x close

เมื่อพี่อิจฉาน้อง รับมืออย่างไรดี ?

วิธีเลี้ยงเด็ก

          เป็นธรรมชาติของเด็กเมื่อคุณแม่กำลังจะมีลูกเพิ่มอีกหนึ่งคนทำให้ลูกคนโตเกิดอาการขี้อิจฉาขึ้นได้ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเทคนิคในการสอนพี่คนโตไม่ให้อิจฉาน้องแบบค่อยเป็นค่อยไปมาแนะนำกันค่ะ แล้วจะรับมืออย่างไรเมื่อพี่คนโตต่อต้านน้อง มาทำความเข้าใจและหาทางออกกับนิตยสาร บันทึกคุณแม่ กันเลยค่ะ ^^

          การที่เราเป็นลูกเพียงคนเดียวในบ้าน... ย่อมรู้สึกว่าได้รับความรัก และการดูแลอย่างเต็มที่เพียงคนเดียว เพราะไม่ว่าจะอะไรก็มักได้รับการโอ๋ ๆ จนบางคนกลายเป็นเด็กที่เอาแต่ใจ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อคุณพ่อกับแม่แจ้งข่าวดีว่า... หนูกำลังจะมีน้องแล้วนะ!!

          แน่นอนว่า... เด็กที่ได้รับความรักเต็มอย่างที่ ย่อมเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจในบางสิ่งบางอย่าง ยิ่งหากเมื่อน้องน้อยคลอดออกมา แม้เขาจะตื่นเต้นกับการได้เห็นหน้าน้อง แต่ลึก ๆ ก็จะเกิดความน้อยใจเพราะคิดว่าแม่จะรักน้องมากกว่า พ่อจะรักน้องมากกว่า ดูสิยิ่งมองไปเห็นพ่อแม่กำลังอุ้มน้อง กำลังเล่นกับน้อง จะไม่ให้หนูน้อยใจได้อย่างไร

          ทีนี้ก็อยู่ที่พ่อแม่แล้วค่ะ ว่าจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร เพื่อให้ "อาการขี้อิจฉา" ของลูกคนโตลดลง และทำให้เขาทราบว่าความรักของพ่อแม่ที่รักลูกนั้นเป็นความรักที่เท่าเทียมกัน แถมยังเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไขอีกด้วย

มาดูวิธีขจัดความขี้อิจฉาของลูกน้อยกันดีกว่าว่าจะรับมืออย่างไร

         เตรียมบอกเขาว่า... หนูจะมีน้องแล้วนะ !!! โดยเฉพาะดึงเขาเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลน้องด้วย เช่น เวลาที่คุณแม่จะไปอัลตราซาวด์ ให้ลูกน้อยไปด้วย เพื่อให้เขาได้เห็นภาพหน้าน้องตั้งแต่ในท้อง เป็นต้น

         แสดงความรักเป็นปกติ จากที่เคยโอบกอด เคยเล่นกับเขาแบบไหน ก็ยังทำแบบนั้นกับเขาอยู่ เพื่อไม่ทำให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่มีก่อนหน้านี้พ่อแม่ยังคงให้เขาเหมือนเดิม ลูกน้อยจะได้ไม่รู้สึกว่าพ่อแม่เปลี่ยนไป หรือจะรักน้องมากกว่าเขา

         เมื่อคุณแม่คลอดลูกอีกคน ควรหาพี่เลี้ยง หรือให้ญาติสัก 1 คน มาอยู่ใกล้ชิดลูกคนโต เพื่อจะได้ดูแลพาเขาไปทำกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น พาไปเดินเล่น พาไปเที่ยว เพื่อลดความอิจฉากับภาพที่ญาติ ๆ รายล้อมน้องอยู่

         ดึงเขาให้มีส่วนร่วมในการดูแลน้อง เช่น เวลาอาบน้ำ ให้เขามาอยู่ใกล้ ๆ น้อง โดยวานให้เขาหยิบนั่นนี่ยื่นให้ ซึ่งจะช่วยให้เขารู้สึกเป็นส่วนเดียวกันกับคุณแม่ น้อง และตัวเขานั่นเอง

         เบี่ยงเบนความสนใจของเขา นั่นคืออาจจะพาเขาออกไปทำในสิ่งที่เขาสนใจ และสนุก เช่น พาลูกชายไปเล่นฟุตบอล พาลูกสาวไปเรียนว่ายน้ำ หรืออาจจะพาไปเรียนดนตรี เป็นต้น เพื่อจะได้เบี่ยงเบนความสนใจที่ว่าแม่รักน้องมากกว่าได้นั่นเอง

