x close

ทารกแรกเกิดร้องไห้ตลอดเวลา ธรรมดาหรือผิดปกติ ?

พัฒนาการเด็ก 3 เดือน

          คุณแม่มือใหม่อาจจะไม่คุ้นชินกับอาการร้องไห้บ่อย ๆ ในเด็กแรกเกิด โดยไม่มีเหตุผล แล้วลูกจะผิดปกติหรือไม่อย่างไร ? วันนี้กระปุดดอทคอมมี พัฒนาการเด็ก 3 เดือน ที่คุณแม่ควรทำความเข้าใจและใจเย็นให้มากเมื่อลูกร้องไห้โยเย พร้อมวิธีรับมือจากนิตยสาร บันทึกคุณแม่ มาฝากกัน

          ร้องไห้อีกแล้ว !!! คุณแม่อุทานออกมา เมื่อเจ้าตัวน้อยวัย 2 เดือน ที่เพิ่งกล่อมให้หลับได้ไม่ถึง 10 นาที สะดุ้งตื่นขึ้นมาแผดเสียงร้อง จนคุณรู้สึกว่าลูกของเราผิดปกติหรือเปล่านะ ทำไมร้องไห้ไม่หยุดขนาดนี้... แน่นอนว่าการเลี้ยงดูทารกแรกเกิดเป็นเรื่องยาก เพราะคุณไม่สามารถเข้าใจได้ว่าลูกต้องการอะไร หนำซ้ำเจ้าตัวน้อยก็เอาแต่ร้องไห้ จนทำเอาคุณแม่มือใหม่เครียด และกังวล เพราะไม่ว่าจะทำอะไรให้ก็ดูเหมือนจะไม่ถูกใจหนูน้อยสักอย่าง อิ่มก็ร้อง หิวก็ร้อง จนไม่รู้ว่าจะเอาใจอย่างไร ว่ากันว่าเรื่องร้องไห้ของเจ้าตัวเล็ก เป็นเรื่องใหญ่สำหรับพ่อแม่ ก็คงจะไม่ผิดนัก ใช่ไหมคะ

เพราะโลกใบใหม่ กว้างใหญ่กว่าที่คิด

          สำหรับเจ้าตัวน้อย โลกใบใหม่ที่เขาเพิ่งได้พบเห็นนี้ช่างกว้างใหญ่ แตกต่างจากในครรภ์มารดาที่แสนจะอบอุ่น การปรับตัวกับความไม่คุ้นเคยเหล่านี้อาจทำให้เจ้าตัวน้อยเกิดความกังวลได้เช่นกัน สำหรับคุณพ่อคุณแม่บางรายอาจโชคดีที่เจ้าตัวน้อยปรับตัวคุ้นเคยกับโลกใบใหญ่ได้เร็ว แต่สำหรับบางครอบครัวก็ไม่เป็นเช่นนั้น เจ้าตัวน้อยอาจร้องไห้ตลอดเวลาโดยหาสาเหตุไม่ได้ บางรายก็ร้องและหยุดร้องเป็นเวลาตรงเป๊ะทุกวัน ในช่วง 3 เดือนแรกของชีวิตนี้ ขอให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจว่าลูกกำลังปรับตัวค่ะ การร้องไห้ก็เป็นเพียงวิธีเดียวที่หนูน้อยจะสื่อสารความต้องการของเขาได้ ดังนั้นอดทนสักนิด เมื่อผ่านช่วงเวลานี้ไปแล้วรับรองว่าลูกจะร้องไห้น้อยลง ๆ ทุกที

ร้องแบบนี้ ปกติจริงหรือ ?

