x close

โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก โรคอันตรายของเด็ก

โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก

โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก โรคอันตรายของเด็ก
(รักลูก)
โดย : เกื้อกูล

          ข่าวการเสียชีวิตของน้องโมจิจากโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก Inherited metabolic disorders หรือ Inborn errors of metabolism (IBEM) ทำให้พ่อแม่ลูกเล็กตื่นตัวให้ความสนใจกับโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกเป็นอย่างมาก เพราะแม้จะเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนักในเด็กวัย 0-1 ปี แต่โรคพันธุกรรมเมตาบอลิกก็เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวังไว้ เพราะมีความรุนแรงและส่งผลต่อสุขภาพของลูกได้อย่างคาดไม่ถึงเลยล่ะค่ะ

โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก

          โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก หรืออีกชื่อคือโรคเมตาบอลิกดิสออร์เดอร์ Inherited metabolic disorders หรือ Inborn errors of metabolism (IBEM) เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ถูกถ่ายทอดมาในลักษณะของยีนด้อยหรือยีนแฝงที่ได้รับจากพ่อแม่ และพ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมียีนชนิดนี้ ซึ่งกลุ่มโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกนี้มีอยู่เป็นร้อยโรคเลยทีเดียว

          โรคพันธุกรรมเมตาบอลิกมักจะเกิดจากการแต่งงานกันในเครือญาติหรือ คนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีสายพันธุ์หรือเชื้อชาติเดียวกัน เช่น ชาวอาหรับ ชาวยิว หรือชาวจีนในชนบท ส่วนในประเทศไทยมักจะพบตามต่างจังหวัด ที่มีการแต่งงานในหมู่บ้านเดียวกัน หรือในอดีตเคยมีความเกี่ยวดองเป็นญาติกัน

          โรคพันธุกรรมเมตาบอลิกเกิดจากยีนที่ควบคุมเอนไซม์ในการย่อยสารอาหาร ไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ จึงส่งผลให้เอนไซม์ที่ทำหน้าที่สังเคราะห์สารอาหารผิดปกติไป เช่น เอนไซม์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยสลายโปรตีนบางอย่างในกรดอะมิโนผิดปกติ ส่งผลให้กรดอะมิโนไม่สามารถนำไปใช้งานได้ทำให้เด็ก ๆ ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายไม่เพียงพอ

อาการของโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก

          โรคพันธุกรรมเมตาบอลิกจะมีอยู่ 2 กลุ่มอาการหลัก ๆ ด้วยกัน คือ

          1. อาการเฉียบพลัน เกิดจากสารที่มีโมเลกุลเล็ก ๆ อย่างกรดอะมิโนหรือกรดอินทรีย์ คั่งอยู่ภายในร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดอาการแปรปรวน ซึ่งไม่อาจระบุได้ว่าจะเกิดในช่วงวัยไหน โดยอาจจะเกิดกับเด็กตั้งแต่ช่วงแรกคลอด หรืออาจเกิดในช่วงวัยหลังจากนั้นก็ได้

          เด็กบางคนมีอาการเหมือนเป็นหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่อยู่ ๆ ก็อาจจะมีอาการหอบมาก ซึม หรืออาเจียนมาก ก็ต้องระวังและพาไปหาคุณหมอ

          ในเด็กแรกเกิดที่ป่วยและมีอาการเหมือนมีการติดเชื้อในกระแสโลหิต เช่น มีไข้สูง หรือตัวเย็นผิดปกติ ซึม ไม่กินนม ร้องโยเย แต่เมื่อคุณหมอตรวจแล้วไม่พบการติดเชื้อในกระแสโลหิต ก็ต้องสันนิษฐานว่าลูกอาจเป็นโรคนี้ ซึ่งต้องตรวจเลือดและปัสสาวะของลูกในห้องปฏิบัติการอย่างละเอียดอีกครั้ง ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ชะล่าใจ ลูกอาจเข้าขั้นโคม่าและเสียชีวิตได้ในที่สุด

