x close

แคลเซียม คืออะไร ทำไมถึงสำคัญต่อลูกน้อย

แคลเซียม

แคลเซียม คืออะไร…ทำไมถึงสำคัญ (Mother&Care)

          เด็กในช่วงอายุ 1-3 ปี เป็นอีกช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาทางร่างกายเป็นอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดคือพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ตั้งแต่คลาน ยืน เดิน จนกระทั่งวิ่งได้อย่างคล่องแคล่ว อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงเรื่องการกิน พัฒนาการด้านการเคี้ยวกลืนก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำในแต่ละวัน โครงสร้างร่างกายที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้การเคลื่อนไหวและการเคี้ยวกลืนของลูกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คืออวัยวะที่ชื่อว่า "กระดูก" และ "ฟัน" เพื่อช่วยให้ลูกน้อยมีโครงสร้างของกระดูกและฟันที่แข็งแรง สารอาหารที่จำเป็นอย่าง "แคลเซียม" จึงมีบทบาทต่อร่างกายเป็นอย่างมาก

          "แคลเซียม" คือสารอาหารประเภทเกลือแร่ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในร่างกายมากที่สุด โดยเฉพาะกระดูกและฟันนับว่าเป็นแหล่งสะสมแคลเซียมที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายหน้าที่สำคัญของแคลเซียมคือนำมาใช้ในการสร้างและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของกระดูก ฟัน เล็บ และเส้นผมให้ แข็งแรง นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ระบบประสาท การแข็งตัวของเลือด การเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบน้ำย่อย การดูดซึมวิตามิน และกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมน

จะเป็นอย่างไร…เมื่อลูกน้อยขาดแคลเซียม

          เด็กที่ได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจะมีผลต่อความหนาแน่นของมวลกระดูก ทำให้เป็นโรคกระดูกอ่อนหรือกระดูกค่อมงอ พัฒนาการทางร่างกายอย่างการนั่ง คลาน เดิน จะเป็นไปได้ช้า นอกจากนี้โครงสร้างกระดูกที่ไม่สมบูรณ์ก่อให้เกิดความผิดปกติของร่างกายได้ เช่น เป็นเด็กขาโก่งโค้ง และตัวเตี้ยกว่าปกติ นอกจากนี้ยังกระทบต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกายอีกด้วยดังที่กล่าวถึงความสำคัญมาแล้วข้างต้น

แคลเซียมอยู่ไหน…ต้องกินจากที่ใด

            นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เช่น ชีส เนยแข็ง เนยสด โยเกิร์ต ไอศกรีม ฯลฯ ทั้งนี้ นมสดถือเป็นแหล่งอาหารชั้นยอด ที่มีแคลเซียมมากที่สุด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็ก ๆ ควรดื่มนมสดอย่างน้อยวันละ 2 แก้ว

          ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากถั่ว เช่น เต้าหู้ นมถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว งาขาว งาดำ ถั่วแระ ถั่วลิสง ถั่วเขียว เมล็ดอัลมอนด์ เม็ดบัว เมล็ดทานตะวัน ฯลฯ

          เนื้อสัตว์ที่กินทั้งตัวหรือก้าง เช่น ปลาเล็กปลาน้อย กุ้งฝอย กุ้งแห้ง ปลากระป๋อง ฯลฯ

          ผักใบเขียว เช่น คะน้า กวางตุ้ง บรอกโคลี ดอกกะหล่ำ ตำลึง ถั่วพู ถั่วลันเตา มะเขือพวง ฯลฯ

          เมื่อรู้อย่างนี้แล้วสมาชิกในครอบครัวก็อย่าลืมสร้างเสริมแคลเซียมให้เพียงพอ ต่อความต้องการของร่างกายอยู่เสมอ เพราะไม่ว่าจะช่วงวัยไหน แคลเซียมก็ยังคงเป็นแร่ธาตุสำคัญที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ยังจำเป็นต้องได้รับในทุก ๆ วัน








ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แคลเซียม คืออะไร ทำไมถึงสำคัญต่อลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2556 เวลา 14:15:34 1,533 อ่าน
TOP