x close

เฝ้าระวัง...อาเจียนเรื้อรังในเด็ก

อาเจียนเรื้อรังในเด็ก

          อาเจียนเรื้อรังในเด็ก เกิดจากสาเหตุอะไร ? วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดความรู้ในการดูแลและรักษาจากนิตยสาร รักลูก มาฝากกัน อาการของโรคอาเจียนคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะหากลูกอาเจียนซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ต้องพาไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัยโรคอย่างละเอียดค่ะ

          อาเจียนเรื้อรังพบได้ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค โดยเฉพาะเด็กเล็กอาเจียนมากมักมาจากอาหารเป็นพิษ พบร่วมกับอาการไข้ หรือติดเชื้อไวรัสที่เรียกว่า "ไวรัสลงกระเพาะ"

สาเหตุ

          1. การอักเสบของทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดการอุดกั้นทางเดินอาหาร หรือเกิดจากการเคลื่อนไหวผิดปกติของทางเดินอาหาร

          2. เกิดจากโรคทางเมตาบอลิก โรคไต และการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการทรงตัว

          3. ความผิดปกติของสมอง เช่น ความดันในสมองสูง

ข้อสังเกต

          1. ขย้อนหรือแหวะนม เป็นอาการของกรดไหลย้อน (Gastric-esophageal reflux disease) แต่ถ้าอาเจียนพุ่ง อาจมาจากการอุดกั้นทางออกกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือมีความดันในสมองสูง

          2. อาเจียนเพราะอาหารไม่ย่อย มักมาจากการอุดกั้นในหลอดอาหาร แต่ถ้าอาเจียนแล้วมีน้ำดีปนออกมา แสดงว่ามีการอุดกั้นที่ลำไส้เล็กต่ำกว่าทางเปิดเข้าของน้ำดี

          3. ช่วงเวลาอาเจียน หากลูกอาเจียนตอนเช้า เป็นเพราะความดันในสมองสูง หรือน้ำมูกหยดลงคอจากไซนัสอักเสบ แต่ถ้าอาเจียนหลังเริ่มกินอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง เป็นเพราะกระเพาะอาหารอุดตัน

          4. ประวัติจากโรคประจำตัว เช่น ภูมิแพ้อาหารคนในครอบครัว การเลี้ยงดู ในวัยรุ่นคุณหมอจะดูประวัติการมีประจำเดือน ความเครียด และพฤติกรรมการกินด้วย

          5. อาการร่วมอื่น ๆ

          - อาเจียนร่วมกับปวดหัว เป็นเพราะความดันในสมองสูง ไมเกรน หรือไซนัสอักเสบ

          - อาเจียนร่วมกับเจ็บใต้ชายโครงขวา ซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ แสดงว่าอาจเป็นโรคตับอักเสบ และภาวะดีซ่าน (ตัวเหลือง ตาเหลือง)

          - อาเจียนร่วมกับถ่ายเป็นน้ำ อาจติดเชื้อไวรัสโรต้า โดยมีไข้ อาเจียน และถ่ายเป็นน้ำร่วมกัน

          6. อาการร่วมระบบทางเดินอาหาร

          - คลื่นไส้

          - กลืนยาก อาจแสดงว่าหลอดอาหารอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ โรคของท่อน้ำดีหรือตับอ่อนอักเสบ และลำไส้อุดกั้น

          - ท้องอืด เป็นผลจากลำไส้อุดกั้น (Intestinal pseudo-obstruction) หรือการอักเสบของอวัยวะในช่องท้อง

การดูแลและรักษา

          ในเด็กเล็กการอาเจียนอาจทำให้น้ำหนักขึ้นช้า มีผลต่อพัฒนาการได้ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อยืนยันการวินิจฉัย วางแผนการรักษาต่อไป ซึ่งอาจเป็นการกินยา ปรับด้านอาหาร การเลี้ยงดู ปรับพฤติกรรม หรือผ่าตัดเพื่อรักษา ซึ่งขึ้นกับสาเหตุของการอาเจียนเรื้อรังในแต่ละคน

          สำหรับการดูแล คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกกินยาตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด จิบน้ำบ่อย ๆ ที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้อาการทุเลาและหายได้เร็วมากขึ้นค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 34 ฉบับที่ 397 กุมภาพันธ์ 2559

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เฝ้าระวัง...อาเจียนเรื้อรังในเด็ก อัปเดตล่าสุด 8 มีนาคม 2559 เวลา 17:42:52 13,712 อ่าน
TOP