          การร้องไห้ของทารกแรกเกิด อาจมีสาเหตุหลายประการด้วยกัน ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่ตรวจสอบดูแล้วว่า ลูกก็กินอิ่มดี ผ้าอ้อมไม่เปียกแฉะ ตัวไม่ร้อน ท้องไม่อืด และไม่ใช่การร้องโคลิกที่ร้องเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน คุณก็อาจกังวลใจว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นกับทารกหรือเปล่า ในความเป็นจริงแล้วหากเจ้าตัวน้อยไม่ได้เจ็บป่วยอะไร คลอดออกมาสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีทุกอย่าง แม้ลูกจะร้องไห้มาก ก็ถือเป็นเรื่องปกติ มีงานวิจัยที่ระบุว่า การร้องไห้ของทารกนั้นมีรูปแบบที่พัฒนาขึ้นเป็นลำดับ เรียกว่า Crying Curve กล่าวคือ การร้องไห้จะเพิ่มมากขึ้นเมื่ออายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ และร้องไห้มากที่สุดเมื่ออายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ ก่อนจะค่อย ๆ ร้องไห้น้อยลง และน้อยที่สุดเมื่ออายุประมาณ 4 เดือน นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่า ทารกจะร้องไห้มากที่สุดในช่วงบ่ายแก่ ๆ จนถึงเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่เจ้าตัวน้อยต้องการปลดปล่อยความเหนื่อยล้าที่เจอมาทั้งวัน

ทำอย่างไร เมี่อลูกร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล

          หากคุณมั่นใจว่าลูกไม่หิว ผ้าอ้อมไม่แฉะ นอนเต็มอิ่ม  ท้องไม่อืด ไม่มีเส้นผมพันรอบนิ้วของลูก ตะเข็บ หรือป้ายด้านหลัง เสื้อไม่ได้ทำให้ลูกรำคาญตัว และเจ้าตัวน้อยไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วยอะไร แต่ก็ยังร้องไห้ไม่หยุด วิธีต่าง ๆ ต่อไปนี้อาจช่วยทำให้หนูน้อยสงบลงได้ค่ะ

        อุ้มลูกไว้ในอ้อมกอด สัมผัสรักจากคุณพ่อคุณแม่โดยให้ลูกซบหน้าอยู่กับอก หรือไหล่ของคุณ ขณะที่เดินไปมา หรือนั่งบนเก้าอี้โยก ส่งเสียงพูดคุย หรือกล่อมลูกเบา ๆ

        ห่อตัวลูก การห่อตัวทารก จะช่วยทำให้หนูน้อยรู้สึกปลอดภัยเหมือนอยู่ในครรภ์มารดา

        ชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่าง ๆ หรือเปลี่ยนบรรยากาศจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง

        White Noise คือเสียงรบกวนต่าง ๆ เช่น เสียงของเครื่องดูดฝุ่น เสียงไดร์เป่าผม เสียงเครื่องซักผ้า ไปจนถึงเสียงฝนตก สำหรับผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ อาจรำคาญแต่เสียงเหล่านี้เป็นเสียงเดียวกับที่ลูกได้ยินเมื่ออยู่ในครรภ์ การใช้ white noise ซึ่งเดี๋ยวนี้มีแอพพลิเคชั่นให้โหลดมาใช้ เปิดให้ลูกฟังก็อาจช่วยให้ลูกสงบลงได้

          ทั้งนี้ หากลองหลายวิธีแล้วไม่ได้ผล ขอให้อดทนค่ะ อย่าระบายอารมณ์ลงกับลูก หากคุณรู้สึกเครียดกับเสียงร้องไห้มาก อาจขอความช่วยเหลือจากสมาชิกในครอบครัวช่วยดูแลลูกแทน ขณะที่คุณไปพัก หรืออาจวางลูกไว้บนเบาะที่มั่นใจว่าปลอดภัย พักหายใจเข้าออกลึก ๆ สักครู่ ไม่ควรเขย่าตัวให้ลูกหยุดร้องไห้เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เจ้าตัวน้อยเสียชีวิตได้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.23 Issue 267 ตุลาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทารกแรกเกิดร้องไห้ตลอดเวลา ธรรมดาหรือผิดปกติ ? อัปเดตล่าสุด 24 พฤศจิกายน 2558 เวลา 11:13:12 16,861 อ่าน
TOP