอนหงาย ฝึกการมองตามวัตถุจะช่วยสร้างกล้ามเนื้อคอให้แข็งแรง

         หาของเล่นมาวางข้าง ๆ ลูก เพื่อกระตุ้นให้ลูกพลิกตัวมาหยิบ บางครั้งใช้หมอนดัน เพื่อช่วยให้ลูกพลิกได้ง่ายขึ้น จับลูกเล่นนอนคว่ำหงายบ่อย ๆ แทนการอุ้ม

         สร้างพื้นที่ให้ลูกฝึกนั่งหรือจับนั่งบ่อย ๆ โดยปล่อยแขนเป็นระยะ ๆ เมื่อลูกนั่ง และพยายามคืบไปข้างหน้า ใช้ของเล่นมีสีสันหลอกล่อให้ลูกคืบมาหา ทำเป็นประจำจะยิ่งช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง

         เรียกชื่อลูก เล่นจ๊ะเอ๋หรือหาของเล่นที่ลูกชื่นชอบ เพื่อกระตุ้นให้ลูกเคลื่อนไหวให้มาก ฝึกการคลานให้ลูกโดยจับท่าเตรียมคลานและมีของหลอกล่ออยู่อีกด้าน จะช่วยให้คลานเร็วขึ้น ฝึกยืนด้วยการหาที่จับให้ลูก

          ทั้งหมดนี้คือความมหัศจรรย์ของกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และเซลล์สมอง ที่ทำงานร่วมกันภายใต้ร่างกายเล็ก ๆ ของลูกน้อย พัฒนาไปสู่การเจริญเติบโตตามธรรมชาติ ซึ่งทุกย่างก้าวของลูกน้อยจะเข้มแข็งและมีศักยภาพมากเพียงใดอยู่ที่การส่งเสริมพวกเขาทั้งด้านอาหาร โภชนาการ การเคลื่อนไหว การดูแลความปลอดภัย และการกระตุ้นพัฒนาการที่เหมาะสม เพื่อให้ลูกรักเคลื่อนไหวได้อย่างสมบูรณ์ อันจะนำไปสู่การรู้จักช่วยเหลือตัวเองได้ดีในอนาคต






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.19 No.225 กรกฎาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลิก คว่ำ คืบ สัญญาณของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ อัปเดตล่าสุด 16 กันยายน 2557 เวลา 14:31:30 37,018 อ่าน
TOP