x close

รู้จัก...ทารกแรกคลอด

 
แม่และเด็ก

รู้จัก...ทารกแรกคลอด (M&C แม่และเด็ก)
เรื่อง : นาลันทา

           ฉบับที่แล้วเราได้แนะนำให้คุณแม่เรียนรู้ภาษาของทารกไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด เพื่อที่จะได้รู้ว่า เวลาที่ลูกร้องนั้น เค้ากำลังต้องการสื่ออะไรกับคุณ คราวนี้เราจะชวนคุณแม่ไปทำความรู้จักร่างกายน้อย ๆ ของทารกแรกคลอดกันค่ะ

3 วันแรกในชีวิตลูก

           จากสถิติพบว่า เด็กไทยที่คลอดครบกำหนดจะมีน้ำหนักแรกเกิด ประมาณ 2,500-3,000 กรัม แต่สิ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ตกใจได้ก็คือ พอหลังคลอด ลูกกลับมีน้ำหนักตัวลดลง!!!

           เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติค่ะ ช่วง 2-3 วันแรกของชีวิต น้ำหนักของทารกจะลดลงได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวแรกเกิด ทั้งนี้เนื่องจากทารกกำลังปรับตัวกับการรับสารอาหารในรูปแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากตอนอยู่ในครรภ์อย่างสิ้นเชิง แถมยังมีการเสียน้ำออกจากร่างกายมากทั้งทางเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ รวมทั้งต้องใช้พลังงานอย่างมากในการหายใจ แต่หลังจาก 3 วันไปแล้ว น้ำหนักจะค่อย ๆ เพิ่ม และจะเพิ่มจนเท่าน้ำหนักแรกเกิดเมื่ออายุประมาณ 7-10 วัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันเลยทีเดียว

นอนเก่งแล้วจะหม่ำนมพอไหม

           ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะนอนเกือบทั้งวันค่ะ เฉลี่ยแล้ววันละ 15-20 ชั่วโมงเลยทีเดียว จะตื่นก็ต่อเมื่อหิว ฉี่หรืออึ จนไม่สบายตัว ถ้ากลัวว่าลูกจะนอนนานจนตื่นมากินนมไม่พอ ลองขยับเนื้อขยับตัว หรือเขี่ยริมฝีปากของเค้าสักนิด เค้าก็จะเริ่มดูดนมได้โดยอัตโนมัติ แต่ถ้ากลัวว่าเค้าดูดตอนหลับแล้วจะสำลัก ก็คงต้องรอให้เค้าตื่นก่อน ระหว่างให้นมควรพูดคุยเล่นกับเค้า จะช่วยให้ตื่นอยู่ได้นานขึ้นซักพักหนึ่ง เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะมีช่วงเวลาตื่นที่นานขึ้นเองค่ะ

          และทารกมักถ่ายทุกครั้งหลังกินนม เจ้าตัวเล็กของคุณจึงอาจอึถึงวันละ 6-7 ครั้ง ทารกที่กินนมแม่ อุจจาระจะค่อนข้างนิ่ม ส่วนทารกที่กินนมผงอุจจาระจะแข็งกว่าเล็กน้อย

กระหม่อมลูกนุ้มนุ่ม

           บริเวณตรงกลางศีรษะทารกแรกเกิดจะมีลักษณะนุ่ม ดังนั้น เวลาที่เขาขยับตัวหรือร้องไห้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่ากระหม่อมของเขากำลังเคลื่อนไหวขึ้น ๆ ลง ๆ ทำให้คุณแม่มือใหม่ตกใจได้มาก ทั้งที่เป็นเรื่องปกติค่ะ ถ้าเวลาปกติส่วนของกระหม่อมลูกแบนราบไม่ปูดโปนหรือยุบลงก็ไม่ต้องกังวล

           นอกจากนี้ ที่ศีรษะลูกอาจมีคราบไขแข็งติดอยู่ได้ ควรใช้สำลีชุบเบบี้ออยล์ หรือวาสลีนเช็ดทำความสะอาดบ่อย ๆ ภายใน 2 สัปดาห์เจ้าไขที่ว่านี้จะหายไปค่ะ

ดูแลสะดืออย่างไร ?

           สีของสะดือทารก อาจต่างกันไป บางคนเป็นสีดำ ขณะที่บางคนมีสีซีดจนเกือบขาว ความแตกต่างคือ สะดือที่มีสีดำแสดงว่ามีเลือดคั่งอยู่ข้างในมาก ส่วนสะดือสีซีด เหลือง หรือขาว เป็นสะดือที่มีเลือดคั่งอยู่น้อยหรือแทบไม่มีเลย ซึ่งไม่ว่าจะสีไหนก็ไม่ได้ทำให้ลูกเจ็บปวดหรอกค่ะ

           ระหว่างที่สะดือลูกยังไม่หลุด คุณแม่ควรดูแลสะดือของลูกให้แห้งอยู่เสมอ อย่าให้เปียกชื้น และยังไม่ควรจัดให้ลูกนอนหลับในท่านอนคว่ำ เพราะเขาอาจปัสสาวะออกมาเปียก หรือตัวเขาอาจกดทับสะดือจนเป็นแผลได้

           บางครั้งที่สะดือของลูกอาจมีเลือดซึมออกมาบ้างก็ไม่ต้องวิตก หมั่นใช้แอลกอฮอล์เช็ดก็เพียงพอแล้ว แต่หากมีน้ำเหลืองออกมาด้วย ปรึกษาแพทย์ดีกว่าค่ะ




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ปีที่ 35 ฉบับที่ 483 พฤษภาคม 2555

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก...ทารกแรกคลอด อัปเดตล่าสุด 6 มิถุนายน 2555 เวลา 11:11:57 8,053 อ่าน
TOP