x close

ลูกนอนกัดฟัน ทะลุถึงโพรงประสาทฟัน ทำอย่างไร ?

เด็กนอนกัดฟัน

          อาการนอนกัดฟันของลูกมีหลายสาเหตุค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้อาการนอนกัดฟันในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการนอนกัดฟันของลูก รวมทั้งปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกนอนกัดฟัน จะมีอะไรบ้างเราไปดูวิธีป้องกันและการรักษาอาการนอนกัดฟันของลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ จากนิตยสาร รักลูก กันเลยค่ะ ><

          แม้การนอนกัดฟันของลูกจะดูไม่น่ากังวลนัก แต่หากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อเนื่องเรื้อรัง อาจมีผลให้เนื้อฟันค่อย ๆ สึกกร่อน และร้ายแรงถึงขั้นติดเชื้อถึงโพรงประสาทฟันได้

สาเหตุ

          การนอนกัดฟันของลูกไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดค่ะ แต่เกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

          มีฟันขึ้น โดยเฉพาะในเด็ก 1 ขวบที่ฟันหน้าบนและล่างขึ้นแล้วมีการขบกันไปมาอยู่ตลอด ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับอาการกัดฟัน แต่จะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะหนึ่งเท่านั้น

          ความเครียดหรือกังวล สภาพจิตใจและความเครียดมีผลต่อการนอนกัดฟันของลูก เช่น ช่วงที่ลูกเริ่มเข้าโรงเรียน เพราะต้องเจอเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ จึงเกิดความเครียดและกังวลเมื่อต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่แปลกไปจากเดิม

          พันธุกรรม หากคุณพ่อคุณแม่หรือคนในครอบครัวมีประวัติการนอนกัดฟัน เจ้าตัวเล็กของเราก็มีความเสี่ยงที่จะนอนกัดฟันด้วย

          มีความสัมพันธ์ของโรค เช่น สมาธิสั้น ลมชัก ความพิการทางสมอง ซึ่งเกี่ยวกับการควบคุมกล้ามเนื้อ รวมถึงถ้าลูกมีปัญหาการนอนกรน ละเมอ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจก็สามารถส่งผลให้ลูกนอนกัดฟันได้

แค่ไหนอันตราย


          การกัดฟัน คือการที่ฟันขบถูกันอยู่ มักพบขณะนอนหลับ โดยจะกัดเป็นช่วง ๆ ขณะที่ยังหลับไม่ลึก ซึ่งจะทำให้เนื้อเคลือบฟันสึกไปเรื่อย ๆ การนอนกัดฟันของลูกมีแบบที่สังเกตไม่เห็นความผิดปกติ และแบบที่กัดรุนแรงจนมีเสียงดังทุก ๆ วัน ซึ่งจะส่งผลให้ลูกน้อยมีอาการดังนี้

เสียวฟัน

          ฟัน 1 ซี่ ประกอบด้วยชั้นเคลือบฟัน เนื้อฟัน และโพรงประสาทชั้นในสุด ถ้ากัดรุนแรงในระยะเวลาต่อเนื่อง จะทำให้ชั้นเคลือบฟันสึกกร่อน และหากถึงเนื้อฟัน ลูกจะรู้สึกเสียวฟันได้

ปวดกล้ามเนื้อใบหน้า

          การกัดฟันรุนแรงส่งผลให้ลูกปวดกล้ามเนื้อรุนแรงได้ หากปล่อยไว้จนเป็นเรื้อรัง อาจเกิดปัญหาข้อต่อขากรรไกรได้ สังเกตได้จาก ลูกมักบ่นปวด ๆ เมื่อย ๆ แก้ม เวลาที่อ้าปากหรือเคี้ยวอาหาร หรือปวดหัว ปวดขมับ

ทะลุโพรงประสาทฟัน

          ถ้าเข้าถึงโพรงประสาทฟันจนมีการติดเชื้อ มีหนองที่ปลายรากฟัน คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกมักบ่นว่าปวดฟัน และมีสีเหลือง หรือบวมเป็นหนอง หากมีการติดเชื้อที่ฟันล่าง อาจทำให้คางบวมจนอุดกั้นทางเดินหายใจ ถ้าติดเชื้อที่ฟันบนใต้ตาจะบวม และเสี่ยงที่จะติดเชื้อในกระแสเลือดได้

การรักษาและป้องกัน

          หากลูกนอนกัดฟันถึงขั้นทะลุโพรงประสาทฟัน อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของลูก ต้องรีบพามาพบคุณหมอเพื่อรักษารากฟัน โดยการเอาเนื้อเยื่อที่อักเสบบริเวณโพรงประสาทฟันออก แล้วทำความสะอาดรากฟัน ใส่ยาฆ่าเชื้อและใส่ครอบฟัน ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้จะช่วยป้องกันการติดเชื้อและการอักเสบลุกลามที่รุนแรงได้

          ดังนั้นคุณแม่ควรหมั่นสังเกต หากพบว่าลูกมีอาการนอนกัดฟันควรพามาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเบื้องต้น ซึ่งคุณหมออาจพิจารณาให้ใส่เฝือกสบฟัน ที่ทำจากอะคริลิกตอนนอน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันสึก

          อย่างไรก็ตามควรหาสาเหตุของการนอนกัดฟันให้พบ เช่น หากเกิดจากความเครียดความกังวลของลูก คุณแม่ควรพูดคุยกับลูก และสร้างความผ่อนคลาย เช่น จัดบรรยากาศห้องนอนให้สงบ แสงไม่จ้าเกินไป ก่อนนอนให้อ่านนิทาน หรือให้ลูกฟังเพลงสบาย ๆ ไม่ควรให้วิ่งเล่นสนุกสนาน หรือกินข้าวอิ่มเกินไปก่อนนอนค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 33 ฉบับที่ 391 สิงหาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกนอนกัดฟัน ทะลุถึงโพรงประสาทฟัน ทำอย่างไร ? อัปเดตล่าสุด 28 กันยายน 2558 เวลา 11:17:02 7,155 อ่าน
TOP