x close

เล่นแรง ๆ ลูกเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต

ภัยใกล้ตัวลูก

          ภัยใกล้ตัวลูกแบบไม่คาดคิดที่มาจากการเล่นของคุณพ่ออาจทำให้ลูกเจ็บตัวหรือเสียชีวิตได้ เพราะแค่เสี้ยววินาทีเราอาจจะเสียใจไปตลอดชีวิตก็ได้นะคะ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดน่ารู้จากนิตยสาร รักลูก และวิธีป้องกันกับ 6 เรื่องที่คุณพ่อควรรู้และไม่ควรประมาณ มาฝากกัน จะมีอะไรบ้างนั้นเราไปดูกันเลยค่ะ

          เทรนด์ของคุณพ่อยุคนี้คือการผูกพันและใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น แต่ด้วยความเป็นชายคุณพ่อจึงอาจเผลอ "บ้าพลัง" เป็นครั้งคราว โดยหารู้ไม่ว่าอาจทำให้ลูกรักได้รับบาดเจ็บ หรือกระทั่งเสียชีวิต

          เพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน จึงขอแนะนำสิ่งที่คุณพ่อจะต้อง "ไม่ทำ" ดังนี้ครับ

1. จับลูกนั่งตักขณะขับรถ

          อาจคิดว่าลูกชอบ เพราะเห็นลูกจ้องถนนตาแป๋ว ทั้ง ๆ ที่นี่คือกิจกรรมที่แสนจะอันตรายเป็นอย่างยิ่งเพราะหากเกิดอุบัติเหตุชนกระแทกขึ้นกะทันหันลูกน้อยก็มีโอกาสลอยพุ่งทะลุกระจกออกไปนอกรถ เพราะไม่ได้รัดเข็มขัดนิรภัย หรือหากรถนั้นไม่มีถุงลมนิรภัย ลูกน้อยก็จะกลายเป็นถุงลมนิรภัยชั้นดีรับแรงกระแทรกแทนคุณพ่อ หรือหากรถนั้นมีถุงลมนิรภัย ก็ไม่พ้นอันตรายเพราะจะโดนถุงลมที่ระเบิดขึ้นมาอัดเข้าเต็มหน้าเต็มตัว และเมื่อมันระเบิดเพื่อให้ถุงพองออกในยามที่เกิดอุบัติเหตุ

          ปกติแล้วจุดระเบิดของถุงลมต้องอยู่ห่างคนโดยสารหรือคนขับประมาณ 25 เซนติเมตร หากอยู่ใกล้กว่านั้นแรงพองตัวของมันจะมีผลอันตรายต่อผู้อยู่ใกล้ คำขวัญจำง่ายครับ "รักลูกอย่ากอด เมื่อโดยสารรถยนต์" ใช้ที่นั่งนิรภัย (คาร์ซีท) ดีกว่าครับ

2. จับตัวลูกยกขึ้นสูง ๆ และเขย่าแรง ๆ

          คุณพ่อหลายท่านอาจคิดว่าลูกคงชอบเป็นอย่างยิ่งกับการกระทำดังกล่าว เพราะเห็นว่าลูกลืมตาอ้าปากด้วยความตื่นเต้น เลยเพิ่มดีกรีความเร้าใจให้แก่ลูกด้วยการเขย่าไป ๆ มา ๆ ซึ่งต้องขอห้ามเลยนะครับ ว่าอย่าทำเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด

          เหตุเพราะกล้ามเนื้อและกระดูกส่วนคอของหนูน้อยวัยแบเบาะยังไม่แข็งแรงนัก หนำซ้ำศีรษะยังโตและหนักโดยธรรมชาติ การเขย่าไป ๆ มา ๆ อย่างแรง คือความเสี่ยงให้เกิดอาการเลือดคั่งในสมอง อาจถึงขั้นตาบอด (เพราะเกิดเลือดออกในเส้นประสาทตา) หรือเกิดความพิการอื่น ๆ แม้กระทั่งการเสียชีวิต

          หลายสิบปีก่อนผู้คนทั่วโลก แม้แต่แพทย์เองก็ยังงงกับอาการของเด็กในวัยแค่ไม่กี่เดือน ที่ผู้ใหญ่อุ้มมาพบด้วยอาการชัก หยุดหายใจเป็นช่วง ๆ เนื้อตัวเขียว แถมหลายคนกลายเป็นเด็กพิการในเวลาต่อมา และหลายรายถึงกับสิ้นใจตาย เมื่อแพทย์ทำการผ่าชันสูตรก็พบว่า เด็กมีเลือดออกในสมองเป็นจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ดูภายนอกแล้วก็ไม่มีบาดแผล หรือริ้วรอยการถูกทำร้ายแม้แต่น้อย ไม่กี่ปีนี้เองจึงมีการสืบสาวราวเรื่องอย่างจริงจัง จึงพบความจริงว่าเด็กที่เสียชีวิตดังกล่าวนั้น เกิดจากการโดนเขย่าอย่างรุนแรง (Shaken Baby Syndrome)

