x close

ยาแก้ไข้เบบี๋ ควรใช้อย่างถูกวิธี

วิธีใช้ยาลดไข้เด็ก

          เมื่อลูกน้อยมีไข้ การใช้ยาลดไข้ในเด็กเป็นสิ่งสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเกร็ดความรู้ การใช้ยาลดไข้ในเด็กอย่างไรให้ถูกวิธี มาฝากกัน แล้วเมื่อไหร่ถึงต้องพึ่งยาลดไข้ เรามีคำตอบจากนิตยสาร Mother&Care เรื่องยาลดไข้มาฝากคุณพ่อคุณแม่กันค่ะ ^^


          อาการตัวร้อน เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย แล้วเมื่อลูกน้อยตัวร้อน สิ่งแรกที่พ่อแม่ต้องทำคือ การลดไข้ โดยปกติถ้าไข้ไม่สูงมากนักแนะนำให้ใช้วิธีเช็ดตัวและดื่มน้ำให้มากเพื่อลดไข้ แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาก็ต้องทำด้วยความระมัดระวัง

เมื่อไหร่ถึงต้องพึ่งยาลดไข้

          ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องรู้จักการวัดอุณหภูมิก่อนว่า ลูกน้อยมีอุณหภูมิเท่าไหร่ไม่ควรใช้แค่วิธีจับหน้าผากเท่านั้น

         วัดทางปาก มีอุณหภูมิมากกว่า 37.5°C

         วัดทางรักแร้มีอุณหภูมิมากกว่า 37°C

         ถ้าวัดไข้ด้วยปรอทวัดไข้แล้ว มีอุณหภูมิสูงกว่าตัวเลขที่กล่าว จะถือว่าร่างกายมีไข้ ถ้าใช้วิธีเช็ดตัวแล้วไข้ไม่ลดลง ค่อยพิจารณาการกินยาลดไข้ (ไข้สูงคือ มีไข้ตั้งแต่ 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป)

         วัดทางทวารหนักมีอุณหภูมิมากกว่า 38°C

ยาลดไข้ใช้อย่างไร

          ยาลดไข้ที่นิยมใช้คือ พาราเซตามอล ยาจำพวกแอสไพริน และไอบรูโพเฟน (ยาลดไข้สูง) ห้ามใช้เองนอกจากคุณหมอสั่งเท่านั้น เพราะยาทุกชนิดมีผลต่อตับ โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ๆ และขนาดของยาที่ให้ลูกน้อยกิน ต้องขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัว สำหรับเด็กวัยเบบี๋ มักจะใช้ยาน้ำชนิดหยด ขนาด 5 ซี.ซี.ต่อน้ำหนักตัว 10 กิโลกรัม

ตัวร้อนแบบไหน ต้องรีบหาหมอ

         ในเด็กเล็กต้องระมัดระวังการใช้ยาให้มาก ถ้าลูกน้อยของคุณแม่อายุยังไม่ถึง 3 เดือน และลูกมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ให้รีบไปหาคุณหมอทันทีแม้ว่าลูกจะไม่ซึมก็ตาม และไม่ควรให้กินยาเอง

         ลูกอายุ 3-6 เดือน ถ้ามีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส หรือมีไข้สูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียสนานเกิน 24 ชั่วโมง ก็ห้ามรอช้าค่ะ

         ลูกอายุ 6 เดือนขึ้นไป มีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียสและไข้ไม่ลดมากกว่า 3 วัน

         แต่ถ้าไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ มีไข้สูงกว่า 39.5 องศาเซลเซียส ห้ามรอช้าเลยค่ะ ถึงแม้ลูกจะดูไม่มีอาการป่วยอย่างอื่นร่วมด้วยก็ตาม

          ในขณะที่ลูกมีไข้ ถ้าลูกยังเล่นได้ก็ไม่ต้องถึงกับห้ามไม่ให้เล่น แต่คอยปรามไม่ให้เล่นเยอะ คอยสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ มีน้ำมูก มีผื่นตามตัวหรือไม่ และคอยวัดอุณหภูมิบ่อย ๆ นั่นเองค่ะ

          อายุ 6 เดือนขึ้นไป หากลูกน้อยของท่านมีอุณหภูมิประมาณ 38.5 องศาเซลเซียสให้ดูอาการ หากอุณหภูมิสูงขึ้นหรือไม่ลดมากกว่า 3 วัน ให้พาไปพบคุณหมอ สำหรับเด็กที่มีอายุ 3 เดือนถึง 2 ปี หากอุณหภูมิสูงกว่า 39.5 องศาเซลเซียส ให้พาไปพบคุณหมอทันทีแม้ว่าลูกน้อยยังไม่มีอาการป่วย





ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ยาแก้ไข้เบบี๋ ควรใช้อย่างถูกวิธี อัปเดตล่าสุด 27 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 16:22:12 6,277 อ่าน
TOP