x close

การสัมผัส กระตุ้นพัฒนาการลูกแรกเกิด

เด็กแรกเกิด

การสัมผัส กระตุ้นพัฒนาการลูกแรกเกิด
(รักลูก)
โดย : เมธาวี

          แค่การสัมผัสลูก เช่น อุ้ม กอด หรือแม้แต่การเปลี่ยนผ้าอ้อม การอาบน้ำ ล้วนสามารถกระตุ้นพัฒนาการที่ดีให้กับลูกน้อยได้อย่างไม่น่าเชื่อ

 สัมผัสดีพัฒนาการลูกดี

          การสัมผัสลูกน้อยแรกเกิด จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการที่ดีให้ลูกได้ เพียงแค่คุณแม่สัมผัสลูกด้วยความอ่อนโยนผ่านการอุ้ม การโอบกอด ก็จะทำให้เกิดการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อระหว่างคุณแม่กับลูก ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกอบอุ่น และช่วยกระตุ้นพัฒนาการต่าง ๆ ได้

          สัมผัสอ่อนโยน พัฒนาสมอง การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อระหว่างคุณแม่กับลูกน้อย ช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้หลายด้าน โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิดที่เซลล์สมองยังไม่มีการพัฒนาใด ๆ แต่การสัมผัสที่อ่อนโยนจากคุณแม่จะช่วยกระตุ้นการสร้างเครือข่ายใยประสาท ให้เชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น ถ้าเครือข่ายเส้นใยประสาทเกิดขึ้นเยอะ ย่อมส่งผลให้สมองทำงานได้คล่องแคล่วว่องไว มีการเชื่อมโยงถึงกันง่าย ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อยได้มากขึ้น

          เนื้อแนบเนื้อ กระตุ้นฮอร์โมนดี การสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อที่อ่อนโยนของคุณแม่ ยังช่วยกระตุ้นฮอร์โมนในร่างกายของลูกน้อยด้วย เพราะขณะที่คุณแม่สัมผัสลูก อุ้มลูก กอดลูก จะทำให้ฮอร์โมนอ๊อกซิโทซินในตัวลูกสูงขึ้น ทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น มีความสุข เชื่อมั่นในตัวคุณแม่ และยังช่วยในเรื่องพัฒนาการทางด้านสังคม สร้างความมั่นใจ มีความสุขมากขึ้น

          นอกจากนั้น ยังช่วยกระตุ้นให้โกรว์ทฮอร์โมนสูงขึ้น ทำให้ลูกน้อยมีการเจริญเติบโตที่ดี เมื่อฮอร์โมนแห่งความสุขเพิ่มสูงขึ้น ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนของความเครียดก็จะลดลง เมื่อลูกน้อยไม่เครียด อารมณ์ดี ก็จะมีพัฒนาการดีรอบด้าน

 สัมผัสไม่ดี...ทำพัฒนาการถดถอย

          การสัมผัสที่ไม่ดี ไม่ใช่เพียงสัมผัสที่รุนแรงเท่านั้น แต่เป็นการสัมผัสที่น้อยเกินไป ซึ่งเด็กแรกเกิดการมองเห็น การได้ยินจะยังไม่ชัดเจน การสัมผัสโดยตรงจากคุณแม่แบบเนื้อแนบเนื้อเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ทั้งยังช่วยกระตุ้นพัฒนาการต่าง ๆ ได้ดีและลูกรับรู้ได้ดีที่สุด

          เพราะเวลาที่ลูกถูกอุ้ม ถูกกอด ปลอบโยน ความเครียดก็จะลดลง พอความเครียดลดลงก็ทำให้เป็นเด็กที่มีความสุขเพิ่มมากขึ้น ทำให้เป็นเด็กอารมณ์ดี เมื่อมีอารมณ์ดีก็ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายดีตามไปด้วย ทำให้ลูกน้อยกินได้เยอะขึ้น การเจริญเติบโตก็ดีขึ้นตาม เป็นวงจรแห่งพัฒนาการที่ดีให้ลูกน้อย

          ตรงข้ามกับเด็กที่ได้รับการสัมผัสน้อยหรือขาดเรื่องของการสัมผัสไป การเจริญเติบโตก็อาจจะดีไม่เท่ากับเด็กที่ได้รับการสัมผัสอยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น เด็กกำพร้าที่ไม่ได้รับการสัมผัส การกอด การอุ้มบ่อย ๆ จะทำให้ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) เพิ่มสูงขึ้น มีความเครียดมากกว่าเด็กที่ได้รับการสัมผัส การกอดบ่อย ทำให้เด็กขาดความมั่นใจ อารมณ์ไม่มั่นคง มีพฤติกรรมเอนเอียงไปในทางความรุนแรงได้ง่ายกว่า

          สัมผัสเบา ๆ ของคุณแม่ไม่เพียงทำให้ลูกรู้สึกถึงความอบอุ่น แต่ยังช่วยกระตุ้นให้มีพัฒนาการที่ดีได้อีกด้วย อย่าลืมสัมผัสลูกด้วยความรักบ่อย ๆ นะคะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การสัมผัส กระตุ้นพัฒนาการลูกแรกเกิด อัปเดตล่าสุด 5 กันยายน 2556 เวลา 15:43:04 2,103 อ่าน
TOP