         อย่าเปรียบเทีย เป็นข้อห้ามกับทุกวัยนะคะ ไม่ใช่แต่ในวัยเด็ก และยิ่งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่จะมีน้อง พ่อแม่ต้องห้ามเปรียบเทียบลูกคนโตกับคนเล็กเด็ดขาด เพราะนอกจากจะทำให้ต่อมความขี้อิจฉาทำงานแล้ว ก็อาจจะทำให้เกิดการแกล้งน้องได้

         การพูดกับลูกให้เข้าใจ นั่นคือการที่พ่อแม่บอกลูกคนโตให้เข้าใจ อธิบายให้เขาเข้าใจว่า ถึงพ่อแม่จะมีน้องแต่ความรักของพ่อแม่ที่มีให้เขาก็ยังคงเดิม และไม่มีการเปลี่ยนว่ารักน้องมากกว่า แต่พ่อแม่รักลูกเท่ากัน

          ในขณะที่เด็กขี้อิจฉาบางคนอาจจะมีอาการหวงของชนิดที่เรียกว่า "ของของข้าใครอย่าแตะ" ไม่ยอมให้ของเล่นกับน้อง หรือไม่ยอมแบ่งของเล่นให้เพื่อน ความหวงของเด็กบางคนหวงชนิดที่ทุกอย่างของเขาไม่สามารถให้คนอื่นแตะได้ เช่น ของกิน ของเล่น เสื้อผ้า หวงแม่ หวงพ่อ หวงน้องหมา ใครไปถูกไปหยิบ ไปจับนิดจับหน่อยไม่ได้ เป็นต้องร้องโวยวายทุกที

          ต้องเข้าใจว่าหนูน้อยวัยนี้มีธรรมชาติที่รักอิสระ มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ชอบทำตามคำสั่ง และยึดถือตนเองเป็นใหญ่ หรือเรียกว่าเอาแต่ใจ จึงไม่แปลกที่เขาจะหวงของเล่นอย่างมาก บางบ้านเมื่อลูกเอาแต่ใจมาก ๆ อาจเผลอตีเป็นการลงโทษก็มี แต่นี่คือการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้องนะคะ เพราะกลายเป็นว่ายิ่งเราตี ยิ่งลงโทษ เด็กก็จะยิ่งต่อต้านมากขึ้น ที่สำคัญยังนำไปสู่การเป็นพี่ที่ขี้อิจฉามากขึ้นอีกด้วย

          ทางแก้ไขที่ดีพ่อแม่ควรค่อย ๆ พูด ค่อย ๆ ปรับความเข้าใจของลูกน้อย หรืออธิบายให้เขาเข้าใจ ของเล่นแบบนี้ถ้าเล่นกับเพื่อนความสนุกจะเพิ่มมากขึ้น โดยอาจจะสาธิตการเล่นกับเขาให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่หากเขายังไม่ยอมก็อย่าเพิ่งบังคับเขา เพราะเรื่องนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป จนเมื่อเห็นว่าเขาเริ่มที่จะให้ของเล่นกับคนอื่นแล้ว เราต้องรีบชมเขาทันที เช่น น้องฮานะเป็นเด็กดีจัง แถมยังน่ารักด้วย ดูสิแบ่งตุ๊กตาให้น้องเล่นด้วย เป็นต้น การชมในเวลาแบบนี้เสมือนเป็นรางวัลให้เด็กมีความรู้สึกภูมิใจ และรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นดี จนสามารถช่วยให้เขาเกิดความคิดแง่บวกกับการกระทำนั้น ๆ แล้วอาการหวงของก็จะค่อย ๆ ลดลง กระทั่งส่งต่อสู่การแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ให้คนอื่นเมื่อเขาโตขึ้นนั่นเอง

          อย่างไรเสีย... ความขี้อิจฉา หรืออาการหวงของสำหรับลูกน้อยวัยนี้จะลดลงไปได้อย่างง่ายดาย เมื่อพ่อแม่ให้ความเข้าใจ และให้ความรักต่อเขาเช่นเดิมอย่างที่เป็นมาค่ะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.22 Issue 264 กรกฎาคม 2558


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เมื่อพี่อิจฉาน้อง รับมืออย่างไรดี ? อัปเดตล่าสุด 18 สิงหาคม 2558 เวลา 11:47:14 5,943 อ่าน
TOP