x close

ลูกแค่เป็นหวัด หรือไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบในเด็ก

          ลูกเป็นหวัดบ่อย ๆ คุณพ่อคุณแม่อย่าชะล่าใจนะคะ เพราะลูกอาจจะเป็น ไซนัสอักเสบ ก็ได้ค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปทำความรู้จักกับอาการไซนัสอักเสบ ซึ่งมีอาการใกล้เคียงกับ ภูมิแพ้จมูก เมื่อลูกน้อยเป็นต้องดูแลอย่างไร ส่วนอาการแบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์ ไปดูเกร็ดความรู้จากนิตยสาร MODERNMOM กันเลยค่ะ

          "คุณหมอ... ลูกสาวมีน้ำมูกมาหลายวันแล้ว จะเป็นไซนัสหรือเปล่าคะ" "แล้วต้องพาลูกไปหาหมอหรือเปล่าคะ" ไม่แปลกใจเลยที่บ่อยครั้งหมอได้รับข้อความทักทายเช่นนี้จากเพื่อน ๆ หรือพี่ ๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน ซึ่งต่างเริ่มมีลูกน้อยวัยเตาะแตะกันแล้ว เพราะอาการทางจมูกเป็นอีกหนึ่งในความผิดปกติของเด็กที่พบบ่อยและพ่อแม่ทุกคนคงได้พบเจอ

          สัญญาณเตือน ... หากลูกมีอาการดังต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกไปพบแพทย์โดยเร็ว

         มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเพียงข้างเดียว

         มีอาการทางตาร่วมด้วย เช่น ตาบวม ตามัว

         มีอาการปวดฟันร่วมด้วย

         มีอาการซึมลง

          ทุกครั้งที่ลูกมีอาการผิดปกติทางจมูก ไม่ว่าจะเป็นน้ำมูกไหล หายใจเสียงดังครืดคราด คัดจมูก คันจมูก จามหรือไอมากผิดปกติ คงทำให้เกิดคำถามมากมายกับคุณพ่อคุณแม่ เพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นเพียงอาการของ "ไข้หวัด" ซึ่งหายเองได้ อาจเป็น "ภูมิแพ้จมูก" หรือแม้แต่เป็น "ไซนัสอักเสบ" ที่เด็กควรได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

รู้จักไซนัสอักเสบ

          ไซนัส คือ โพรงอากาศที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะบริเวณส่วนใบหน้า มีรูเปิดขนาดเล็กเชื่อมต่อกับโพรงจมูก สาเหตุการเกิดไซนัสอักเสบมีหลายประการ โดยสาเหตุหลักที่พบได้มากที่สุดคือ การติดเชื้อไวรัส นอกจากนี้การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเยื่อบุโพรงไซนัสบวมอักเสบจากภูมิแพ้ ก็ทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้เช่นเดียวกัน หรือหากมีภาวะใด ๆ ก็ตามที่ทำให้เกิดการอุดกั้นของรูเปิดไซนัส ไม่ว่าจะเป็นผนังกั้นจมูกคด สิ่งแปลกปลอมในจมูกมีก้อนเนื้องอก หรือริดสีดวงในจมูก ก็ล้วนแต่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบได้

ไข้หวัดหรือไซนัสอักเสบ

          เด็กที่มีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล ส่วนมากเป็นเพียงโรคหวัดหรือไข้หวัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่ให้การรักษาตามอาการจะดีขึ้นและหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่หากอาการดังกล่าวยังคงอยู่หรือแย่ลงกว่าเดิมหลัง 10 วันไปแล้ว มีโอกาสที่การอักเสบนั้นจะเข้าสู่โพรงไซนัส นอกจากนี้หากเด็กมีอาการไข้สูง ไอ น้ำมูกมีสีเขียว หรือปวดบริเวณใบหน้า ก็มีโอกาสที่จะเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันได้มากขึ้น ดังนั้นหากลูกมีอาการดังกล่าวควรพาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ ยาพ่นจมูก หรือน้ำเกลือล้างจมูกตามความเหมาะสมต่อไป

ภูมิแพ้จมูกกับไซนัสอักเสบ

          "ภูมิแพ้จมูก" อาจมีอาการใกล้เคียงกับ "ไซนัสอักเสบเรื้อรัง" และ "ภูมิแพ้จมูก" ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิด "ไซนัสอักเสบ" ในความเป็นจริงแล้ว นอกจากจะมีไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ยังมีไซนัสอักเสบเรื้อรังอีกด้วย ซึ่ง "ภูมิแพ้จมูก" อาจมีอาการใกล้เคียงกับ "ไซนัสอักเสบเรื้อรัง" นั่นคือ หากเด็กมีน้ำมูกไหลไม่หายขาดเป็นนานต่อเนื่องเกิน 3 เดือน ก็มีโอกาสที่จะเป็นภูมิแพ้หรือไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือเด็กบางรายก็อาจเป็นทั้งสองอย่างร่วมกันได้ ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยแยกโรคเพิ่มเติมโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากการรักษาภูมิแพ้และไซนัสอักเสบเรื้อรังมีความแตกต่างกัน

อันตรายของไซนัสอักเสบ

          มีโอกาสที่จะเกิดอันตรายขึ้นได้ ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ หากเกิดการอักเสบเฉียบพลันจากเชื้อแบคทีเรียรุนแรง มีโอกาสที่การติดเชื้อจะลามสู่อวัยวะใกล้เคียง นั่นคือ ตา และสมองได้ แต่หากสาเหตุของการเกิดไซนัสอักเสบเกิดจากเนื้องอก ฟันผุ มีสิ่งแปลกปลอมในจมูก หรือมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในเด็ก และไม่ได้รับการวินิจฉัยเพื่อค้นหาสาเหตุดังกล่าว ก็มีโอกาสที่โรคที่เป็นอยู่จะมีอาการแย่ลงไปเรื่อย ๆ ได้

ไซนัสอักเสบป้องกันได้

          สาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดไซนัสอักเสบมีหลายประการ และอาจเกิดจากหลาย ๆ สาเหตุร่วมกัน สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่พอจะร่วมลดการกระตุ้นได้ คือ

         การสัมผัสหรือรับกลิ่นควันบุหรี่ของเด็ก

         การสำลักนมหรืออาหารบ่อยครั้ง ซึ่งอาจเกิดร่วมกับภาวะกรดไหลย้อน

         การอยู่รวมกันในสถานเลี้ยงเด็ก ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้บ่อยขึ้น

          ถึงแม้ว่ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ อาการคัดจมูกน้ำมูกไหลในเด็กจะเป็นเพียงโรคหวัดหรือไข้หวัด แต่หากคุณพ่อคุณแม่พบอาการที่น่าสงสัยดังที่กล่าวมา รวมถึงระยะเวลาเป็นหวัดที่นานผิดปกติ หรือมีอาการกลับมาเป็นซ้ำ ๆ ควรตัดสินใจพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยไม่ต้องลังเล เนื่องจากการพยายามรักษาด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะเองอาจทำให้ดื้อยา ขณะเดียวกันหากลูกมารับการรักษาที่ล่าช้าก็จะรักษาได้ยากขึ้น และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้เช่นกัน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

Vol.20 No.236 มิถุนายน 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลูกแค่เป็นหวัด หรือไซนัสอักเสบ อัปเดตล่าสุด 20 กรกฎาคม 2558 เวลา 15:02:32 7,819 อ่าน
TOP