x close

กินอย่างไร ? ลูกน้อยจึงจะฉลาดสมวัย

วิธีเลี้ยงลูก

          วิธีเลี้ยงลูก ให้เป็นเด็กฉลาดคุณพ่อคุณแม่สร้างได้ค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดลับการส่งเสริมลูกน้อยให้ฉลาดด้วยอาหารอย่างสมวัยและมีพัฒนาการที่ดีมาฝากกันค่ะ อยากให้ลูกเติบใหญ่ ฉลาดแข็งแรงเหมาะสมกับวัย เรามาดูข้อมูลดี ๆ กับนิตยสาร MODERNMOM กันเลยค่ะ ...

          พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกฉลาด ได้ยินว่ากินอะไรแล้วสมองดี ไม่ว่าจะแพงแค่ไหน พ่อแม่ก็จะสรรหามาให้กิน อาหารบำรุงสมองไม่ได้เป็นอาหารที่ต้องเสียเงินมากมาย แต่เป็นอาหารที่เราทุกคนควรกินเพื่อสุขภาพที่ดี

กินอย่างไร...ลูกจึงจะฉลาด

นมแม่เพิ่มไอคิว

          นมแม่คือยอดอาหารสำหรับลูก ทำให้เด็กเติบใหญ่แข็งแรงปลอดโรคติดเชื้อ ปลอดโรคภูมิแพ้ ห่างโรคเรื้อรัง และมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่เคยได้รับนมแม่ถึง 3.5 จุด แต่แม่ต้องกินอาหารที่มีคุณภาพเพิ่มจากปกติเพื่อสร้างน้ำนม และควรกินยาเม็ดเพื่อป้องกันลูกจากการขาดธาตุไอโอดีนกับธาตุเหล็กตลอด 6 เดือนแรกที่ให้นมลูก

ครบ 5 หมู่

          ให้กินอาหารครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้หลากหลายเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน

ไม่ขาดไอโอดีน

          หากขาดไอโอดีนอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน ไอคิวลดได้ถึง 13.5 จุด ใช้เกลือเสริมไอโอดีน น้ำปลา หรือซอสปรุงรสเสริมไอโอดีน เมื่อต้องการปรุงรสเค็ม ซึ่งได้เสริมไอโอดีนไว้พอเหมาะกับขนาดที่คนไทยทั่วไปกินกัน อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ปรุงรสอาหารตามวัยสำหรับทารก และไม่ปรุงรสเค็มจัดสำหรับอาหารเด็ก

ธาตุเหล็กครบ

          ภาวะซีดจากขาดธาตุเหล็กในวัยทารกทำให้ไอคิวในวัยเรียนต่ำลง 5-10 จุด การขาดธาตุเหล็กยังทำให้เติบโตช้า ภูมิต้านทานพร่อง ซีด อ่อนเพลีย เฉื่อยชา สมาธิสั้น และความสามารถในการเรียนต่ำลง ธาตุเหล็กมีมากในเลือดสัตว์ ตับ เนื้อสัตว์ ไข่แดง ผักใบเขียว เด็กเล็กจะได้รับยาน้ำธาตุเหล็กเสริมสัปดาห์ละครั้ง

อาหารมื้อเช้า...มื้อสำคัญสำหรับสมอง

          เด็กที่ไม่กินมื้อเช้า จะไม่มีแรง เรื่องคิดคำนวณ ความจำระยะสั้น ความสามารถในการอ่าน และความสามารถในการแก้ปัญหาจะสู้เด็กที่กินอาหารเช้าอย่างถูกหลักโภชนาการไม่ได้ พ่อแม่จึงไม่ควรละเลยเอาลูกไปส่งศูนย์เด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาลทั้งที่ท้องยังว่าง อย่าไปหวังพึ่งอาหารตามหน้าโรงเรียนที่คุณค่าอาหารไม่ครบถ้วนและอาจจะไม่สะอาดอีกด้วย

เด็กจะฉลาดมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับ

         กรรมพันธุ์

         สุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย

         ได้รับอาหารเพียงพอครบถ้วนตามวัย

         ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

         พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ

         ให้ความรักความเอาใจใส่ในการกระตุ้นพัฒนาการ และการเรียนรู้ของลูกตามวัยอย่างรอบด้าน