3. จับลูกห้อยหัว

          อย่าลืมนะครับว่า สมองคือสิ่งมหัศจรรย์เปรียบเหมือนศูนย์บัญชาการทั้งร่างกายและจิตใจยิ่งสมองของเด็ก ๆ นั้นมีเซลล์ประสาทมากมายรอการสร้างเส้นใยประสาทเพื่อการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ใช้ในการรับส่งข้อมูลที่มีการพัฒนาอันซับซ้อน เราจึงต้องทะนุถนอมศีรษะและสมองของลูกให้ดีอย่างที่สุด

          การจับลูกห้อยหัวเสี่ยงอย่างยิ่ง ต่อการพลั้งมือตกมาหัวกระแทกพื้น อาจไม่ใช่แค่หัวปูด แต่ยังเสี่ยงหัวแตกเลือดอาบ หรือรุนแรงจนมีเลือดคั่งในสมอง และที่ต้องพึงสังวรก็คือหลังการพลัดตกใหม่ ๆ อาจจะไม่มีบาดแผลอะไรเลย (เด็กโตหน่อยอาจจะบอกแค่ว่า รู้สึกงง ๆ ปวดหัว) ผู้ใหญ่ก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไรมาก จึงปล่อยเลยตามเลย ไม่ได้ส่งไปตรวจรักษาโดยด่วน แต่แล้วลูกก็มีอาการซึมลง งอแง ยกแขนขาผิดปรกติ การทรงตัวไม่ดี อาเจียน ไม่ดูดนม การนอนผิดปกติ ชัก หมดสติ หรืออาจเสียชีวิต เพราะรักษาไม่ทัน

4. เล่นวิ่งไล่กับลูกอย่างเร็วจี๋

          ก็เข้าใจนะครับว่าลูก ๆ มักจะติดใจกับสไตล์การเล่นสนุกของพ่อที่มักหนักไปทางบู๊แนวเร้าใจ เช่น วิ่ง กระโดด หรือหกคะเมนตีลังกา จริง ๆ แล้วข้อดีก็คือเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งก็คือ การเผลอเล่นสนุกจนยั้งไม่อยู่ เช่น วิ่งไล่กวดลูกอย่างเร็วจี๋ จนลูกลื่นล้ม ถลอกปอกเปิก ขาพลิก กระดูกแพลง ข้อเคลื่อน หรือกระดูกหัก หากล้มหน้าคว่ำ ก็อาจฟันหัก เหงือกฉีก ปาก จมูกได้รับบาดเจ็บ หรือหากหัวฟาดพื้นก็เสี่ยงต่อการกระทบกระเทือนถึงสมองได้

ปฐมพยาบาลเบื้องต้น : เมื่อเด็กหกล้มหรือตกจากที่สูง

          เมื่อเด็กหกล้มหรือตกจากที่สูง หมดสติ ผู้ดูแลเด็กต้องตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ อย่ากลัว หากเด็กยังหายใจได้เอง และตกลงบนที่ที่ไม่อันตราย อย่าขยับเขยื้อนเด็ก โทร. 1669 ตาม "หน่วยกู้ชีพ" มาช่วยเหลือ เพราะการขยับเขยื้อนผิดวิธีจะทำให้กระดูกต้นคอที่หักกดลงบนไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตได้

          หากไม่หมดสติแต่มีบาดเจ็บศีรษะ ให้โทรตามหน่วยกู้ชีพมาช่วยเหลือ หน่วยกู้ชีพจะเคลื่อนย้ายเด็กอย่างระมัดระวัง หากจะต้องยกก็จะยกเด็กพร้อม ๆ กันทั้งศีรษะ คอ ลำตัว ไม่ให้คดงอ และจะวางบนกระดานแข็ง ใช้หมอนทรายหนุนศีรษะทั้งสองด้าน ไม่ให้ขยับไปมาระหว่างที่นำส่งโรงพยาบาล