          2. อาการเรื้อรัง เช่น ชัก พัฒนาการถดถอย หรือพัฒนาการช้า คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตพัฒนาการของลูกอยู่เสมอ หากลูกเป็นโรคในกลุ่มนี้มักจะมีอาการแย่ลงอย่างช้า ๆ เช่น จากที่เคยมีพัฒนาการที่ดีมาโดยตลอด 5-6 เดือนแรก แต่ต่อมาพัฒนาการเริ่มช้าลง เคยนั่งได้ก็กลายเป็นนั่งไม่ได้ หรืออาจจะคลานได้แล้ว แต่อยู่ ๆ ก็กลับคลานไม่ได้ นั่นแสดงว่าลูกมีความผิดปกติในระบบประสาท หรือในบางครั้งก็พบว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคในกลุ่มนี้มีระบบหัวใจและหลอดเลือดที่ผิดปกติได้เช่นกัน เช่น มีภาวะหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจหนา เป็นต้น

รู้ได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคพันธุกรรมเมตาบอลิกกลุ่มนี้

          คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ หากพบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ ไม่ควรวางใจและต้องพาไปพบคุณหมอทันที

          1. พัฒนาการถดถอย ควรสังเกตพัฒนาการของลูกเสมอ ว่าเป็นไปตามความเหมาะสมหรือไม่ ถ้าลูกมีพัฒนาการที่ดีมาเรื่อย ๆ แต่กลับมีการหยุดชะงักลง ไม่พัฒนาต่อ หรือพัฒนาการถดถอยลง ต้องรีบปรึกษาคุณหมอทันที

          2. ปัสสาวะมีกลิ่นฉุน หรือในเด็กบางคนปัสสาวะจะมีกลิ่นหอม ซึ่ง 2 อาการนี้เป็นโรคในกลุ่มของกรดอะมิโนที่มากเกินไป ทำให้เกิดการสะสมและคั่งอยู่ในร่างกาย เมื่อถูกขับออกมาเป็นเหงื่อและปัสสาวะจึงมีกลิ่นฉุน บางครั้งก็เป็นกลิ่นเฉพาะ เช่น กลิ่นเหมือนถุงเท้าอับ หรือกลิ่นน้ำตาลไหม้ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเมื่อลูกไม่สบายหรือเป็นไข้ และมีอาการหอบ อาการซึม หรืออาเจียนร่วมด้วย เป็นต้น

          3. อาการทางระบบประสาท เช่น อาการชัก ซึม หรือมีการติดเชื้อในระบบประสาท เป็นต้น

โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ป้องกันไม่ได้รักษาไม่หายขาด

          เนื่องจากเป็นความผิดปกติที่เกิดจากพันธุกรรม จึงทำให้โรคพันธุกรรมเมตาบอลิกไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้

          โดยคุณหมอจะรักษาและวินิจฉัยไปตามระดับความรุนแรงของโรค ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนว่าเอนไซม์ในแต่ละชนิดมีความผิดปกติมากน้อยแค่ไหน ถ้าเป็นมากก็จะส่งผลให้เกิดอาการเร็วและรุนแรง ถ้าหากเป็นไม่มาก อาการก็จะเกิดช้า แต่บางโรคก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้ โดยการให้สารชดเชยหรือสารที่เด็กขาด เพื่อเสริมการทำงานในร่างกาย เช่น หากตรวจพบว่าขาดวิตามินบี 1 คุณหมอก็จะเสริมวิตามินบี 1 ให้ เป็นต้น

          ส่วนในกลุ่มที่มีการย่อยสลายสารอาหารบางอย่างผิดปกติ คุณหมอก็จะให้งดสารอาหารนั้น เช่น เด็กบางคนย่อยสลายโปรตีนได้ไม่ดี ก็จะไม่ให้กินโปรตีนมาก เป็นต้น

          แม้จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็สามารถทำให้คุณภาพชีวิตของเด็กดีขึ้น สามารถเจริญเติบโตและมีสติปัญญาที่ดีได้ตามปกติ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ : พญ.ยอดพร หิรัญรัศ กุมารแพทย์โรคระบบต่อมไร้ท่อและเบาหวาน โรงพยาบาลรามคำแหง
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคพันธุกรรมเมตาบอลิก โรคอันตรายของเด็ก อัปเดตล่าสุด 3 กันยายน 2556 เวลา 13:51:58 12,476 อ่าน
TOP