เลี้ยงลูกให้เติบโตสมวัย หุ่นดี ไม่ผอม ไม่เตี้ย ไม่อ้วน

          ให้ลูกรับประทานอาหารและออกกำลังกายตามวัยโดยพยายามให้มีน้ำหนักและส่วนสูงเพิ่มตามเกณฑ์ โดยดูจากกราฟการเติบโตของน้ำหนัก ความยาวหรือส่วนสูง และเส้นรอบศีรษะโดยสามารถดูได้จากสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (เล่มสีชมพู) ประจำตัวของลูกได้

ป้องกันลูกไม่ให้อ้วน

 ความเชื่อ  ความจริง
 อ้วนตอนเด็กไม่เป็นไร โตขึ้นตัวยืดเอง  เด็กอ้วนส่วนใหญ่จะยังคงอ้วนจนเป็นผู้ใหญ่
 เด็กอ้วนน่ารัก สุขภาพดี  เด็กอ้วนมาก พุงย้อยมีหลายโรคทั้งไขมันสูง เบาหวาน กรนเสียงดัง ความดัน ขาโก่ง ขากาง

เคล็ดลับ : เลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างไกลโรคอ้วน

         เลี้ยงลูกด้วยนมแม่

         เด็กเกิน 1 ขวบ ควรให้เลิกนมมื้อกลางคืน อายุขวบครึ่งควรเลิกดูดนมขวด เด็กอนุบาลควรได้รับนมวันละ 2-3 มื้อ เด็กโตควรได้รับนมวันละ 2 มื้อ นมที่ให้เด็กควรเป็นนมจืด

         ให้เด็กบริโภคผักและผลไม้เป็นนิสัยทุกมื้อทุกวัน

         เลือกกินปลาเป็นหลัก กินเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย เลี่ยงส่วนหนัง

         หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม เครื่องดื่มรสหวาน และขนมที่อุดมไปด้วยไขมันและน้ำตาล

         ไม่สอนให้เด็กกินจุบจิบ พ่อแม่บางคนกังวลว่าเด็กจะหิว จึงหาขนมและของว่างปรนเปรอเด็ก ทำให้เด็กกินเกินความต้องการจนติดเป็นนิสัย

         ไม่ซื้อขนม นม และอาหารสะสมไว้ในบ้าน เด็กยังไม่สามารถยับยั้งความอยากได้ เมื่อมีของอยู่ในบ้านมากก็จะหยิบกินครั้งละมาก ๆ จนหมดในเวลาอันสั้น และมีน้ำหนักเกินในที่สุด หากจำเป็นต้องซื้อตุนไว้ในบ้านให้เก็บไว้ในตู้พ้นสายตาเด็ก

         สอนเด็กให้มีวินัยในการกิน ให้กินอาหารเป็นเวลา ตักอาหารให้พอดีกิน ไม่กินทิ้งกินขว้าง การจัดอาหารของครอบครัวมีส่วนช่วยในการฝึกวินัย บางครอบครัวจัดอาหารมากเกินถึง 2-3 เท่า กระตุ้นให้เกิดการกินแบบไม่ยั้ง การสอนให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียด และกินพอดีอิ่ม จะเป็นผลดีต่อสุขภาพ

         ลดกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย โดยเฉพาะการดูโทรทัศน์ ซึ่งมักสัมพันธ์กับการกินขนมจุบจิบ มีข้อแนะนำให้เวลาหน้าจอทั้งหมด ซึ่งรวมดูโทรทัศน์ เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ไม่แนะนำให้ดูโทรทัศน์

         สร้างนิสัยการออกกำลังกาย ทั้งที่เป็นการเล่นกีฬา เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้กฎกติกาและการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เช่น การทำงานบ้านร่วมกันทั้งครอบครัว เดิน หรือขี่จักรยานแทนการนั่งรถ เดินแทนการขึ้นลิฟต์หรือบันไดเลื่อน โดยให้เวลาอย่างน้อย 20 นาทีทุกวัน เพิ่มเวลามากขึ้นในวันหยุด

          เด็กต้องอิ่มท้องด้วยอาหารที่มีคุณภาพ และอิ่มใจด้วยความรักความเอาใจใส่ของพ่อแม่ เมื่อได้อาหารเหมาะสมกับวัย เด็กก็จะเติบใหญ่ ฉลาดแข็งแรง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.239 กันยายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กินอย่างไร ? ลูกน้อยจึงจะฉลาดสมวัย อัปเดตล่าสุด 20 พฤศจิกายน 2558 เวลา 11:58:51 11,194 อ่าน
TOP