x close

เทคนิคง่าย ๆ จัดการน้ำมูกให้ลูกน้อย

วิธีจัดการน้ำมูกในเด็ก

          อากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยอาจทำให้ลูกน้อยมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หรือเหนียวข้น ทำให้ลูกน้อยไม่สบายตัว และงอแงได้ค่ะ แล้วจะจัดการน้ำมูกเบื้องต้นได้อย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีเคล็ดไม่ลับกับการจัดการน้ำมูกของลูกน้อยมาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้ลูกน้อยสบายตัวไปได้ระดับหนึ่งค่ะ พร้อมแล้วเราไปดูวิธีกำจัดน้ำมูกกับนิตยสาร MODERNMOM กันเลยค่ะ ^^

          เวลาลูกไม่สบาย ป่วย เป็นหวัดก็มักมีน้ำมูกมารบกวนการหายใจของลูกอยู่ไม่มากก็น้อยนะครับ รูจมูกลูกที่เล็กนิดเดียว เมื่อมีน้ำมูกอุดตัน ก็ชวนให้คุณพ่อคุณแม่กังวลใจไปกับลูกว่าเขาอาจไม่สบายตัวจากน้ำมูกทั้งใส เหนียว หรือแห้งเหล่านั้น

          วิธีช่วยลูกเมื่อเขามีน้ำมูกสามารถทำกันได้ไม่ยากครับ หากน้ำมูกมีไม่มาก และลูกสามารถสั่งน้ำมูกเองได้ก็ให้เขาสั่งเองนะครับ ส่วนลูกที่ยังเล็กและสั่งน้ำมูกไม่เป็น คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยได้ตั้งแต่ใช้ผ้านุ่มเช็ดน้ำมูกที่ไหลออกมาภายนอกให้กับเขา หรืออาจใช้ไม้พันสำลีที่นุ่ม ๆ ขนาดพอเหมาะค่อย ๆ เช็ด แต่ต้องระวังอันตรายที่อาจเช็ดลึกหรือแรงจนเกินไปครับ

วิธีจัดการน้ำมูกในเด็ก

          ส่วนน้ำมูกแห้ง หากรบกวนการหายใจและไม่อยู่ลึกจนเกินไปก็ใช้ไม้พันสำลีเขี่ยออกก็พอได้ครับ แต่ต้องทำด้วยความระมัดระวัง เช่นเดียวกันครับ หากไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดีก็อาจใช้น้ำเกลือสำหรับล้างจมูก ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาล้างทำความสะอาดก็จะช่วยได้มากครับ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยให้น้ำมูกที่เหนียวอยู่ใสขึ้น เช็ดออกหรือไหลออกมาได้สะดวก ส่วนน้ำมูกที่แห้งแข็งและอุดตันอยู่ลึก ๆ ก็จะหลุดออก ช่วยให้ลูกหายใจได้สะดวกขึ้น และยังช่วยทำให้น้ำมูกแห้งที่อุดตันทางระบายของโพรงจมูกอยู่หลุดออก ทำให้ลดโอกาสเกิดโพรงจมูกอักเสบหรือที่เราเรียกกันจนคุ้นชินว่าไซนัสอักเสบในเด็กวัยเตาะแตะได้อีกด้วยครับ

          ส่วนน้ำมูกใสที่มีปริมาณมากคุณพ่อคุณแม่อาจใช้ลูกยางลูกเล็กดูดน้ำมูกให้กับลูกก็ได้นะครับ และปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการทำความสะอาดจมูกให้กับเด็กพร้อมน้ำเกลือชนิดพิเศษซึ่งสะดวกและง่ายต่อการใช้งานมาเป็นทางเลือกให้คุณพ่อคุณแม่ได้นำไปใช้ ลองปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรดูก็ได้นะครับ

          นอกจากนี้หากน้ำมูกมีมากหรือมีอาการที่แสดงให้เห็นว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือภาวะแทรกซ้อนนอกเหนือจากการเป็นหวัดธรรมดา เช่น น้ำมูกข้นเขียวค่อนข้างมาก เป็นหวัดเกินสัปดาห์ มีอาการไอ เสมหะมากหรือเสมหะเขียวข้น หายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย อาจต้องพาไปพบคุณหมอเพื่อให้ได้รับการรักษาด้วยยาที่เหมาะสม โดยในเด็กเล็กมาก เช่น อายุน้อยกว่า 1 ปีคุณหมออาจพยายามหลีกเลี่ยงการให้ยาลดน้ำมูกเพราะอาจทำให้ทั้งน้ำมูกและเสมหะเหนียวจนเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากเสมหะเหนียว เช่น หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบตามมาได้ง่าย การดูแลด้วยวิธีข้างต้นอาจช่วยได้มากในกรณีนี้ครับ แต่อย่าลืมนะครับ หากลูกมีอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะแทรกซ้อนอย่างที่ผมกล่าวไปแล้ว อย่าพยายามดูแลรักษากันเองนะครับ พาลูกไปปรึกษากุมารแพทย์ที่ดูแลกันอยู่นะครับ เพื่อให้ลูกได้รับการรักษาที่เหมาะสมครับ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.238 สิงหาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เทคนิคง่าย ๆ จัดการน้ำมูกให้ลูกน้อย อัปเดตล่าสุด 8 กันยายน 2558 เวลา 16:27:41 21,292 อ่าน
TOP