x close

หนอนหนังสือตัวน้อย สร้างได้ด้วยหนังสือภาพ

พัฒนาการเด็กเล็ก

          พัฒนาการเด็กเล็ก สร้างได้ด้วยหนังสือภาพ เพราะช่วยให้ลูกน้อยมีจินตนาการที่กว้างไกล วันนี้กระปุกดอทคอมจะมาชวนคุณพ่อคุณแม่มาช่วยกันปลูกฝังลูกน้อยให้รักการอ่านหนังสือ ส่วนในแต่ละช่วงวัยจะแตกต่างกันอย่างไรไปดูเคล็ดลับจากนิตยสาร MODERNMOM กันเลยดีกว่าค่ะ ...


         
ญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีประชากรการอ่านเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยส่วนตัวมีความสนใจว่าเขามีวิธีการเลี้ยงลูกอย่างไรให้รักการอ่านได้ถึงขนาดนั้น เพื่อเอาประสบการณ์ของตัวเองมาแบ่งปันในฐานะที่มีแม่เป็นชาวญี่ปุ่น แล้วก็ได้เห็นการอ่านเป็นเรื่องปกติในกิจวัตรประจำวัน

          ตั้งแต่จำความได้แม่จะต้องมีหนังสืออยู่ในมือเพื่ออ่านตลอด และได้รับการปลูกฝังและสนับสนุนในการอ่านหนังสือ เริ่มต้นด้วย หนังสือภาพที่ซื้อมาอ่านให้ฟังจนติดงอมแงม

          เมื่อลูกเข้าชั้นประถมคุณนายแม่ก็ยื่นคำขาดว่า ต่อไปนี้จะไม่ซื้อหนังสือภาพให้อีกแล้ว จะซื้อให้เฉพาะหนังสือที่มีตัวอักษรเป็นหลักเท่านั้น ยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ว่าตอนนั้นตกใจมาก เดินเทียวไล้เทียวขื่อในแผนกหนังสือเล็ก ๆ ที่ห้างไทยไดมารู ราชดำริ อยู่เป็นนาน ในการเลือกหาหนังสือวรรณกรรมเยาวชนที่ไม่ใช่หนังสือภาพอีกต่อไป จนได้หนังสือเรื่อง "เมืองในตู้เสื้อผ้า" ในชุดของนาร์เนียมาเป็นหนังสือเล่มแรกที่อ่านจริงจังในชีวิต และกลายเป็นหนอนหนังสือตัวยงมาถึงทุกวันนี้

          เลยทำให้คิดได้ว่าสิ่งที่เป็นพื้นฐานให้เกิดการอ่านเลยก็คือหนังสือภาพ และนึกขึ้นมาได้ว่าได้หยิบฟรีเปเปอร์ที่พูดถึงเรื่องการเลือกหนังสือภาพมาจากญี่ปุ่น มีฟรีเปเปอร์เย็บมุง หน้าปกเป็นรูปหนูสองตัว ซึ่งถ้าใครเป็นแฟนหนังสือภาพก็จะรู้ว่าเจ้าหนูสองตัวนั้นคือ กุริกับกุระ ตัวเอกหนังสือภาพที่โด่งดังไปทั่วโลก ฟรีเปเปอร์นับมีชื่อแปลเป็นไทยได้ว่าวิธีการให้หนังสือภาพ (แปลโดยขยายอีกทีก็คือวิธีการปลูกฝังหนังสือภาพให้กับเด็ก) เป็นฟรีเปเปอร์ของสำนักพิมพ์ฟุกุอินกันโชะเห็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์วรรณกรรมเยาวชนมานานมากกว่า 50 ปี และมีผลงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากมาย หลายเรื่องมีพิมพ์เป็นภาษาไทยด้วย เลยจะขอเอาเนื้อหามาแบ่งปัน...

          สำนักพิมพ์นี้มีแนวคิดหลักเลยก็คือว่า หนังสือภาพไม่ใช่หนังสือที่เด็กอ่าน แต่เป็นหนังสือที่ผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟัง คือให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองเป็นผู้ที่อ่านให้เด็กฟัง การที่บังคับขู่เข็ญให้เด็กหัดอ่านขึ้นมารังแต่จะสร้างความเกลียดชังหรือมีทัศนคติไม่ดีต่อหนังสือยิ่งขึ้นอีก หนังสือภาพไม่ใช่สิ่งที่ให้เด็กรู้สึกทุกข์ทรมาน แต่เป็นสิ่งที่ทำให้เด็กลิ้มรสความดีใจและความสนุก ดังนั้นให้จำไว้ว่าหนังสือภาพไม่ใช่หนังสือเรียน การที่ผู้ใหญ่อ่านหนังสือภาพให้เด็กฟังคือการที่หนังสือภาพทำหน้าที่ หนังสือที่ใช้หูฟังและทำให้เด็กมีหน้าที่เรียนรู้และจำคำศัพท์ต่าง ๆ จากการฟัง ผู้ที่จะสอนคำพูดให้กับเด็กนั้นไม่ใช่ครูที่สถานรับเลี้ยงเด็กหรืออนุบาล แต่เป็นคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่อยู่กับเด็กที่บ้าน การพูดคุยกับเด็กหรือเล่นเกมที่ใช้คำพูด เพลงกล่อมเด็ก ตลอดจนการอ่านหนังสือภาพให้ฟังล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่พัฒนาการเรียนรู้คำศัพท์ของเด็กทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือภาพนั้นถือว่าเป็นคลังคำที่ใหญ่เลยทีเดียว การที่เด็กจะรุ่มรวยคลังคำก็ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ที่เลี้ยงดูเด็กนั้นว่าจะหมั่นอ่านหนังสือภาพให้ฟังมากน้อยเพียงใด

          หนังสือภาพยังเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้อีกด้วย เพราะฝึกให้เด็กรู้จักกับทักษะการฟัง ในการจะเข้าสู่ระบบโรงเรียนที่ต้องฟังครูสอน ต้องมีคลังคำสำหรับเป็นพื้นในการเรียนรู้ และยังรู้จักการปฏิสัมพันธ์ผ่านความสัมพันธ์ผู้ใหญ่ที่อ่านหนังสือให้ตนเองฟัง ทำให้มีพื้นฐานในการปฏิสัมพันธ์กับครูและเพื่อนที่โรงเรียน

หนังสือภาพในแต่ละช่วงวัย

          คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านหนังสือภาพให้ลูกน้อยฟังได้ตั้งแต่อายุ 10 เดือน โดยแนะนำให้อ่านหนังสือภาพที่มีรูปผลไม้ รูปทรงและสีต่าง ๆ รูปสัตว์ รูปยานพาหนะ หนังสือภาพในลักษณะที่เป็นรูปสิ่งของต่าง ๆ

        อายุ 1-2 ขวบ หนังสือภาพที่มีการละเล่นผนวกเข้าไปในการอ่าน เช่น การเล่นซ่อนแอบ การเล่นจ๊ะเอ๋ จะเป็นเรื่องที่เด็กวัยนี้ชอบ หนังสือภาพที่โผล่ส่วนใดส่วนหนึ่งมาในหน้าหนึ่งแล้วค่อยไปโผล่เต็มตัวในหน้าถัดไป เวลาผู้ใหญ่อ่านให้เด็กฟังต้องเล่นตามไปด้วย หรือบอกเรื่องราวเกี่ยวกับเสียง เช่น เสียงฝนตกจี๊ด ๆ เสียงย่ำน้ำจ๋อมแจ๋ม มีคำพูดหรือน้ำเสียงที่มีจังหวะจะโคนพร้อมภาพประกอบ ควรเป็นหนังสือภาพที่มีความเกี่ยวข้องกับคำพูด

        อายุ 2-3 ขวบ เป็นช่วงวัยที่สั่งสมประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันมา เริ่มจำคำและนำมาใช้ได้คล่องเป็นของตัวเอง และต้องการจะพูดสื่อสาร หนังสือภาพก็ควรสอดคล้องไปด้วย

        อายุ 3 ขวบ พัฒนาการเรื่องคำพูดจะก้าวกระโดด เข้าใจสิ่งที่เป็นเรื่องราวง่าย ๆ ช่วงวัยนี้หนังสือภาพที่เป็นนิทานที่มีเรื่องราวจะเหมาะสมมาก แต่ต้องเลือกหนังสือภาพที่มีเรื่องกับภาพไปด้วยกัน จังหวะของเรื่องเล่ากับภาพควรสอดคล้องและมีสีสันที่ทำให้เด็กสนใจ

        อายุ 4 ขวบ ความชอบรสนิยมส่วนตัวของเด็กแต่ละคนจะปรากฏเด่นชัดมาก ในช่วงวัยนี้หนังสือภาพที่เป็นเรื่องแต่ง นิทานที่เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกจะเหมาะสมที่สุด แต่ก็ต้องเลือกหนังสือภาพที่มีคุณภาพดีที่สุด เพราะนิทานเรื่องเดียวกันอาจจะมีหนังสือภาพทำออกมาหลายเวอร์ชั่น

        อายุ 5-6 ขวบ ควรเลือกหนังสือภาพที่เป็นเรื่องราว หรือนิทาน ผู้ปกครองควรร่วมค้นหาหนังสือภาพที่เด็กถูกใจที่สุดไปด้วยกัน อ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้เบื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดอุปนิสัยรักการอ่านและสนุกกับการอ่านหนังสือ

        อายุ 6 ขวบขึ้นไป หาหนังสือภาพที่มีเรื่องราวที่ยาวขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการก้าวสู่วรรณกรรมเยาวชนในชั้นต่อไป

          เป็นเรื่องราวจากญี่ปุ่นที่นำมาแบ่งปัน เพื่อช่วยกันสร้างหนอนหนังสือตัวน้อย ๆ ผลิตเป็นประชากรการอ่านที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.239 กันยายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
หนอนหนังสือตัวน้อย สร้างได้ด้วยหนังสือภาพ อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2558 เวลา 13:29:51 6,374 อ่าน
TOP