x close

โรคมือ เท้า ปาก ออกนอกบ้าน อย่าวางใจ

โรคมือ เท้า ปาก

          เมื่อลูกน้อยออกนอกบ้านคุณพ่อคุณแม่อย่าไว้วางใจเรื่องสุขอนามัยและโรคมือ เท้า ปาก ที่จะติดมากับลูกน้อยได้ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดน่ารู้ อากราของ โรคมือ เท้า ปาก และหลีกเลี่ยงไปสถานที่แออัดที่อาจทำให้ลูกเป็น โรคมือ เท้า ปาก งั้นเราไปดูวิธีป้องกันจากนิตยสาร M&C แม่และเด็ก กันเลยดีกว่าค่ะ ^^

          โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน โดยมีการระบาดช่วงฤดูฝน แต่ก็สามารถพบได้ทุกฤดู มักติดต่อด้วยการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อไวรัสที่ออกมาทางน้ำลาย น้ำมูก หรืออุจจาระของผู้ป่วย นอกจากนี้การไอ จาม รดกันสามารถแพร่กระจายเชื้อได้เช่นกัน

อาการต้องสงสัย

          อาการของโรคมือ เท้า ปาก ในระยะเริ่มแรก คือ จะมี ไข้ต่ำ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ปวดท้อง เจ็บภายในช่องปาก ต่อมาจะเริ่มมีแผลในปาก และผิวหนังตามลำดับ ส่วนมากจะพบบริเวณมือ และเท้า บางครั้งอาจพบบริเวณก้นเด็กได้ ลักษณะเฉพาะของแผลในช่องปาก คือบริเวณฐานของแผลเป็นสีเหลืองและล้อมรอบด้วยวงสีแดง ส่วนมากเกิดที่บริเวณริมฝีปาก หรือเยื่อบุช่องปาก แต่บางครั้งแผลอาจเกิดขึ้นบริเวณลิ้น เพดานปาก ลิ้นไก่ ทอนซิล หรือเหงือกได้ โรคนี้มักไม่พบผื่นบริเวณรอบริมฝีปาก แผลในช่องปากจะมีอาการเจ็บมาก ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จะมีอาการป่วยได้บ่อยที่สุด

          สำหรับผื่นผิวหนังส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณหลังมือ และหลังเท้า แต่บางรายอาจพบผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าได้เช่นกัน ผื่นอาจจะคันหรือไม่ก็ได้ โดยจะเริ่มจากผื่นแดงนูน และเปลี่ยนเป็นผื่นตุ่มน้ำที่มีสีแดงอยู่บริเวณฐานอย่างรวดเร็ว ในเด็กทารกผื่นลักษณะนี้อาจเกิดบริเวณลำตัว ต้นขา และก้น ได้เช่นกัน ผื่นแดงนี้ส่วนมากจะหายได้เองภายในเวลาหนึ่งสัปดาห์

การดูแลเบื้องต้น

          ดูแลรักษาตามอาการ เช่น การเช็ดตัวลดไข้ การให้ยาลดไข้การให้ยาตามอาการ เช่น ยาชาป้ายแผลในปาก ควบคู่ไปกับประเมินภาวะร่างกายขาดน้ำจากอัตราการเต้นชีพจร ความยืดหยุ่นของผิวหนัง ความแห้งของตา ปริมาณน้ำตาขณะที่เด็กร้องไห้ ความแห้งของเยื่อบุช่องปาก ประเมินจากปริมาณและความถี่ของปัสสาวะ รวมทั้งสังเกตอาการแทรกซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังซึ่งพบได้บ่อยที่สุดการเกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากดื่มน้อยลงจากการเจ็บแผลในช่องปาก และมีส่วนน้อยที่อาจเกิดอาการแทรกซ้อนของระบบประสาท และระบบไหลเวียนโลหิต

ป้องกันไว้ก่อน

          ไม่ควรพาลูกไปสถานที่แออัด เช่น สนามเด็กเล่น สระว่ายน้ำตลาด และห้างสรรพสินค้า ควรให้เค้าอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก ควรใช้ผ้าปิดจมูกปากขณะไอจาม และระมัดระวังการไอจามรดกัน ผู้ดูแลเด็กต้องหมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังจากสัมผัสน้ำมูกน้ำลาย หรืออุจจาระของเด็กที่ป่วย

          ควรทำความสะอาดของเล่นและเครื่องใช้ของเด็กด้วยการซักล้าง แล้วผึ่งแดดให้แห้ง ไม่ควรใช้เครื่องปรับอากาศ แต่แนะนำให้ระบายอากาศโดยการเปิดประตู หน้าต่าง ผ้าม่าน ให้แสงแดดส่องได้ทั่วถึงที่สำคัญ ถ้าพบอาการดังที่กล่าวมาขั้นต้นควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 38 ฉบับที่ 517 มีนาคม 2558

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคมือ เท้า ปาก ออกนอกบ้าน อย่าวางใจ อัปเดตล่าสุด 3 เมษายน 2558 เวลา 10:24:40 4,735 อ่าน
TOP