x close

โรคภูมิแพ้เรื้อรัง ขัดขวางการเรียนรู้ลูกน้อย

ภูมิแพ้ในเด็ก

          ภูมิแพ้ในเด็ก เกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรกเกิด และปัจจุบันก็เป็นโรคยอดฮิตด้วยค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีเกร็ดน่ารู้ของ โรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการและเฝ้าระวัง รวมทั้งหลีกเลี่ยงตัวการที่ทำให้ลูกเกิดอาการแพ้ มาแนะนำกัน พร้อมวิธีเอาชนะอาการ แพ้ อยากให้ลูกน้อยห่างไกล โรคภูมิแพ้ มาดูข้อมูลดี ๆ จากนิตยสาร รักลูก กันเลยค่ะ ...

          ใคร ๆ ก็ไม่อยากให้ลูก "แพ้" เพราะอาการแพ้ เป็นโรคเรื้อรัง ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันตามระดับอาการแพ้ หากแพ้น้อย ๆ อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว เมื่อเจอกับสารก่อภูมิแพ้ แต่ถ้าแพ้หนัก ก็อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที โดยเฉพาะในเด็กเล็ก

ลูกแพ้เพราะกรรมพันธุ์

          คุณแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกเสี่ยงถึง 50%

          คุณพ่อเป็นภูมิแพ้ ลูกเสี่ยงเป็นเพียง 20-30%

          คุณพ่อคุณแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกเสี่ยงเป็นกว่า 70%

          ญาติเป็นภูมิแพ้ โรคหอบหืด เด็กเสี่ยงเป็นภูมิแพ้ได้ แต่น้อยกว่ามาจากคุณพ่อคุณแม่

          แต่เด็กเสี่ยงเป็นภูมิแพ้สูง อาจไม่เป็นภูมิแพ้เสมอไป ขึ้นอยู่กับการดูแล และการป้องกันจากคุณพ่อคุณแม่ที่ช่วยลดอัตราความเสี่ยงการเกิดภูมิแพ้ในเด็กเล็กลง

ลูกแพ้เพราะสภาพแวดล้อม

          นอกจากกรรมพันธุ์แล้ว สภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ๆ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง สภาพแวดล้อมภายในบ้าน มลภาวะต่าง ๆ รวมทั้งอาหารที่ปนเปื้อน เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของเด็ก ๆ ลดลง และเป็นภูมิแพ้ได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือ "ตัวไรฝุ่น" สารก่อภูมิแพ้หลัก อยู่ในทุก ๆ ที่ที่คนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนอน ตุ๊กตา เฟอร์นิเจอร์ที่ทำให้คนทุกเพศทุกวัยทั่วโลกเป็นภูมิแพ้ได้ง่ายและมากขึ้น รวมทั้งฝุ่นจากแหล่งต่าง ๆ เช่น แป้ง หรือแม้กระทั่งขนของสัตว์เลี้ยง ละอองเกสรดอกไม้ เป็นต้น

"แพ้อาหาร" ภูมิแพ้อันดับหนึ่งของเบบี้

          เด็กทารกก็สามารถเกิดภูมิแพ้ได้ โดยเฉพาะการแพ้อาหาร เพราะลำไส้ของทารกภูมิคุ้มกันร่างกายยังไม่แข็งแรง ยังป้องกันสารก่อภูมิแพ้ได้ไม่ดี เมื่อมีตัวกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ บวกกับปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็จะยิ่งทำให้แพ้ง่ายและเร็วขึ้น โดยการแพ้อาหารชนิดรุนแรง สามารถเกิดเฉียบพลันได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคภูมิแพ้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ภายในเวลา 5-10 นาที หลังกินอาหารที่แพ้เข้าไป โดยจะมีอาการตาบวม ปากบวม ผื่นลมพิษ หลอดลมบวม หายใจไม่ออก ช็อก ความดันตก หมดสติ และมีโอกาสเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว

6 อันดับ อาหารทำเบบี้แพ้

         อันดับ 6 อาหารทะเล

         อันดับ 5 ถั่วลิสง

         อันดับ 4 ถั่วเหลือง

         อันดับ 3 แป้งสาลี

         อันดับ 2 ไข่

         อันดับ 1 นมวัว

"แพ้อากาศและหอบหืด" ครองแชมป์วัยอนุบาล

          แพ้อากาศ : เพราะจมูกของเด็กยังเล็ก ไวต่อสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลง เช่น เมื่อพบกับอากาศร้อนเกินไป เหงื่อจะออกเยอะ ทำให้เกิดผื่นผิวหนังได้ง่ายขึ้น ขณะที่เจออากาศเย็นเกินไป ทำให้แสบจมูก หายใจติดขัด มีเสียงครืดคราด จามง่าย ส่งผลให้เป็นหวัด เมื่อเป็นหวัดซ้ำ ๆ จะไปกระตุ้นหลอดลม ทำให้เป็นหวัดเรื้อรังได้อีก รวมทั้งอาจทำให้ต่อมทอนซิล และอดีนอยด์โต เด็กจะนอนกรน ขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง สมาธิสั้น และอาจต้องผ่าตัดต่อมทอนซิล และต่อมอดีนอยด์ได้

          โรคหอบหืด-หลอดลมอักเสบจากภูมิแพ้ : ทำให้หายใจขัดแน่นหน้าอก หายใจเร็ว โดยเฉพาะตอนกลางคืน หรือช่วงเช้ามืด ก็จะทำให้นอนหลับไม่สนิท ส่งผลต่อการเจริญเติบโตด้านร่างกาย และสมอง เหนื่อยง่าย ออกกำลังกายกับเพื่อน ๆ ไม่ได้ และเมื่อหอบมาก ๆ จะทำให้หลอดลมตีบ ตัวเขียว หายใจไม่ออก อาจเสียชีวิตได้เช่นกัน

"ภูมิแพ้" ขัดขวางการเรียนรู้

          อาการแพ้ทุกชนิด มักจะทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัว อ่อนเพลีย หงุดหงิดง่าย นอนหลับไม่สนิท ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามวัยหรือออกกำลังกายได้ไม่เต็มที่ ป่วยบ่อย ขาดเรียนบ่อย เรียนไม่ทันเพื่อน ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียนหรือการทำกิจกรรม ผลของอาการแพ้เหล่านี้ ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโต และการเรียนรู้ของเด็กเล็กและเด็กโตต่อไปในระยะยาวทั้งสิ้น

วิธีเอาชนะอาการ "แพ้"

หลีกเลี่ยงตัวการที่ทำให้แพ้มากขึ้น

          ทดสอบอาการแพ้ได้ตั้งแต่เบบี้ เมื่อมีอาการสงสัยว่าแพ้ เช่น การทดสอบทางผิวหนัง หรือการเจาะเลือด เป็นต้น

          ปรับเมนูอาหารเพิ่มความแข็งแรง เพื่อส่งเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

          รักษาอาการภูมิแพ้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการกินยาแก้แพ้ การใช้ยาพ่น และการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ หากเด็กกินยาแล้วไม่ได้ผล สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 4-5 ปีขึ้นไป โดยฉีดต่อเนื่อง 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ

          จัดสภาพแวดล้อมในบ้านให้สะอาดและปลอดภัย เช่น ทำให้เกิดฝุ่นน้อยที่สุด จัดพื้นที่ให้อากาศถ่ายเทสะดวก หรือเปลี่ยนผ้าปูที่นอนอย่างถูกวิธี และสม่ำเสมอ

          ชวนเด็กเล่น โดยส่งเสริมกิจกรรมขยับร่างกาย และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

สิ่งสำคัญอยู่ที่ "การระวัง" สิ่งที่จะทำให้เด็กเกิดภูมิแพ้ได้ หรือทำให้อาการแพ้หนักขึ้น และไม่ละเลยการรักษาอย่างถูกวิธีตามคำแนะนำของคุณหมอค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 393 ตุลาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคภูมิแพ้เรื้อรัง ขัดขวางการเรียนรู้ลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 17 พฤศจิกายน 2558 เวลา 11:23:42 7,635 อ่าน
TOP