          ในกรณีที่มีเลือดออกในสมอง อาจไม่มีอาการแต่แรก แต่มักมีอาการภายใน 24 ชั่วโมง หรือหากมีอาการล่าช้าก็ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ต้องให้เด็กนอนพักและสังเกตอาการ หากเด็กปวดศีรษะ ซึมลง อาเจียน ให้สงสัยไว้ก่อนครับว่าอาจเกิดเลือดออกในสมอง ควรให้ผู้ดูแลพาเด็กมารับการตรวจที่โรงพยาบาลครับ

5. ขี้ลืม จนทิ้งลูกไว้ในอ่างอาบน้ำ

          คุณพ่อยุค 4G หลายคนน่ารักมากครับ ขนาดว่าอาบน้ำให้ลูกเป็นประจำ แถมชอบชวนลูกเล่นโน่นนี่ จนเจ้าหนูหัวเราะเอิ๊กอ๊ากตีน้ำป๋อมแป๋มอย่างเบิกบาน นี่คือความประทับใจที่ทั้งพ่อและลูกจะยิ้มอย่างมีความสุขเสมอ ทุกครั้งที่ระลึกถึง แต่มันอาจกลายเป็นความขมขื่นที่ฝังใจ

          หากคุณพ่อขี้ลืมอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น เดินไปรับโทรศัพท์ แว่บไปดูรายการทีวี ลงไปรับผู้มาเยือนที่กำลังกดออดอยู่หน้าบ้าน โดยทิ้งลูกอยู่ในอ่างน้ำตามลำพัง ข้อที่จะพลาดไม่ได้ก็คือ หากจะต้องไปทำธุระอะไรก็ตามระหว่างอาบน้ำให้ลูกก็คือ จะต้องเช็ดตัวลูกให้แห้ง แล้วอุ้มเขาออกมาจากอ่างน้ำ และพาไปทำธุระนั้น ๆ ด้วย ห้ามปล่อยให้ลูกอยู่ตามลำพังอย่างเด็ดขาด

          อย่าลืมนะครับว่า เด็กนั้นขาดอากาศหายใจหากช่วยไม่ทันภายใน 4 นาทีเท่านั้นก็เสี่ยงอย่างยิ่งกับการเสียชีวิต ไม่ใช่เฉพาะกรณีจมน้ำเท่านั้น หลาย ๆ จุดในบ้านก็จะต้องไม่ปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียวอย่างเด็ดขาด เช่น ใกล้บันได เตาไฟ กระติกน้ำร้อน กะละมัง ระเบียงห้อง หน้าต่าง (ที่เปิดไว้ หรือเป็นแบบบานเลื่อน)

          เมื่อขับรถพาลูกเที่ยว อุตส่าห์ให้ลูกนั่งที่นั่งนิรภัยแล้ว ใส่ไว้เบาะหลังแล้ว แต่ปรากฏว่าเห็นลูกหลับเลยจอดลงไปซื้อของ เจอเพื่อนแล้วคุยกันเพลิน ลืมลูกไว้ในรถที่จอดทิ้งไว้กลางแจ้ง 1-2 ชั่วโมง ลูกอาจเสียชีวิตได้จากความร้อนสูงเกินขนาดครับ

6. นอนหลับข้างลูกน้อย

          หนังสือพิมพ์ก็ลงข่าวประจำ แม่นอนข้างลูกแล้วทับลูกจนเสียชีวิต ในการรวบรวมข้อมูลการตายในเด็กพบว่าทารก 6 เดือนแรกมีความเสี่ยงจากการถูกนอนทับโดยคนที่นอนเคียงข้างกันไม่ว่าจะเป็นพ่อหรือแม่ โดยเฉาะคนอ้วน คนกินยาแก้หวัด ยานอนหลับ ยากันชัก ยาโรคจิต สุรา หรืออะไรก็ตามที่ทำให้หลับสนิท พ่อจอมพลังเล่นจนเหนื่อยจะนอนกับลูกต้องแยกเบาะแยกเตียงกันนอนครับ หรือห่างกันซักหนึ่งช่วงแขน หรือประมาณ 1 เมตรก็น่าจะปลอดภัยครับ

          ในเมื่อลูก ๆ โชคดีแล้วที่มีคุณพ่อที่แสนใจดีสนุกสนาน และจะประทับใจเป็นความทรงจำที่แสนงดงามของทั้งพ่อและลูกตลอดไป ขอเพียงคุณพ่อต้องคำนึงถึง "ความปลอดภัยไว้ก่อน" ทุกครั้งที่เล่นกับลูก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 395 ธันวาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เล่นแรง ๆ ลูกเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต อัปเดตล่าสุด 26 มกราคม 2559 เวลา 17:35:18 5,227 อ่าน
TOP